บมจ.บีซีพีจี ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ชูวิสัยทัศน์พร้อมประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศให้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างโลกสีเขียวที่ยั่งยืน รับแผนขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2559 และเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 590 ล้านหุ้น เพื่อนำเงินจากการระดมทุนไปขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ตั้งเป้าปี 2563 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,000 MW ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (“ก.ล.ต.”) อยู่ระหว่างการพิจารณาคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ของ BCPG
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า BCPG เป็นบริษัทในเครือของกลุ่ม บมจ.บางจากปิโตรเลียม ที่เกิดจากการปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อรองรับการขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอนาคตของกลุ่ม บมจ.บางจากปิโตรเลียม โดยในปี 2558 ที่ผ่านมา BCPG ได้เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จาก บมจ.บางจากปิโตรเลียม จำนวนกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 118 เมกะวัตต์ซึ่งดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งหมด
ทั้งนี้ BCPG มีเป้าหมายต้องการขับเคลื่อนพลังงานหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในหลากหลายรูปแบบ ด้วยวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจที่จะประสานความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศให้ร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนด้วยเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างโลกสีเขียวที่ยั่งยืน (The World’s Greenergy Iconic Creator) ที่นำไปสู่เป้าหมายการดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระดับสากล รวมถึงจะลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพื่อสร้างสรรค์พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบใหม่ ๆ ให้แก่โลก
“เรามีเป้าหมายการดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในระดับสากล โดยจะร่วมมือกับองค์กรหรือพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศเพื่อร่วมกันพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ด้วยความคิดสร้างสรรค์ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับคุณภาพของทุกชีวิตในอนาคต ผ่านการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ โรงไฟฟ้าพลังงานลม โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพ โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน” นายบัณฑิต กล่าว
BCPG มีศักยภาพในการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,000 MW ภายในปี 2563 โดย BCPG มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการประกอบธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้ BCPG สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ เพื่อดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ นอกจากนี้ BCPG ยังมีความพร้อมในด้านเงินทุนที่จะผลักดันให้การขยายธุรกิจเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีแหล่งเงินทุนทั้งจากวงเงินกู้ยืมที่พร้อมเบิกใช้ รวมถึงเงินที่จะได้รับจากการ IPO ในครั้งนี้
BCPG มีนโยบายเปิดกว้างด้านการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในรูปแบบการลงทุนผ่านบริษัทย่อยทั้งหมด ร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หรือเข้าซื้อกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งที่เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรืออยู่ระหว่างการพัฒนา
นอกเหนือจากแผนการลงทุนและเป้าหมายการขยายธุรกิจที่ชัดเจนแล้ว BCPG ยังมีความสามารถที่จะมอบผลตอบให้แก่นักลงทุนทั้งในรูปแบบของการเติบโตของผลการดำเนินงานและฐานะทางการเงิน รวมถึงการจ่ายเงินปันผลให้แก่นักลงทุน โดย BCPG ได้กำหนดนโยบายการจ่ายเงินปันผลโดยจะจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 40.0 ของกำไรสุทธิ อย่างไรก็ดี BCPG มีความตั้งใจที่จะจ่ายเงินปันผลให้เทียบเคียงได้กับคู่แข่งรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
ทั้งนี้ ณ ปัจจุบัน BCPG มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมทั้งสิ้น 130 MW แบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 118 MW และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 12 MW นอกจากนี้ ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมทั้งสิ้น 194 MW แบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว มีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 20 MW และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 174 MW
นายภานพ อังศุสิงห์ ผู้บริหารสายงานวาณิชธนกิจ ตัวแทนบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วม กล่าวว่า BCPG ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ร่างหนังสือชี้ชวน และแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (“แบบคำขอเสนออนุญาตเสนอขาย”) ต่อ ก.ล.ต. ในวันที่ 29 มีนาคม 2559 และล่าสุดขณะนี้ ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ ร่างหนังสือชี้ชวน และแบบคำขอเสนออนุญาตเสนอขายเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วม กล่าวว่า ภายหลังจาก ก.ล.ต. อนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และแบบแสดงรายการข้อมูลมีผลบังคับใช้แล้ว ที่ปรึกษาทางการเงินและ BCPG จะร่วมกันกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการเสนอขายหุ้น IPO โดยมั่นใจว่าด้วยประสบการณ์ของ BCPG ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน จะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ซึ่งจะทำให้หุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ได้รับความสนใจและตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุนแน่นอน
ด้านนายวราห์ สุจริตกุล กรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายร่วม กล่าวว่าการเสนอขายครั้งนี้ BCPG จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 590 ล้านหุ้น หรือไม่เกินร้อยละ 29.6 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยจะจัดสรรให้แก่ (1) ผู้ถือหุ้นเดิมของ BCP ตามสัดส่วนการถือหุ้นเพื่อรักษาสิทธิ (Pre-emptive Right) จำนวนไม่เกิน 68.85 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 11.69 ของจำนวนหุ้น IPO และ (2) ส่วนที่เหลือจะจัดสรรให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป โดยหากในกรณีที่ยังคงมีหุ้นเหลือจากการจัดสรร Pre-emptive Rights BCPG จะนำหุ้นส่วนที่เหลือดังกล่าวทั้งหมดไปรวมจัดสรรเพื่อเสนอขายต่อประชาชนเป็นการทั่วไปตามส่วนที่ (2)
ปัจจุบัน BCPG มีทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 5 บาท โดยทุนที่ออกจำหน่ายและชำระแล้วทั้งหมดมีจำนวน 1,400 ล้านหุ้น
ทั้งนี้ BCPG เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ โดยเป็นการลงทุนผ่าน BCPG และบริษัท ย่อย รวมทั้งสิ้น 50 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยจำนวน 8 บริษัท และบริษัทที่จดทะเบียนในต่างประเทศอีก 42 บริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง BCPG มีแผนนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการระดมทุนจากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ไปใช้ขยายธุรกิจไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ส่วนที่เหลือจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และชำระคืนเงินกู้จากสถาบันการเงิน ต่อไป