ผลเท่ อินเด็กซ์ (TE Index) ภาครัฐ โดยรวม 4 ไตรมาสปี 2559 เพิ่มขึ้นทุกปัจจัย ชี้ผลงานเด่น ได้แก่ การสร้างพันธมิตร การเข้าถึงและความเป็นมืออาชีพ ส่วนการกำกับดูแล โปร่งใสปลอดคอร์รัปชั่นยังเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไข
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ประธานสภาปัญญาสมาพันธ์ และประธานอำนวยการบริหารจัดทำดัชนีประสิทธิผลประเทศไทย (เท่ อินเด็กซ์) แถลงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (Public Sector Effectiveness Index – PBE Index) ประจำไตรมาส 4 ปี 2559 พบว่าในภาพรวม ประชาชนให้คะแนนภาครัฐร้อยละ 62.2 ขยับขึ้นร้อยละ 3.3 จากไตรมาสก่อนที่ได้คะแนนร้อยละ 58.9 โดยคะแนนที่เพิ่มขึ้นนั้น เพิ่มขึ้นทุกปัจจัย และเมื่อรวมผลสำรวจ 4 ครั้งในรอบปี 2559 พบว่า เพิ่มขึ้นทุกปัจจัยเช่นกัน โดยผลงานที่เป็นจุดเด่นได้แก่ การเข้าถึง การสร้างพันธมิตร และความเป็นมืออาชีพ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาครัฐจะได้คะแนนเพิ่มขึ้นตลอดทุกไตรมาส แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ความคาดหวังของประชาชน ทั้งนี้ ในไตรมาสนี้ เกณฑ์ที่ประชาชนให้คะแนน “ผ่าน” นั้น อยู่ที่ร้อยละ 72.9 ซึ่งยังห่างอยู่ถึงประมาณ 10%
ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของภาครัฐในไตรมาสนี้คือ การสร้างพันธมิตรและบูรณาการ ได้คะแนนสูงสุดที่ร้อยละ 66.7 จากไตรมาสก่อนซึ่งได้ร้อยละ 62 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 สาเหตุอาจเนื่องจากประชาชนรับรู้ได้ถึงความพยายามของภาครัฐในการทำงานร่วมกับทุกฝ่ายเพื่อฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ ทั้งความร่วมมือและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ความร่วมมือกับภาคเอกชน ตลอดจนการสร้างพันธมิตรในระดับระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ในด้านความเป็นมืออาชีพของภาครัฐ ไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นกว่าไตรมาสก่อนถึงร้อยละ 5.5 จากคะแนน 59.79 ในไตรมาสที่แล้วเป็น 65.34 ในไตรมาสนี้ สาเหตุอาจเนื่องมาจากผลการดำเนินการของภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาประเทศเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ เช่นเดียวกับปัจจัยด้านการกำกับดูแลของภาครัฐ ได้เพิ่มขึ้นในระดับสูง โดยมีผลต่างคะแนนที่เพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 5.1 อาจเนื่องมาจากความพยายามของภาครัฐในการบังคับใช้กฎหมายในด้านต่างๆ เช่น ป่าสงวน ความสงบสุขของสังคม การศึกษา ฯลฯ
ส่วนผลงานที่ได้คะแนนรั้งท้ายอย่างต่อเนื่องทุกไตรมาสมาตลอดทั้งปี ได้แก่ การปลอดคอร์รัปชั่น โดยไตรมาส 4 ได้คะแนนร้อยละ 54.5 เพิ่มจากไตรมาสก่อนเพียงร้อยละ 0.7 สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังมองว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นยังไม่มีความก้าวหน้า ยังไม่เห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม แม้ว่าภาครัฐจะมีความพยายามในการดำเนินนโยบายต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง แต่ประชาชนยังรับรู้และเห็นว่าการทำงานของภาครัฐยังคงมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอยู่ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
