อสมท เปิดแผนเยียวยา เร่งเคลียร์ปัญหาโครงข่ายฯ

จากกรณี ที่ ผู้ใช้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (MUX) ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) (อสมท) ซึ่งได้แก่ ช่องวอยซ์ทีวี , สปริงส์นิวส์ และไทยรัฐทีวี ค้างชำระค่าบริการโครงข่ายฯ ตามเงื่อนไขสัญญา จนเป็นที่มาของการยื่นหนังสือขอระงับการให้บริการโครงข่ายฯ ช่องดังกล่าวข้างต้น

นายพิเศษ  จียาศักดิ์  กรรมการและรักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ชี้แจงในกรณีดังกล่าวว่า “ที่ผ่านมา อสมท ได้พยายามเจรจากับผู้ใช้บริการโครงข่ายฯ เพื่อหาข้อยุติมาโดยตลอด และไตรมาสนี้มีความคืบหน้าในการเจรจาไปมาก และเชื่อว่าจะมีผลการเจรจาในเชิงบวก” โดยประเด็นหลักในการเจรจาประกอบด้วย

โครงข่ายฯ อสมท ไม่เป็นพรีเมียม (Premium Grade)

อสมท ขอชี้แจงในประเด็นนี้ว่า “โครงข่ายฯ ของ อสมท รวมทั้งอุปกรณ์ที่ อสมท ได้ดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งมีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานที่ กสทช. กำหนดทุกประการ  ส่วนกรณีที่ อสมท ไม่ได้ให้บริการสายอากาศในระบบ   2 แกน ตามที่ได้มีการประชาสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการโครงข่ายฯ นั้น  อสมท  ขอชี้แจงว่า  หลังจากได้รับใบอนุญาตการให้บริการโครงข่ายฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2556 อสมท มีแผนในการติดตั้งโครงข่ายฯ ระบบสายอากาศแบบ2 แกน ซึ่งต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 กสทช. ได้มีมติให้ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายฯ ปฎิบัติตามเงื่อนไขของ กสทช. คือ  กำหนดให้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน แต่สิ่งอำนวยความสะดวกดังกล่าวตามที่ กสทช ระบุ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของ TPBS จำนวน 35 สถานี จากจำนวนสถานีหลักทั้งสิ้น39 สถานี ซึ่งทั้ง35 สถานีไม่รองรับการให้บริการระบบสายอากาศแบบ 2 แกน ส่วน  4 สถานี ที่เหลือในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดลำปาง จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดศรีสะเกษ  เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของ อสมท ซึ่งในทั้ง 4 สถานีดังกล่าว อสมท ได้ให้บริการระบบสายอากาศแบบ 2 แกน ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรับชมตามหนังสือชี้ชวนก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ อสมท มีมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการฯ ด้วยการลดอัตราค่าเช่าโครงข่ายฯ ต่อปีไปแล้ว”

การติดตั้ง โครงข่ายฯ ล่าช้า และปัญหาด้านเทคนิค

กรณีที่ อสมท ติดตั้งโครงข่ายล่าช้ากว่ากำหนดของ กสทช. นั้น  อสมท ขอชี้แจงว่า “ในช่วงที่ 1 ระหว่างเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2557 ก่อนโครงข่ายฯ ครอบคลุม จำนวนครัวเรือน 50% มีความล่าช้าจริง ซึ่ง อสมท ได้พิจารณาแนวทางการเยียวยาค่าบริการดังกล่าวให้กับผู้ใช้บริการทั้ง 3 รายแล้วและอยู่ระหว่างการเจรจา อย่างไรก็ตามผู้ใช้บริการต้องจ่ายค่าชดเชยกรณีชำระค่าบริการล่าช้า

ในช่วงที่ 2 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2557 – พฤษภาคม 2559 แม้ อสมท จะได้ขยายโครงข่ายฯ จนครอบคลุมจำนวนครัวเรือนตามกรอบเวลาที่ กสทช. กำหนดแล้ว   อย่างไรก็ตาม อสมท ยังคงมีแนวทางในการเยียวยาโดยลดค่าบริการให้ในอัตราที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้บริการแต่ละราย ทั้งนี้ จากการที่ผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย ชำระค่าบริการล่าช้า อสมท จึงคิดค่าชดเชย ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปในทางบวกว่าผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย จะชำระค่าบริการในช่วงที่ 2 นี้

ในช่วงที่ 3 ระหว่างเดือน มิถุนายน 2559 – ปัจจุบัน หลังจากที่มีการเจรจาเรื่องการชำระค่าบริการร่วมกับผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย จน กสทช. ได้เข้ามาร่วมหารือจนเกิดการตรวจรับสัญญานทั่วประเทศร่วมกัน โดยมี กสทช เป็นพยานและสรุปผลร่วมกันในเดือนพฤษภาคม 2559 จากนั้น อสมท และผู้ใช้บริการทั้ง 3 ราย จึงได้เริ่มเจรจาเรื่อง การชำระค่าบริการคงค้างอีกครั้งซึ่ง อสมท ได้พิจารณาแนวทางการเยียวยาค่าบริการดังกล่าวให้กับผู้ใช้บริการทั้ง 3 รายแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจา อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้บริการต้องชำระค่าปรับจากการชำระค่าบริการล่าช้า

ในขณะนี้ อสมท ได้ดำเนินการขยายสถานีโครงข่ายฯ ครอบคลุมจำนวนครัวเรือน 90% ตามแผนการขยายโครงข่ายฯ ของ กสทช. แล้วในอนาคตหลังจากนี้ นอกจาก อสมท จะมีการขยายโครงข่ายต่อไปตามแผนที่ กสทช กำหนด อสมท ยังมีแผนที่จะพัฒนาการให้บริการโครงข่ายฯอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการสร้างสถานีเสริมเพื่อปรับปรุงการให้บริการในพื้นที่สำคัญ การพัฒนาระบบ monitoringและระบบการบำรุงรักษาซึ่งเป็นจุดแข็งของ อสมท ที่มีวิศวกรระบบโครงข่ายฯที่มีประสบการณ์สูงกว่า 150 นาย กระจายตามพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อสร้างความพึงพอใจให้ผู้ใช้บริการโครงข่ายฯ และผู้ชมโทรทัศน์ดิจิทัลภาคพื้นดินให้อย่างดีที่สุด”