หรือนี่คือลมหายใจสุดท้ายแห่งโลกาภิวัตน์?

โดย……มร.พอล โดโนแวน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจากยูบีเอส

เกริ่นนำ

ในบทความนี้ พอล โดโนแวน ได้ให้ความเห็นที่น่าสนใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการค้าทั่วโลก พร้อมกับเตือนให้ผู้ที่เคยได้รับประโยชน์จากการค้าในยุคโลกาภิวัฒน์เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

เศรษฐกิจโลกวันนี้สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวมากกว่าที่เคย การค้าสากลส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของแต่ละประเทศในสัดส่วนสูงสุดเท่าที่เคยมีสถิติบันทึกไว้ ธุรกรรมมากมายหลั่งไหลไปมาข้ามพรมแดนในอัตราที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม การค้าโลกกำลังเปลี่ยนวิถี และหนทางนี้อาจไม่ดีกับเศรษฐกิจบางภาคส่วน

การค้าสากลในส่วนของผลิตภัณฑ์ที่เป็นรูปธรรมไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่เคย – การค้าสากลในด้านของสินค้าและผลิตภัณฑ์ยังคงส่งผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลกในสัดส่วนคงเดิม อย่างไรก็ดี ในขณะที่เรากำลังเข้าสู่ภาวะโลกเสมือนมากขึ้น เราคงมิอาจดูการค้าเฉพาะในแง่ของผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้เท่านั้น เมื่อสิบปีที่แล้ว การซื้อเพลงฟังจะหมายถึงการซื้อแผ่นซีดี ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ถูกบันทึกลงในผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ แต่วันนี้ หลานผมคิดว่าแผ่นซีดีคือที่รองแก้วที่ดูวิบวับดี ไม่มีเด็กที่อายุต่ำกว่าสิบหกคนไหนเข้าใจได้อย่างแท้จริงว่าการซื้อเพลงแบบที่เป็นผลิตภัณฑ์จับต้องได้นั้นเป็นอย่างไร  เพราะเพลงมันดาวน์โหลดได้เลย (จะถูกกฏหมายหรือไม่นั้นมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) การดาวน์โหลดเพลงจากเว็บไซต์ต่างแดนนั้นถือว่าเป็นการค้าข้ามแดน แต่ไม่ใช่เป็นการซื้อขายผลิตภัณฑ์ในเชิงกายภาพ การซื้อเพลงได้พลิกโฉมจากการค้าขายสินค้ามาเป็นการค้าขายบริการ

ทุกวันนี้ การค้าสากลของเราเกิดขึ้นบนพื้นที่เสมือนจริงและเป็นการค้าขายในด้านบริการมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ บริการด้านเพลง ภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่หนังสือและนิตยสารต่างๆ ก็ถูกซื้อขายเสมือนเป็นบริการ ไม่ใช่เป็นผลิตภัณฑ์จับต้องได้ การค้าสากลที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในประวัติการณ์ดังกล่าวข้างต้นนั้น เป็นการดูโดยรวมทั้งสินค้าและบริการเข้าด้วยกัน ดังนั้น มันอาจไม่ใช่ข่าวดีสำหรับบริษัทขนส่งสินค้าหรือการท่าต่างๆที่ต้องอาศัยการขนถ่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ในเชิงกายภาพ

การเปลี่ยนรูปแบบจากซีดีมาเป็นการดาวน์โหลดนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เทคโนโลยีอย่างวิทยาการหุ่นยนต์และการพิมพ์ขึ้นรูปแบบสามมิตินั้นจะพลิกโฉมหน้าของห่วงโซ่อุปทานให้ต่างไปจากเดิม ความเติบโตของโลกาภิวัตน์ในช่วงยี่สิบปีหลังมานี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการปรับตัวเพื่อรักษาระดับต้นทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการย้ายส่วนที่เป็นกระบวนการผลิตไปยังภาคเศรษฐกิจที่มีอัตราค่าแรงงานต่ำ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเชื่อมต่อห่วงโซ่อุปทานที่มากขึ้นในระดับสากล นั่นคือ มีการจัดหาส่วนประกอบต่างๆ ในประเทศหนึ่ง แล้วนำไปขึ้นรูปในประเทศที่สอง จากนั้นไปประกอบรวมแล้วเสร็จในประเทศที่สาม แล้วนำไปขายในประเทศที่สี่