ภาพรวมดัชนีประสิทธิผลภาครัฐปี 2559 จากการสำรวจ 4 ครั้งใน 4 ไตรมาสพบว่า ผลงานที่เป็นจุดเด่น ได้แก่ 1) การเข้าถึง สามารถอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ให้ได้รับบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานได้อย่างสะดวกและพอเพียง 2) การสร้างพันธมิตรและบูรณาการสามารถการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนได้อย่างราบรื่น และ 3) ความเป็นมืออาชีพ มีความรู้ความชำนาญในการทำงาน ตลอดจนมีจรรยาบรรณในวิชาชีพ
ส่วนผลงานที่เป็นจุดอ่อนซึ่งได้คะแนนอยู่ในลำดับท้ายๆในทุกไตรมาส ได้แก่ 1) การกำกับดูแล อาทิ การกำหนดกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เป็นธรรมกับคนกลุ่มต่าง ๆ และบังคับใช้กฎหมายอย่างอย่างจริงจัง โดยมองว่า การบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐยังไม่สามารถทำให้เกิดผลได้อย่างชัดเจน 2) ความโปร่งใสอาจเนื่องมาจากการทำงานของภาครัฐยังคงมีงานหลายโครงการที่ประชาชนมองว่าไม่สามารถชี้แจงที่มาและความจำเป็นของนโยบายหรือโครงการรัฐได้ชัดเจน และ 3) การปลอดคอร์รัปชั่นมองว่ายังมีปัญหาเรื่องการทำงานอย่างซื่อสัตย์ ปราศจากผลประโยชน์แอบแฝง ปลอดการรับสินบน และไม่ใช้นโยบายสาธารณะเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ส่วนตน
นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ประชาชนมองว่าเป็นจุดบอดในปี 2559 ที่ผ่านมา ได้แก่ 1) การตอบสนองต่อประชาชนอาจเนื่องจาก ประชาชนมองว่าการทำงานของภาครัฐไม่ได้แก้ปัญหาของประชาชนอย่างตรงประเด็น และในบางกรณีไม่ทันการณ์ แม้ว่าภาครัฐจะพยายามดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาแล้วก็ตามและ 2) ความรับผิดชอบซึ่งมีคะแนนตกลงมากจากไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 3 เนื่องจากประชาชนมองว่าภาครัฐยังไม่แสดงความรับผิดอย่างจริงจังต่อผลกระทบจากการดำเนินงานเชิงลบ เช่น กรณีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการดำเนินงานของภาครัฐ เป็นต้น
หากมองภาพรวม การที่ภาครัฐได้คะแนนเพิ่มสูงขึ้นสะท้อนให้เห็นว่าภาครัฐเดินมาถูกทางแล้ว ดังนั้น ภาครัฐควรเร่งดำเนินนโยบายต่างๆ ต่อไปให้ต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและเข้าถึงการรับรู้ของประชาชนได้ในอนาคต
ภาพรวมดัชนีประสิทธิผลภาครัฐ (เปรียบเทียบระหว่างไตรมาสต่างๆ ตลอดปี 2559)
ลำดับที่ | ไตรมาสที่ 1 | ไตรมาสที่ 2 | ไตรมาสที่ 3 | ไตรมาสที่ 4 |
1 | การตอบสนองต่อประชาชน | การเข้าถึง | การเข้าถึง | การสร้างพันธมิตรและบูรณาการ |
2 | การสร้างพันธมิตรและบูรณาการ | การสร้างพันธมิตรและบูรณาการ | การสร้างพันธมิตรและบูรณาการ | การเข้าถึง |
3 | ความรับผิดรับชอบ | ความเป็นมืออาชีพ | ความรับผิดรับชอบ | ความเป็นมืออาชีพ |
4 | ประสิทธิภาพ | การตอบสนองต่อประชาชน | ความเป็นมืออาชีพ | การตอบสนองต่อประชาชน |
5 | การเข้าถึง | ความรับผิดรับชอบ | การตอบสนองต่อประชาชน | ประสิทธิภาพ |
6 | ความเป็นมืออาชีพ | ประสิทธิภาพ | ประสิทธิภาพ | ความรับผิดรับชอบ |
7 | ความโปร่งใส | การกำกับดูแล | การกำกับดูแล | การกำกับดูแล |
8 | การปลอดคอร์รัปชั่น | ความโปร่งใส | ความโปร่งใส | ความโปร่งใส |
9 | – | การปลอดคอร์รัปชั่น | การปลอดคอร์รัปชั่น | การปลอดคอร์รัปชั่น |