ไม่ใช่ญี่ปุ่น ผู้ชนะที่แท้จริงเมื่อ Line ขาย IPO คือเกาหลีใต้?

แฟ้มภาพ Jun Masuda ประธานฝ่ายกลยุทธ์การตลาด Line Corp. บนเวทีงานประชุม Line Conference Tokyo 2016

ไลน์ (Line) เจ้าพ่อแอปพลิเคชันแชตยอดฮิตที่ชาวไทยนิยมกันกำลังจะขายหุ้นในตลาดโตเกียว และนิวยอร์กครั้งแรกอย่างเป็นทางการวันที่ 14 และ 15 กรกฎาคมนี้ (ตามลำดับ) ท่ามกลางนักลงทุนที่หวังทำเงินบนกระแสฮิตแชตของชาวโลก นักสังเกตการณ์กลับมองว่า การขาย IPO ของ Line จะไม่ได้เป็นผลดีต่ออีโคซิสเต็มส์ญี่ปุ่นโดยตรง แต่เงินทองจะหลั่งไหลไปสู่ผู้ชนะที่แท้จริงอย่างเกาหลีใต้ต่างหาก

การขาย IPO ครั้งนี้มีประเด็นน่าสนใจมาก เพราะที่ผ่านมา Line ยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาดสหรัฐอเมริกา แม้จะฮิตมากในญี่ปุ่น ด้วยฐานะช่องทางการสื่อสารสำคัญหลังวิกฤตแผ่นดินไหว และสึนามิในช่วงปี 2011 ซึ่งเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับความเสียหาย โดยในญี่ปุ่นมีสถิติยืนยันแล้วว่า ชาวญี่ปุ่นใช้งาน Line มากกว่า Facebook หรือ Twitter เสียอีก

หลังจากทำตลาดจริงจังในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา Line มีฐานผู้ใช้ 218 ล้านคน (active user) ไม่เพียงแชตสนทนา และส่งภาพการ์ตูนบอกความรู้สึกถึงกัน ผู้ใช้ Line ยังค้นหางาน ฟังเพลง อ่านข่าว โทรศัพท์ด้วยเสียง รวมถึงอีกหลายกิจกรรม ซึ่งล้วนทำให้ผู้ใช้ในไทย ไต้หวัน และอินโดนีเซียเพิ่มจำนวนต่อเนื่อง

แต่ในตลาดตะวันตก ถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า Line จะดำเนินธุรกิจอย่างไร พื้นที่นี้ถือเป็นไข่แดงของบริการอย่างแมสเสนเจอร์ (Facebook Messenger) และว็อตสแอป (WhatsApp) ที่มีฐานผู้ใช้เข้มข้นมาก นอกจากนี้ ยังมีแอปเปิล (Apple) และกูเกิล (Google) ที่เพิ่มความสามารถด้านการส่งข้อความให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายฟันธงว่า นักลงทุนทั่วโลกกำลังเตรียมช้อนซื้อหุ้น Line อย่างพร้อมเพรียง โดยช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 ก.ค.) มูลค่าราคาเสนอขายหุ้นครั้งแรก หรือ IPO ของ Line นั้น เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่ารวม 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ Line เป็นบริษัทเจ้าของราคา IPO ที่มูลค่าสูงที่สุดในสหรัฐฯ ของปีนี้ ด้วยราคา 3,300 เยนต่อหุ้น หรือประมาณ 32.84 เหรียญสหรัฐ

ความต้องการซื้อหุ้น Line สุดร้อนแรงทำให้ Line เป็นบริษัทที่มีมูลค่าตลาดรวมเกือบ 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยปริยาย

เงินเข้าเกาหลี?

แม้ Line จะมีสำนักงานใหญ่ในโตเกียว แต่ก็อยู่ภายใต้บริษัทแม่ชื่อ เนเวอร์ (Naver Corp.) ซึ่งเป็นต้นสังกัดเสิร์ชเอนจิ้นอันดับ 1 ของชาวเกาหลีใต้ การเปิดตลาดหุ้นของ Line ในโตเกียว และนิวยอร์ก จึงกลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตเกาหลี

ที่ผ่านมา วงการออนไลน์เกาหลีถูกมองว่า ประสบความสำเร็จไม่มากนักในตลาดนอกบ้าน ซึ่งมีเพียงเกมออนไลน์เท่านั้นที่เกาหลีสามารถเติบโตในตลาดเอเชีย

แม้แต่ในบ้าน Line ก็ยังเป็นรอง กาเกาทอล์ก (Kakao Talk) บริการแชตคู่แข่ง ซึ่งมีเกาหลีเป็นตลาดหลัก โดย Line ไม่สามารถทำลายฐานอำนาจของ Kakao ได้ แม้ว่าชาวจีน และชาวเอเชียบางประเทศจะเข้าต่อแถวที่ร้าน Line Friend Stores ในกรุงโซล เพื่อซื้อตุ๊กตาหมี Brown ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์ Line

ถึงวันนี้ Naver ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Line หลังการขาย IPO ผู้ร่วมก่อตั้งอย่างลีเฮจิน (Lee Hae Jin) วัย 48 ปี จะเป็นหนึ่งในเศรษฐีที่มั่งคั่งที่สุดของเกาหลีใต้

เรื่องนี้ Lee เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2014 ว่าเขามีความกังวลมากว่า Naver จะสามารถเอาชนะบริษัทอเมริกัน หรือจีนได้หรือไม่ ซึ่งอย่างน้อย การเปิดขาย IPO ในสัปดาห์นี้ก็เป็นโอกาสที่ดีในการทำให้ Line มีช่องทางต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรีมากขึ้น เนื่องจากมีต้นทุนในการพัฒนาที่ไม่น้อยหน้าใคร

ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000070106