สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยผลการสำรวจ มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทย ปี 2558 มูลค่า 2.24 ล้านล้านบาท และคาดการณ์ว่า ในปี 2559 อีคอมเมิร์ซของไทยจะเติบโตแบบก้าวกระโดด 12.42% มูลค่ารวมสูงถึง 2.52 ล้านล้านบาท
ค้าปลีก–ค้าส่งขึ้นอันดับ 1 ค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ
อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซสูงที่สุด ของปี 2559 ก็คือกลุ่มค้าปลีก และค้าส่ง ที่ขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งแซงหน้าการให้บริการที่พักที่เป็นอันดับหนึ่งในปี 58 ด้วยมูลค่า 731,828 ล้านบาท มีการเติบโต 36.35%
สาเหตุหลักมาจากการที่ผู้เล่นค้าปลีกรายใหญ่ในประเทศ หันมาให้ความสำคัญกับ “อีคอมเมิร์ซ” มากขึ้นทั้ง เทสโก้ โลตัส และเซ็นทรัล หรือร้านค้าเฉพาะทางอย่าง ร้านวัตสัน ร้านซูรูฮะ ก็ลงมาจับตลาดออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน มีการจัดโปรโมชั่น หรือแคมเปญเพื่อกระตุ้นการซื้อออนไลน์ให้เพิ่มขึ้น
นอกจากการขายของผู้เล่นค้าปลีกรายใหญ่ ค้าปลีกรายย่อยที่เป็นร้านค้าเล็กๆ บนโลกออนไลน์ก็มีส่วนในการเติบโตเช่นกัน รวมในส่วนของร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่น สินค้าความสวยความงาม แก็ดเจ็ตต่างๆ และอาหาร เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าคนไทยเปิดใจยอมรับกับการซื้อของบนอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพราะมีระบบ มีการพัฒนารองรับให้มีความปลอดภัย และสะดวกสบายในการใช้
ห้างสรรพสินค้าออนไลน์มาแรง
เมื่อดูในกลุ่มอุตสากรรมของค้าปลีก และค้าส่งที่มีมูลค่าสูงสุดในปี 2559 เจาะรายละเอียดตามประเภทสินค้าข้างในก็พบว่า 3 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นธุรกิจห้างสรรพสินค้าออนไลน์ มีมูลค่า 2.31 แสนล้าน รองลงมาเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง อาหารเสริม น้ำหอม และอุปกรณ์เสริมความงาม มีมูลค่า 1.43 แสนล้าน และธุรกิจจำหน่ายอาหาร มีมูลค่า 1.65 แสนล้าน
สำหรับธุรกิจห้างสรรพสินค้าออนไลน์ที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่งนั้นเรียกว่าเป็นธุรกิจที่สร้างแพลตฟอร์มให้ร้านค้ามาขายสินค้าต่างๆ อาจจะอยู่ในรูปแบบเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่น เปิดเป็นเหมือนมาร์เก็ตเพลสให้ร้านค้ามาขายสินค้าและมีการเก็บค่าธรรมเนียม
รองลงมาเป็นสินค้าประเภทเครื่องสำอาง อาหารเสริม น้ำหอม และอุปกรณ์เสริมความงาม ที่ไม่ว่าผ่านมากี่ปีสินค้ากลุ่มนี้ก็ยังเป็นธุรกิจดาวรุ่งอยู่ เพราะกลุ่มลูกค้าที่ซื้อสินค้าบนอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และอยู่ในช่วงวัยรุ่น
และอันดับสามกับธุรกิจจำหน่ายอาหาร มีเทรนด์ในเรื่องของฟู้ดออนไลน์มาสักพักใหญ่แล้ว ที่มีการขายอาหารผ่านเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอีกต่อไป เทรนด์นี้เกิดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เน้นความสะดวกสบายมากขึ้น และมีไลฟ์สไตล์ที่เร่งรีบ
แต่ถ้าดูในแง่ของการเติบโตของแต่ละกลุ่ม พบว่ากลุ่มอาหารมีการเติบโตมากที่สุดที่ 61.9% รองลงมาคือค้าปลีก และค้าส่งอื่นๆ เติบโต 38.1% และการจำหน่ายสินค้ากีฬา มีการเติบโต 36.5%
ไทย B2C นำโด่ง โซเชียลคอมเมิร์ซดาวรุ่ง
อีคอมเมิร์ซของไทย ในกลุ่ม B2C ที่มีการเติบโตสูงที่สุด 43% มีมูลค่า 729,292 ล้านบาท แต่กลุ่มใหญ่ยังคงเป็นกลุ่ม B2B มีมูลค่า 1.38 ล้านบาท เติบโต 3.5% และกลุ่ม B2G มีมูลค่า 4.13 แสนล้านบาท เติบโต 3.21%
