งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารด้านพฤติกรรมทางเพศ (Journal Archives of Sexual Behavior) เผยข้อมูลน่าสนใจ เมื่อพบว่า เด็กยุคมิลเลนเนียมที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1990 – 1999 (ปัจจุบันอายุระหว่าง (17 – 26 ปี) มีความสนใจในกิจกรรมทางเพศน้อยกว่าเจเนอเรชั่นก่อนหน้าอย่างกลุ่มเบบี้บูม และเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ถึงสองเท่า ซึ่งคาดว่าเป็นผลพวงจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เด็กรุ่นนี้สามารถไขว่คว้าหาความสำเร็จหรือกิจกรรมที่ตนเองพึงพอใจได้หลายช่องทางนั่นเอง
ทั้งนี้ ในมุมพ่อแม่ผู้ปกครอง งานวิจัยดังกล่าวอาจช่วยให้ใจชื้นขึ้น ว่าลูกวัยรุ่นของเราอาจเป็นหนึ่งในกลุ่มเด็กมิลเลนเนียมเหล่านั้นที่รู้จักแสวงหาความก้าวหน้าให้ชีวิต และมองว่าการสร้างความสัมพันธ์ในเชิงชู้สาวอาจไม่ใช่ความจำเป็นลำดับต้น ๆ ของชีวิตอีกต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า หากเป็นเช่นนั้นจริงจะช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนลงได้อย่างมาก
อีกทั้งในมุมผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาก็มองว่า การที่เด็กยุคมิลเลนเนียมมีประสบการณ์ทางเพศช้ากว่าคนรุ่นก่อนนั้น ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่อย่างใด หากแต่เป็นการดีเสียอีกที่พวกเขาได้ศึกษา และสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งมากกว่าเดิม และเทรนด์ดังกล่าวนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงอำนาจของฝ่ายหญิงในการปฏิเสธที่มีมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญอีกด้านได้ให้ความเห็นต่าง โดยมองว่า เหตุที่เด็กยุคมิลเลนเนียมมีประสบการณ์ทางเพศช้ากว่าเด็กรุ่นก่อนนั้นเป็นเพราะสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่มีความคาดหวังในตัวเด็กสูง ประกอบกับเทคโนโลยีที่เข้ามาในหลากหลายรูปแบบ ทำให้เด็กยึดติดอยู่กับหน้าจอมากขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาทักษะการเข้าสังคม
โนอาร์ แพทเทอร์สัน วัย 18 ปีเป็นอีกคนหนึ่งที่นั่งอยู่ท่ามกลางหน้าจอมากมาย เขาทำโปรเจ็ค ดูคลิปจากยูทูบ เล่นวิดีโอเกม ฯลฯ และมองว่า การออกไปเดทเป็นเรื่องเสียเวลา แม้กระทั่งว่า ออกไปเพื่อหาคู่นอนสักคนก็ตาม
“การเดทโดยทั่วไปแล้วใช้เวลาอย่างน้อยครั้งละสองชั่วโมง ซึ่งในเวลาสองชั่วโมงที่เสียไป ผมไม่สามารถทำสิ่งที่ผมชอบได้เลย” ซึ่งเขาบอกว่า เขาเองชอบผู้หญิง และต้องการมีความรักเช่นกัน แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิตของเขาแต่อย่างใด
ทัศนคติดังกล่าวไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากมองในมุมนักจิตวิทยา ที่ระบุว่า เด็กยุคมิลเลนเนียมเป็นเด็กที่มีความทะเยอทยานสูง และจะไม่ชอบนักหากพวกเขาต้องถูกครอบงำโดยบางสิ่งจนไม่สามารถมีอิสระได้อย่างที่ใจต้องการ
จากข้อมูลยังพบด้วยว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามที่มีอายุระหว่าง 20 – 24 ปีนั้นไม่เคยมีประสบการณ์ทางเพศเลยจนถึงอายุ 18 ปี และก็ยังมีคนรักน้อยกว่าคนรุ่นเบบี้บูม และเจนเอ็กซ์ด้วย
“เด็กยุคมิลเลนเนียมคือคนกลุ่มแรกที่มีรูปแบบการติดต่อสื่อสารผ่านทางหน้าจอมากกว่าการพูดคุยต่อหน้า”
ซึ่งอาจมองได้ว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่น้อยลงในคนกลุ่มนี้เป็นผลมาจากประโยคข้างต้นด้วยส่วนหนึ่ง เพราะในชีวิตจริง การลบใครสักคนออกจากชีวิตนั้นเป็นเรื่องยากมากกว่าการลบเพื่อนทิ้งบนเฟซบุ๊กมากมายนัก