ประโยชน์ที่ได้จากอัตราค่าแรงงานต่ำนั้นมากเกินกว่าต้นทุนในการขนส่งและระยะเวลาที่เพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบัน วิทยาการหุ่นยนต์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอื่นๆ เริ่มท้าทายประโยชน์ที่ได้จากค่าแรงถูก ในพ.ศ. 2559 นี้ เราสามารถพิมพ์ขึ้นรูปรองเท้ากีฬาได้โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ การค้าข้ามแดนอย่างเดียวที่เราต้องการคือการนำเข้าผงพลาสติก เราสามารถตัดห่วงอื่นๆในห่วงโซ่อุปทานสากลออกได้เลย การผลิตสามารถทำได้ใกล้กับผู้บริโภค ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง หุ่นยนต์สามารถทดแทนแรงงานราคาถูกที่แต่ก่อนต้องไปจัดจ้างจากภายนอก ความสามารถในการผลิตได้เฉพาะเมื่อมีอุปสงค์ช่วยลดการเกิดขยะหรือเศษซากที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ สิ่งเหล่านี้จะตัดความยาวของห่วงโซ่อุปทานในการค้าของโลกปัจจุบันให้สั้นลง และพาโลกให้หวนคืนสู่รูปแบบการทำการค้าอย่างที่เคยรุ่งเรืองมาในครั้งอดีตในสมัยล่าอาณานิคม นั่นคือ นำเข้าเฉพาะวัตถุดิบ และทำทุกอย่างที่เหลือในประเทศเท่านั้น

สำหรับผู้ที่เคยได้รับประโยชน์จากรูปแบบของโลกาภิวัตน์ในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมา ถึงเวลาแล้วที่ต้องพิจารณาว่าอนาคตที่เปลี่ยนไปนี้จะส่งผลอย่างไรบ้าง การค้าเสมือนและการค้าแบบอาณานิคมจะสร้างความท้าทายให้กับบรรดาบริษัทขนส่งและประเทศต่างๆที่เคยได้รับประโยชน์จากปริมาณการค้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆในอดีต ภูมิภาคต่างๆที่เคยเป็นผู้รับผลพลอยได้หลักๆจากรูปแบบการทำการค้าแบบเดิมอาจต้องคิดทบทวนดีๆ ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ยุคทองของการค้าสากลอาจถึงคราต้องสูดลมหายใจเฮือกสุดท้ายก่อนสลายไปตลอดกาล

ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ubs.com/pauldonovan สามารถอ่านบทความของพอลเพิ่มเติมได้ในชุดสารคดี UBS หมวดผู้รับรางวัลโนเบลในสาขาเศรษฐศาสตร์ที่www.ubs.com/nobel

เกี่ยวกับ พอล โดโนแวน

พอล โดโนแวน ดำรงตำแหน่งนักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำยูบีเอส ซึ่งรับหน้าที่หลักด้านการจัดการและการนำเสนอข้อมูลทางด้านการลงทุนยูบีเอสในเชิงเศรษฐกิจโลก ซึ่งอ้างอิงมาจากฐานข้อมูลยูบีเอสทั่วโลก พอล ยังเป็นหนึ่งในนักเขียนในรายงานประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจโลกร่วมกับทีมนักเศรษฐศาสตร์โลกอีกหลายคน และเขียนบทความเชิงเจาะลึกด้างข้อมูลเศรษฐกิจโลกที่ให้ความสำคัญกับนักลงทุนโดยเฉพาะ นอกจากนั้นพอลยังให้สัมภาษณ์รายการโทรทัศน์ต่างๆ เพื่อให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจแก่ CNN, Bloomberg, และ CNBC เป็นประจำอีกด้วย

เกี่ยวกับ ยูบีเอส

ยูบีเอสซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 150 ปี ให้บริการด้านการเงินแก่ลูกค้าประเภทบุคคล สถาบัน และองค์กรทั่วโลกรวมถึงลูกค้ารายย่อยในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยให้บริการบริหารความมั่งคั่ง การบริหารจัดการสินทรัพย์ระดับโลก รวมไปถึงงานบริการด้านวาณิชธนกิจ ยูบีเอสมีสำนักงานใน 50 ประเทศทั่วโลก มีพนักงานที่ทำงานด้านการเงินมากกว่า 60,000 คน โดยกว่าร้อยละ 70 ของพนักงานอยู่ในอเมริกา สวิสเซอร์แลนด์ ยุโรป ตะวันออกกลางและแอฟริกา และที่เหลืออยู่ในเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ ยูบีเอสเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สวิสเซอร์แลนด์ (SWX) และนิวยอร์ก (NYSE)