ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลน่า สหรัฐอเมริกา โชว์จุดอ่อนของระบบจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ที่ปัจจุบันเริ่มมีการนำมาประยุกต์ใช้รักษาความปลอดภัยร่วมกับพาสเวิร์ดในหลายวงการว่า มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยเช่นกัน
โดยสาเหตุที่กล่าวเช่นนั้น เพราะระบบดังกล่าวบางครั้งอาจไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างของภาพใบหน้าที่แท้จริง กับภาพใบหน้าที่สร้างขึ้นโดยโปรแกรมสร้างภาพสามมิติได้นั่นเอง
ความท้าทายของโปรเจกต์นี้อยู่ที่ทีมนักวิจัยได้เลียนแบบวิธีการของอาชญากรอินเทอร์เน็ต โดยการสร้างภาพจำลองใบหน้าสามมิติของอาสาสมัคร 20 คน จากภาพถ่ายที่พบได้ทั่วไปบนอินเทอร์เน็ต หรือโซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) มาใช้เป็นต้นแบบ และมีการแก้ไขปรับปรุงภาพจำลองใบหน้าเท่าที่จำเป็น เช่น การใส่อนิเมชันลงไปในส่วนของดวงตาให้ดูเหมือนว่ากำลังมองกล้อง หรือการยิ้ม (เพราะทราบว่า ระบบซีเคียวริตีจะตรวจสอบบริเวณดวงตา หรือมุมปากว่ามีการเคลื่อนไหวหรือไม่) หรือในกรณีที่ไม่สามารถหาภาพใบหน้าแบบเต็มๆ ของอาสาสมัครได้ พวกเขาก็จะสร้างส่วนที่หายไปนั้นให้เอง เช่น ใส่เงา หรือใส่เท็กเจอร์อื่นลงไป
จากนั้น พวกเขาได้นำภาพแบบจำลองสามมิติที่สร้างขึ้นนี้ไปทดสอบกับระบบซีเคียวริตี 5 ยี่ห้อ ได้แก่ KeyLemon, Mobius, TrueKey, BioID และ 1D ซึ่งพบว่าสามารถหลอกได้ถึง 4 ยี่ห้อเลยทีเดียว
แต่ไม่จบเพียงแค่นั้น เพราะทีมวิจัยได้เปลี่ยนเป็นการถ่ายภาพอาสาสมัครทั้ง 20 คน และนำไปสร้างแบบจำลองสามมิติ จากนั้นก็นำไปทดสอบกับระบบซีเคียวริตีทั้ง 5 ยี่ห้อด้วยเช่นกัน และพบว่าสามารถหลอกได้ทั้ง 5 ยี่ห้อเลยทีเดียว
สำหรับซอฟต์แวร์ทั้ง 5 ยี่ห้อนี้ ปัจจุบันมีการเปิดให้ดาวน์โหลดทั้งใน Google Play และ App Store ซึ่งการนำไปใช้งานอาจเป็นการปลดล็อกตัวเครื่องสมาร์ทโฟน ปลดล็อกการเข้าถึงไฟล์ หรือข้อมูลสำคัญๆ เป็นต้น
อาจกล่าวได้ว่า ความท้าทายของโปรเจกต์นี้อยู่ที่การนำภาพที่ค้นหาได้เองจากอินเทอร์เน็ตมาใช้สร้างเป็นแบบจำลองสามมิติ และนำไปหลอกระบบคอมพิวเตอร์ได้นั่นเอง เนื่องจากภาพที่หาได้จากอินเทอร์เน็ตหลายครั้งเป็นภาพที่ความละเอียดต่ำ และอาสาสมัครบางคนก็ทราบถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวนี้ดี จึงไม่ค่อยโพสต์ภาพใดๆ โดยภาพบางภาพที่ใช้ในการทดสอบนี้ สร้างจากภาพต้นแบบจากอินเทอร์เน็ตเพียง 2-3 ภาพ เท่านั้น
ที่มา: http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9590000083763