สาเหตุที่กลุ่ม B2C มีการเติบโตสูงที่สุดมาจากความนิยมของโซเชียลคอมเมิร์ซ หรือการซื้อขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม เป็นพฤติกรรมที่คนไทยชอบใช้โซเชียลมีเดียอยู่แล้ว และปัจจัยความสำเร็จของการซื้อขายผ่านช่องทางนี้ก็คือการแชต เหมือนได้คุยกับพ่อค้าแม่ค้ามีการต่อรองราคากันได้ เหมือนเป็นการเดินตลาดนัด เป็นการซื้อขายที่คนไทยชอบ
รวมถึงการพัฒนาเรื่องการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีความสะดวกมากขึ้น มีการจัดส่งสินค้าครบวงจร มีระบบการชำระเงินหลากหลายทั้งบัตรเดบิต บัตรเครดิต
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด และนายกสมาคม E-Commerce ประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ปี 59 นี้เป็นปีที่น่าตื่นเต้น ได้เห็นการเติบโตของ B2C สูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โซเชียลคอมเมิร์ซได้เข้ามาพลิกการทำอีคอมเมิร์ซ คนไทยนิยมใช้เพราะสะดวก ได้พูดคุยกับแม่ค้าได้ ซึ่งการพูดคุยสามารถช่วยในการตัดสินใจได้เป็นจุดเด่นที่ขายแบบไทยๆ ประเทศอื่นไม่ค่อยมี แต่ข้อจำกัดจะอยู่ที่โซเชียลคอมเมิร์ซจะอยู่ได้แค่ในไทย ขยายไปต่างประเทศไม่ได้ ต่างจากอีคอมเมิร์ซเว็บไซต์ที่มีการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ
ในการขายสินค้าในโซเชียลคอมเมิร์ซก็ต้องดูอีกว่าเหมาะกับช่องทางนี้หรือไม่ เพราะบางสินค้าก็ไม่เหมาะกับการขายบนโซเชียลมีเดีย สินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า สินค้าสำหรับผู้หญิง กลุ่มวัยรุ่นจะขายดี เพราะมีการติดสินใจซื้อง่าย ส่วนสินค้าอื่นๆ หรือสินค้าเฉพาะกลุ่มอาจจะเหมาะกับช่องทางเว็บไซต์มากกว่า
ทางด้านของเซ็นทรัลออนไลน์ยักษ์ใหญ่แห่งวงการค้าปลีกก็เริ่มขยับตัวมาทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น และมีการตื่นตัวในเรื่องการขายแบบ B2C ด้วยเช่นกัน ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม รองประธานฝ่ายปฏิบัติการ และเทคโนโลยี กลุ่มธุรกิจเซ็นทรัลออนไลน์ บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าเซ็นทรัลได้พัฒนามีการทำมาร์เก็ตเพลสที่เข้ามาตอบโจทย์ร้านค้าที่ขายในเซ็นทรัลส่วนการทำโซเชียลคอมเมิร์ซจะเป็นเฟสต่อไปที่จะทำเพราะช่องทางนี้มีความสำคัญ
“เราพบว่าโซเชียลมีเดียมีส่วนช่วยทำให้ลูกค้าเข้าเว็บไซต์เรามากขึ้น และที่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญในการทำอีคอมเมิร์ซต้องมีสปีดที่รวดเร็ว ต้องตอบคำถามลูกค้าไว เพราะถ้าช้าไปนิดเดียวผู้บริโภคไม่รอแล้ว แล้วก็ใช้เรื่องบริการที่มีการผนวกทั้งออนไลน์ และออฟไลน์เข้ามาเป็นจุดแข็งให้ต่างจากผู้เล่นอื่น“
ส่วนบริษัทเกมอย่างการีน่าก็ขอกระโจนเข้ามาเล่นตลาดนี้ด้วยเช่นกัน การีน่าได้มีพัฒนาแอปพลิเคชั่น Shopee ขึ้น เพื่อรองรับการซื้อขายในรูปแบบโซเชียลคอมเมิร์ซ มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีน่า ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราเห็นเทรนด์ของโซเชียลคอมเมิร์ซมาสักพักใหญ่แล้ว เราเลยทำแอปพลิเคชั่น Shopee ออกมาเพื่อตอบโจทย์ทั้งผู้ขายที่ต้องการมีแพลตฟอร์มและช่วยโปรโมตร้านค้าส่วนผู้ซื้อก็ต้องการความปลอดภัยมีสินค้าหลากหลายในช่วงแรกก็ต้องทำการชวนร้านค้าให้เข้ามาอยู่กับเราแต่พอมีการใช้งานเยอะขึ้นคนซื้อก็จะตามมาเองแต่ข้อสำคัญของการขายสินค้าบนโซเชียลคอมเมิร์ซจะต้องแอ็กทีฟตลอดต้องจริงจังใส่ใจลูกค้า