บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดโครงการเทคเฟม ไทยแลนด์ 2016 (TechFemme Thailand 2016) ครั้งที่ 2เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่อุตสาหกรรมและธุรกิจไอทีมากขึ้น
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อตอกย้ำนโยบายของไมโครซอฟท์ในการส่งเสริมความเท่าเทียมและหลากหลายทางเพศ รวมทั้งเป็นกำลังสำคัญให้คนรุ่นใหม่ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมไอที เพื่อนำความรู้ความสามารถมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และต่อยอดสู่บุคลากรคุณภาพของสังคม โดยพื้นฐานและประสบการณ์ที่หลากหลายของแต่ละคนจะนำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่า
ข้อมูลจากบริษัท McKinsey & Co. and LeanIn.Org[1] พบว่า ในจำนวนพนักงานทั้งหมด 30,000 คนในบริษัท 118 บริษัทจาก9 อุตสาหกรรมในทวีปอเมริกาเหนือ มีสัดส่วนของผู้หญิงเป็นจำนวน 36.8% ของพนักงานแรกเข้าในอุตสาหกรรมไอที ในขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ มีผู้หญิงเกือบครึ่งหนึ่งของพนักงานแรกเข้า นอกจากนี้ จากข้อมูล 9,000 คนจากบริษัทไอทีจำนวน 26 บริษัทพบกว่า ผู้หญิงมีมุมมองด้านลบต่อความก้าวหน้าทางอาชีพของตน โดย 30% มองว่า เพศอาจเป็นอุปสรรคในการได้รับการเลื่อนขั้นและขึ้นเงินเดือน
“ผู้หญิงอาจมองว่า อาชีพด้านไอทีเหมาะกับผู้ชายมากกว่า แต่ไมโครซอฟท์เล็งเห็นว่า การจะพัฒนาอุตสาหกรรมไอทีนั้นต้องประสานทุกความสามารถเข้าด้วยกันเราเชื่อว่าทุกคนสามารถทำงานด้านนี้ได้ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง และธุรกิจไอทีพัฒนาไปอย่างรวดเร็วมาก การจะประสบความสำเร็จในสายนี้ได้ ต้องอาศัยความชื่นชอบและรักในเทคโนโลยี รวมทั้งต้องพยายามค้นคว้าหาความรู้ใหม่ๆ เพิ่มเติมเสมอ การไม่หยุดนิ่งที่จะเรียนรู้จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอาชีพด้านไอที” คุณเอกราช ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารสินค้าคอนซูมเมอร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ไอทีมีบทบาทสำคัญและเกี่ยวข้องกับแทบทุกอย่างในโลกปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นไลฟ์สไตล์ไปจนถึงการทำวิจัยข้อมูล เรามีบุคลากรที่มีความสามารถจำนวนมากที่ทำงานในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย”
และเพื่อเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ไมโครซอฟท์ กล่าวเรื่องการเปิดกว้างในวงการไอทีเป็นเรื่องจริง โครงการ TechFemme 2016 ได้รับเกียรติจากผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจไอที ได้แก่ คุณมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) คุณพรทิพย์ กองจุน ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหาร Jitta.com ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. การดี เลียวไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ซี อาเซียน และคุณชุติมา สีบำรุงสาสน์ ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์การทำงานในธุรกิจไอที
“โดยส่วนตัวแล้วเชื่อว่า การทำงานในอุตสาหกรรมไอทีไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางด้านไอทีมาก่อน แต่จำเป็นต้องมีความรักในไอทีและความต้องการที่จะเรียนรู้ ยิ่งเรียนรู้มากเท่าไหร่ คุณก็จะได้ความรู้มากเท่านั้น” คุณมณีรัตน์ฯ กล่าว“นอกจากนี้ ด้วยความที่ไอทีเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจแทบทุกอุตสาหกรรมการที่คุณมีความรู้และความเข้าใจในไอที จะทำให้คุณสามารถทำงานในกลุ่มธุรกิจใดก็ได้”
คุณพรทิพย์ฯ กล่าวเสริมว่า “ไอทีเป็นปัจจัยผลักดันสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม มันไม่มีพรมแดนและไม่มีเพศ ไอทีคือปัจจุบันและเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะใช้เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ขึ้นร่วมกัน”
นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. การดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ไอทีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันของเรา กล่าวคือ ไอทีคือไลฟ์สไตล์นั่นเอง อุตสาหกรรมไอทีต้องการมุมมองที่สดใหม่และสร้างสรรค์จากกลุ่มคนที่มีพื้นฐานที่หลากหลายและแตกต่าง”
โครงการ TechFemme 2016 ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 โดยได้รับความสนใจเป็นอย่างมากทั้งจากเยาวชนและบุคคลทั่วไป โดยผู้เข้าร่วมงานจำนวนกว่า 300 คนเข้ารับฟังประสบการณ์จากบุคคลชั้นนำในอุตสาหกรรมไอทีและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นางสาวดลยา รัตนแสงสกุลไทย นิสิตชั้นปีที่ 3 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ แสดงความเห็นหลังจากร่วมกิจกรรมว่า “รู้สึกประทับใจและตื่นเต้นที่ได้รู้ว่าธุรกิจไอทีมีผู้หญิงที่มีความสามารถและน่าชื่นชมทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก หลังจากที่ได้ฟังประสบการณ์และเรื่องราวดีๆ จากพี่ๆ ที่มาร่วมพูดคุยในวันนี้ รู้สึกมั่นใจมากขึ้นว่าตัดสินใจถูกแล้วที่จะเลือกทำงานในอุตสาหกรรมไอทีค่ะ”
นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์จากผู้ประสบความสำเร็จในธุรกิจไอทีแล้ว TechFemme ยังประกอบด้วยเวิร์คช็อปที่แนะนำน้องๆ เกี่ยวกับการเส้นทางการประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมไอที เทคนิคดีๆ ที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน รวมถึงเทคโนโลยีจากไมโครซอฟท์ ผู้บริหารจากไมโครซอฟท์ยังแนะนำโครงการ MACH ที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาสามารถมาฝึกงานที่ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เพื่อสร้างประสบการณ์ทำงานในบริษัทด้านไอทีจริงๆ โดยได้ให้ความรู้เบื้องต้นด้านการเขียนจดหมายสมัครงาน (resume) รวมถึงทักษะที่สำคัญด้านอื่นๆ ที่บริษัทต่างๆ มองหาในตัวพนักงาน
เวิร์คช็อปที่จัดขึ้นในครั้งนี้ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการหลายคน หนึ่งในนั้นได้แก่ ศุภจักร เพ็ชร์ดี นิสิตปีที่ 2 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ผมมาร่วมงานในวันนี้เพราะอยากฟังมุมมองที่หลากหลายจากพี่ๆ ที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งผมก็ไม่ผิดหวัง ความรู้เป็นพลัง โดยเฉพาะเทคโนโลยี และมันก็อยู่รอบตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องเรียนเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เราสามารถเรียนรู้จากสิ่งต่างๆ นอกห้องเรียนได้ สิ่งที่สำคัญคือต้องช่างสังเกตและเปิดกว้างที่จะเรียนรู้จากผู้คนที่หลากหลาย”
จากความสำเร็จใน 2 ปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จะจัดโครงการ TechFemme ขึ้นอีกในปีหน้า โดยแน่นอนว่า กิจกรรมที่จะมีขึ้นจะเต็มไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการแสดงออกถึงพลังของเยาวชนรุ่นใหม่ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสารกิจกรรมได้ที่Microsoft Thailand News Center.