เป็นไปตามที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานไว้ ว่าบริการแอปพลิเคชันรับจ้างรถแท็กซี่พันธุ์ใหม่สัญชาติจีน “ตีตี ชูซิง” (Didi Chuxing) จะซื้อกิจการของคู่แข่งอย่าง “อูเบอร์” (Uber) ในประเทศจีน เพื่อปิดฉากสงครามราคาหลังจากทั้งคู่ไล่บี้กันมานานจนเจ็บตัวทั้ง 2 ฝ่าย คาดทั้ง 2 แบรนด์จะคงชื่อแบรนด์ แอปพลิเคชัน และหน่วยธุรกิจดั้งเดิมไว้ในฉากหน้า แต่ระบบหลังบ้านจะถูกรวมเป็นเนื้อเดียวเพื่อร่วมกันให้บริการชาวจีนอย่างแข็งขัน
Didi ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ในจีน แถลงยืนยันการซื้อกิจการ Uber China ว่าบริษัทจะรวมความเชี่ยวชาญและเทคนิกโดดเด่นของทั้ง 2 ทีมงานเพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด โดยเปิดเผยว่าหลังการควบรวม Uber จะได้รับจัดสรรหุ้นรวม 17.7% ใน Didi Chuxing ขณะที่นักลงทุนดั้งเดิมใน Uber China ซึ่งมีเจ้าพ่อเสิร์ชเอนจิ้นจีนอย่างไป่ตู้ (Baidu) รวมอยู่ด้วย จะได้รับหุ้น 2.3% ในบริษัทใหม่
ด้านซีอีโอ Uber “ทราวิส คาลานิก” (Travis Kalanick) ให้ความเห็นตรงไปตรงมาว่าการซื้อขายกิจการครั้งนี้เป็นไปเพื่อจบศึกที่ทำให้ทั้ง Didi และ Uber ต่างเจ็บตัว โดยระบุว่าทั้งสองบริษัทต่างลงทุนในตลาดจีนเป็นเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ แต่กลับไม่สามารถกำไรกลับมา ดังนั้นการทำให้ธุรกิจกลับมามีกำไรได้ จึงเป็นทางเดียวที่จะทำให้ธุรกิจแอปพลิเคชันรับจ้างรถแท็กซี่เกิดและเติบโตขึ้นได้ในจีนอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ และเมืองจีนในระยะยาว
น่าเสียดายที่รายละเอียดเม็ดเงินในดีลนี้ไม่ถูกเปิดเผยอย่างชัดเจน แม้จะมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าดีลอาจสูงแตะระดับหลายหมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดย Bloomberg ระบุว่าส่วนหนึ่ง Didi จะใช้วิธีลงทุนใน Uber ระดับโลกราว 1 พันล้านเหรียญด้วย
ในสายตานักวิเคราะห์ Didi นั้นเป็นบริการแอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ที่มีภาษีดีกว่า Uber ในจีนหลายเท่าตัว ในขณะที่ Uber ไม่เปิดเผยสถิติ Didi กลับประกาศว่ามีผู้ขับรถในระบบมากกว่า 15 ล้านคน ท่ามกลางผู้ใช้บริการมากกว่า 300 ล้านคนในจีน สถิติงานจ้างแท็กซี่คือ 40 ล้านเที่ยวต่อสัปดาห์ เฉลี่ยแล้วตก 150 ล้านเที่ยวต่อเดือน
เบื้องต้น Uber China ถูกประเมินว่ามีมูลค่าบริษัทราว 7 พันล้านเหรียญ ขณะที่ Didi มีมูลค่าราว 2.8 หมื่นล้านเหรียญ
การประกาศซื้อขายกิจการ Uber จีนนั้นก่อเกิดเป็นคำถามมากมายหลายแง่มุม โดยเฉพาะมุมมองอนาคตของ Uber เนื่องจากดีลที่เกิดขึ้นถูกมองว่าอาจมีผลต่อการแข่งขันของแอปพลิเคชันเรียกแท็กซี่ในตลาดอื่นที่นอกจากจีนด้วย
ยกตัวอย่างเช่นหากเกิดกรณีที่ซีอีโอ Uber กลายเป็นส่วนหนึ่งของกรรมการบริหาร Didi ขณะที่ซีอีโอ Didi เป็นกรรมการบริหาร Uber กรณีน่าสนใจมากเพราะปัจจุบัน Didi มีส่วนลงทุนในคู่แข่งหลักของ Uber ในหลายตลาด เช่นบริการลิฟต์ (Lyft) ในสหรัฐฯ, โอลา (Ola) ในอินเดีย หรือแกร็บ (Grab) ในเอเชียตะวันออเฉียงใต้ ซึ่งความชัดเจนในขณะนี้มีเพีงถ้อยแถลงของ Didi ที่ระบุว่าบริษัทจะประสานงานกับพันธมิตรธุรกิจในระดับโลก หลังจากดีลควบรวม Uber ในจีนแล้วเสร็จ
นอกจากนี้ ยังมีคำถามเรื่องโครงสร้างการถือหุ้นใน Uber โดย Didi นั้นมีนักลงทุนยักษ์ใหญ่อยู่เบื้องหลังทั้งอาลีบาบา (Alibaba), แอปเปิล (Apple), กลุ่มทุนดีเอสที (DST), ซอฟต์แบงก์ (Softbank) และเท็นเซนต์ (Tencent) ซึ่งทั้งหมดคาดว่าจะต้องรอความชัดเจนหลังจากมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการต่อไป
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000076382