กระทรวงอุตสาหกรรมเผยผลสำเร็จเวทีประชุม APEC SME ประเทศสมาชิกขานรับแผนยุทธศาสตร์SME APEC (ปี 2017-2020) ชูแนวทางการมุ่งไปสู่ความทันสมัยของ SMEs ในเอเซียแปซิฟิก โดยมีSME เป็นกลจักรขับเคลื่อนการเติบโตและความเจริญ พร้อมผลักดันการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าและบริการ สนับสนุนการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประยุกต์ SME สีเขียวเพื่อร่วมรักษาสิ่งแวดล้อม
นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 23 เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) โดยนางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการ สสว. ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู เมื่อวันที่ 8 – 9 กันยายน 2559 ที่ผ่านมานั้น หัวข้อหลักของการประชุมในครั้งนี้คือ SMEsเป็นหัวจักรในการขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและความมั่งคั่ง และมีหัวข้อย่อยในการประชุมหารือ 4 ด้านประกอบด้วย 1) การส่งเสริมนวัตกรรม และการเชื่อมโยงเครือข่าย SMEs 2) การสร้างความเข้มแข็งให้SMEs โดยการแปลงไปสู่ ระบบดิจิทัล 3) การส่งเสริมSMEs ที่ดำเนินธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ SMEs สีเขียวสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก และ 4) การส่งเสริม SMEs สู่ความเป็นสากล
ประเทศไทยได้นำเสนอกรอบแนวทางในการส่งเสริม พัฒนา SMEs ของไทยซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์Thailand 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งเป้าในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value – Base Economy”หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ให้แก่รัฐมนตรีและผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจต่างๆ อีก 20 ประเทศในที่ประชุมได้รับทราบ โดยไทยได้แบ่งแนวทางการส่งเสริม SMEs เป็น 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มStartup ที่เน้นสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง 2) กลุ่ม Smart SMEs ที่ต้องเร่งส่งเสริมนวัตกรรมและดิจิทัล 3) กลุ่ม Smart Farmer ที่ปรับเปลี่ยนเกษตรกรเป็นผู้ประกอบการธุรกิจการเกษตรและการเกษตรแปรรูป และ 4) กลุ่ม Global SMEs ที่เชื่อมโยงธุรกิจให้เกิดเป็นเครือข่ายและมุ่งสู่ตลาดสากลได้ ทั้งนี้ ก็เพื่อมุ่งเป้าการเพิ่มสัดส่วนของ GDP จาก SME ให้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 40 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 50 ในอีก 5 ปี ข้างหน้า
“นอกจากนี้ไทยยังได้มีโอกาสนำเสนอผลสำเร็จจากการจัดการสัมมนาแนวทางการส่งเสริม SMEs สีเขียวหรือ Green SMEs สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยโดย กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. เป็นเจ้าภาพจัดเวทีแลกเปลี่ยนวิธีปฏิบัติที่ดีและระดมสมองเพื่อหาข้อแนะนำเชิงนโยบายในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาโดยมีผู้เข้าร่วมจำนวน 105 คน จากภาครัฐและเอกชนจาก 11 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค ร่วมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจาก UNIDO UNEP OECD และTDRI ในการนี้ ไทยจะร่วมมือกับเปรูในการต่อยอดแนวคิดดังกล่าวและผลักดันให้เกิดยุทธศาสตร์ในระดับเอเปคเพื่อการส่งเสริม MSMEs (วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และรายย่อย) ให้เป็นธุรกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการได้รับการรับรองจากที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในปี 2560 ในกระบวนการดังกล่าวเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคจะได้รับรู้ว่ารัฐบาลไทยให้ความใส่ใจอย่างจริงจังในการส่งเสริม MSMEs ให้เป็นธุรกิจสีเขียว” นางอรรชกา กล่าว
เมื่อเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ร่วมแถลงผลการประชุมรัฐมนตรี เอเปคด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 23 ซึ่งมีกรอบทิศทางการมุ่งไปสู่ความทันสมัยของ SMEs ซึ่งที่ประชุมรัฐมนตรี APEC ให้ความสำคัญกับ 1. การยกระดับความมีนวัตกรรมของ SMEs 2. การส่งเสริมสภาพแวดล้อมและนโยบายที่เอื้อต่อ SMEs 3. การรับประกันการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการส่งเสริมขีดความสามารถของ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน 4. การสนับสนุนให้ SME เข้าถึงตลาดโดยผ่านเครื่องมือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการลดอุปสรรคทางเทคโนโลยี 5. การส่งเสริม SMEs ที่ดำเนินธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ SMEs สีเขียวสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก และการผลักดันให้ SMEs เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกด้วยยุทธศาสตร์การเข้าสู่ความเป็นสากล โดยที่ประชุมสนับสนุนการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ ทั้งหมดในรูบแบบของ public-private partnership รวมทั้งตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของ SMEs ที่มีต่อ business-to-business (B2B) and business-to-government (B2G) markets นอกจากนี้ที่ประชุมยังให้การรับรองแผนยุทธศาสตร์ฉบับที่ 3 ของคณะทำงานเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ปี 2017-2020) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่คณะทำงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจะใช้ร่วมกันในการขับเคลื่อนSME ในเอเปคไปสู่เป้าหมายคือ การส่งเสริมเพื่อพัฒนา SMEs ในด้านต่างๆ ได้แก่ 1) ความเป็นผู้ประกอบการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยียุคดิจิตอล 2) แหล่งเงินสำหรับ SME 3) ระบบนิเวศน์ที่ส่งเสริมการเติบโตของ SME และครอบคลุมถึงรายย่อย 4) การเข้าถึงตลาด โดยจะนำสรุปผลการประชุมนำเสนอต่อที่ประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งกำหนดจัดในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2559 ต่อไปด้วย
ในการนี้ มีข้อสังเกตจากการนำเสนอของเขตเศรษฐกิจสมาชิกว่า ที่ประชุมมีทิศทางเดียวกันในการส่งเสริม SME ทั้งในกลุ่มเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อาทิ จีน สหรัฐฯ เกาหลี ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ไชนีส ไทเป และเขตเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา เช่น ไทย เปรู เม็กซิโก มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งล้วนแต่มีนโยบายที่ให้ความสำคัญแก่ SMEs ในฐานะหัวจักรในการขับเคลื่อนและการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเน้นย้ำความสำคัญของ SMEs ที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเป็นแหล่งกำเนิดนวัตกรรมและการจ้างงาน นอกจากนี้ในหัวข้อย่อยในการประชุมข้อที่ 3 คือ การส่งเสริม SMEs ที่ดำเนินธุรกิจอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือSMEs สีเขียวสู่ห่วงโซ่มูลค่าโลก นั้น เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้แต่จีนก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม SMEs ในด้านนี้เช่นกัน ทั้งนี้ เนื่องจากการเป็นธุรกิจสีเขียวจะเป็นบันไดสำคัญในการเข้าสู่ความเป็นสากลและการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยความสำคัญ สำหรับข้อสังเกตประการอื่นๆ ที่น่าสนใจคือเขตเศรษฐกิจสมาชิกยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนา SME ให้มีนวัตกรรม และการสนับสนุนให้ SMEเข้าถึงตลาดโดยผ่านเครื่องมือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการให้บริการแบบครบวงจรแบบออนไลน์แก่SMEs อีกด้วย
นอกจากนี้ นางอรรชกาฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีโอกาสหารือกับนายเรืองเดช มหาศรานนท์ เอกอัครราชทูต ไทยประจำกรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู พร้อมด้วยผู้ประกอบการไทยในกรุงลิมาประเทศเปรู ในเรื่องทิศทางและแนวโน้มเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศเปรู และโอกาสศักยภาพทางการค้าที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเปรูเป็นประเทศคู่ค้าอันดับที่ 4 ในทวีปอเมริกาใต้ รองจากบราซิล อาร์เจนตินา และชิลี มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 560 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 2 หมื่นล้านบาท)
ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมยังได้มีโอกาสหารือความร่วมมือทวิภาคีกับ Dr. Young-sup Jooรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของของสาธารณรัฐเกาหลี ในประเด็นการส่งเสริมอุตสาหกรรม ซึ่งสาธารณรัฐเกาหลียืนยันที่จะขยายฐานการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์มายังประเทศไทย และในประเด็นการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้เห็นพ้องที่จะร่วมมือกันส่งเสริม SME โดยจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์ที่แต่ละฝ่ายมีความเชี่ยวชาญ เช่น การบ่มเพาะผู้ประกอบการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมสำหรับSME การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตลอดจนอุตสาหกรรม ที่เกาหลีมีความเชี่ยวชาญด้วย ทั้งนี้ ไทยและเกาหลีใต้จะได้กำหนดสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งเสริมSMEs ที่จะร่วมมือกันต่อไป