- 2 รายใหญ่วงการขนมร่วมกันเปิด “เพรทซ์ เถ้าแก่น้อย รสโนริสาหร่าย” วางเป็นสินค้าลิมิเต็ด เอดิชั่น ช่วง 3-6 เดือน
- เป็นครั้งแรกของบริษัท ไทยกูลิโกะ ที่ร่วมกับพาร์ตเนอร์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ได้ใช้ในประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว
- เป้าหมาย เพื่อขยายฐานลูกค้าไปยังตลาดที่ไม่ใช่ตลาดตัวเองโดยตรง เนื่องจากปลุกตลาดขนมขบเคี้ยวมูลค่า 3 หมื่นล้าน และตลาดบิสกิต มูลค่า 1.2 -1.5 หมื่นล้าน ที่มีการเติบโตแบบทรงๆ มาตลอด 2-3 ปี
ถือว่าเป็นดีลการจับมือกันครั้งแรกที่ไทยกูลิโกะเลือกจับมือกับพันธมิตรในประเทศไทย “เถ้าแก่น้อย” พัฒนาเป็นสินค้าใหม่ “เพรทซ์ เถ้าแก่น้อย รสโนริสาหร่าย” ตั้งใจวางเป็นสินค้าลิมิเต็ด เอดิชั่น วางจำหน่ายช่วง 3-6 เดือนนี้เท่านั้น
อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ หรือ ต๊อบ แห่งเถ้าแก่น้อย เปิดเผยว่า “ดีลนี้เขาต้องใช้เวลาในการพูดคุยกับประธานบริษัทกูลิโกะ เป็นเวลากว่า 2 ปี (รวมช่วงเวลาในการพัฒนาสินค้า 1 ปี เพราะมองว่าสาหร่ายและบิสกิตสามารถไปด้วยกันได้ เถ้าแก่น้อย และกูลิโกะเองก็อยู่ในแวดวงขนมใกล้เคียงกันอยู่แล้ว”
เหตุผลหลักในการร่วมมือกันครั้งนี้ เนื่องจากตลาดที่ทั้ง 2 แบรนด์อยู่ไม่มีการเติบโตเท่าที่ควรในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพราะด้วยปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และด้วยผู้เล่นในตลาดไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้ตลาดขนมขบเคี้ยวในปี 2558 ที่ผ่านมามีการเติบโต 3% มีมูลค่า 30,000 ล้านบาท ส่วนตลาดบิสกิตมีการเติบโต 4% มีมูลค่าตลาด 12,000-15,000 ล้านบาท
ทั้ง 2 แบรนด์ในฐานะผู้นำตลาดเลยต้องการกระตุ้นตลาดให้กลับมาคึกคักมีสีสันมากขึ้น และสร้างการเติบโตให้ตลาด อีกทั้งยังได้ลองขยับเข้าสู่ตลาดอื่นเพื่อให้ได้ฐานลูกค้าใหม่ๆ เพิ่มเติมด้วย
โดยทั้งคู่จะใช้จุดแข็งของแต่ละรายมาผสมผสานกัน กลายเป็น กูลิโกะ เพรทซ์ รสโนริสาหร่าย ลิมิเต็ด เอดิชั่น ราคา 15 บาท กูลิโกะรับผิดชอบช่องทางโมเดิร์นเทรดทั้งหมด ส่วนเถ้าแก่น้อยรับผิดชอบช่องทางร้านค้าตัวเองที่มี 7 สาขา พร้อมกลยุทธ์ตลาดครบวจรทั้งบีโลว์เดอะไลน์และอโบฟเดอะไลน์ คาดว่าจะจำหน่ายเพียง 3 เดือนเท่านั้นสินค้าก็คงจะหมด
อิทธิพัทธ์ บอกว่า การร่วมมือกันนอกจากทำให้มีความเคลื่อนไหวแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่ที่จะได้ขยายฐานกลุ่มลูกค้าของทั้งสองแบรนด์ด้วย ที่มีฐานลูกค้าต่างกันคือ กลุ่มชอบบิสกิต และกลุ่มชอบสาหร่าย
“ในอนาคตอาจจะเป็นไปได้ที่เราจะมีการร่วมมือกันที่มากกว่านี้หรือรวมทั้งกับรายอื่นได้ด้วยและเราก็พยายามเน้นกลยุทธ์โคแบรนด์ร่วมกันแต่ต้องดูความเหมาะสมทั้งแบรนด์และสินค้าด้วย
กฤษฎา นุรักษ์เข ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไป กลุ่มงานการขาย บริษัท ไทยกูลิโกะ จำกัด กล่าวว่า ตลาดขนมขบเคี้ยวและตลาดบิสกิตในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้มีการเติบโตแบบทรงๆ เพราะด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง
“แต่สิ่งหนึ่งที่เรามองเห็นเหมือนกัน คือ เราจะจำกัดตัวเองอยู่ในตลาดเดิมๆ ไม่ได้แล้ว จะไม่มีการเติบโต และยิ่งเป็นผู้นำตลาดไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาตลาดก็ยิ่งไม่โตเข้าไปอีก ทำให้ถึงมีการร่วมมือกันกับเถ้าแก่น้อยในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ทางไทยกูลิโกะได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ในประเทศ”
ปกติแล้วทางกูลิโกะในประเทศญี่ปุ่นได้ใช้กลยุทธ์นี้ในการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อออกสินค้าใหม่ หรือออกเป็นสินค้าพิเศษช่วงเทศกาล โดยที่ไม่ได้จำกัดจะต้องเป็นแบรนด์ใหญ่อย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น บรั่นดี เมล่อน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปลูกเมล่อนได้ แต่ต้องเป็นสินค้ามีคุณภาพ ในประเทศไทยได้เริ่มนำร่องกับเถ้าแก่น้อย หลังจากนั้นอาจจะพัฒนาไปยังแบรนด์อื่นต่อๆ ไป