แอปหาคู่ ดึงความเชื่อมั่นตกต่ำ
นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของแอปหาคู่ที่พบว่ามีการสร้างตัวตนของผู้ใช้งานให้ดูดีจนเหนือจริงมากเกินไป จนทำให้ผู้ใช้งานส่วนหนึ่งเกิดความไม่เชื่อมั่นในตัวเอง จนไม่กล้ามีคู่รักอยู่ด้วยเช่นกัน
โดย Jessica Strübel นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเท็กซัสพบว่า เด็กยุคมิลเลนเนียมที่เธอและคณะทำการสำรวจ 1,317คนนั้น มีผู้ใช้งานแอป Tinder เป็นชาย 32 คน และหญิง 70 คน ซึ่งเมื่อให้นักศึกษาตอบแบบสำรวจว่า พวกเขา ต้องการความสนใจ และต้องการมีตัวตนแบบไหน เด็กกลุ่มนี้จะต้องการความสนใจตลอดเวลา ซึ่งเป็นความต้องการที่ไม่มีใครสามารถให้ได้ในชีวิตจริง นั่นจึงทำให้คนกลุ่มนี้มีโอกาสประสบปัญหาด้านสุขภาพจิตได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เคยใช้งานนั่นเอง
นอกจากนั้นยังพบว่า กลุ่มผู้ใช้แอปหาคู่จะมีีความพอใจในรูปลักษณ์ของตนเองต่ำกว่าคนที่ไม่ได้ใช้ ซึ่งนั่นอาจทำให้เด็กมิลเลนเนียมเหล่านี้ไม่มีความกล้าพอที่จะมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นก็เป็นได้
5 พฤติกรรมหลังเทคโนโลยีเปลี่ยน
นอกจากการสร้างความสัมพันธ์ของคนในยุคมิลเลนเนียมจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจแล้ว หลายสิ่งหลายอย่างของความรักความสัมพันธ์ก็ยังแตกต่างจากยุคพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่น้อย ซึ่งสามารถรวบรวมได้ 5 ประการดังนี้
1. บอกเลิกโดยขาดการสัมผัส
การเลิกราของคู่รักในอดีต อาจมีทั้งน้ำตา ความเสียใจ หรือการโอบกอด แต่สำหรับเด็กยุคมิลเลนเนียม รูปแบบการบอกลามักเกิดขึ้นในแอปส่งข้อความ
2. การเอื้ออาทรต่อกันเป็นสิ่งล้าสมัย
เมื่อความรักจบลงที่การเลิกรา และรูปแบบของการคบหาเป็นการพูดคุยผ่านแอปส่งข้อความ หลายครั้งที่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยังตัดใจไม่ได้ และส่งข้อความไปหาอยู่เนือง ๆ อีกฝ่ายสามารถตัดการรับรู้ด้วยการบล็อก หรือปิดเครื่องหนีได้เลย
3. โซเชียลมีเดียคือเครื่องมือประกาศถึงความสุข
หลาย ๆ ครั้งที่การท่องเที่ยวไปยังที่ต่าง ๆ กับครอบครัว เพื่อน คนรัก ของคนยุคมิลเลนเนียมจะยังไม่ถือว่าจบโดยสมบูรณ์หากเขาเหล่านั้นยังไม่ได้โพสต์ลงบนโซเชียลมีเดีย และมีคนเข้ามาคลิกไลค์
4. โซเชียลมีเดียคือที่ระบาย
ในขณะเดียวกันกับการหาความสุขบนโซเชียลมีเดีย เมื่อใดที่เด็กมิลเลนเนียมรู้สึกไม่สบายใจ เขาก็จะหันมาหาโซเชียลมีเดียเพื่อระบายความทุกข์ (และรอการคลิกไลค์) ด้วยเช่นกัน ขณะที่ถ้าเป็นคนรุ่นก่อนอาจหันไปปรึกษาเพื่อน หรือครอบครัว
5. ความโรแมนติกของคู่รักเปลี่ยนไป
ภาพของคนรุ่นก่อนที่แอบเซอร์ไพรส์คนที่รักด้วยช่อดอกไม้ หรือการมาปรากฏตัวแบบไม่บอกล่วงหน้า พอมาถึงยุคมิลเลนเนียมอาจเปลี่ยนเป็นการพิมพ์ข้อความ หรือส่งสติ๊กเกอร์ถึงกันแทน ส่วนความโรแมนติกของคนรุ่นพ่อแม่ที่อาจมีการขอจับมือในการเดทครั้งแรกก็อาจหายไป เพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการใช้มือกดพิมพ์ข้อความบนสมาร์ทโฟนมากกว่านั่นเอง
การมาถึงของเทคโนโลยีเปรียบเสมือนดาบสองคม ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับสภาพสังคม เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป รูปแบบของความรัก ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนบนโลกยุคใหม่จึงอาจถึงคราวเปลี่ยนแปลงไปโดยปริยาย
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000079093