“ออมสิน สุดยอดแนวคิดพลิกธุรกิจไทย”เตรียมพร้อมเป็นผู้ประกอบการ

10 ทีมออมสิน สุดยอดแนวคิดพลิกธุรกิจไทย Startup Thailand by GSB บินลัดฟ้าสู่แดนปลาดิบ เติมประสบการณ์ดูงานการออกแบบผลิตภัณฑ์และสินค้าโอท็อป ณ ศูนย์งานหัตถกรรมเมืองเกียวโต ศูนย์การออกแบบอุตสาหกรรมเมืองโอซาก้า พิพิธภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  และศูนย์ดูแลสนับสนุนผู้ผลิตในอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางประเทศญี่ปุ่น

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยถึง โครงการประกวด “ออมสิน สุดยอดแนวคิดพลิกธุรกิจไทย” Startup Thailand by GSB ปี 2559 ว่า ช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาธนาคารได้พาผู้เข้ารอบทั้ง 10 ทีมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อปฏิบัติภารกิจโปรแกรม Outing Startup เพื่อเตรียมความพร้อมกับการเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งเป็นพันธกิจสุดท้ายของโครงการ และถือเป็นการปิดโครงการฯ ในปีนี้ด้วยความสำเร็จอย่างงดงาม โดยทั้ง 10 ทีม ได้เติมประสบการณ์จากการดูงานพิพิธภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป The Momofuku Ando Instant Ramen Museum)-Grand Front Osaka งานด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และสินค้าโอท็อป ณ ศูนย์งานหัตถกรรมเมืองเกียวโต (Kyoto Handicraft Center)  ศูนย์การออกแบบอุตสาหกรรมเมืองโอซาก้า (Osaka Design Center)และศูนย์ดูแลสนับสนุนผู้ผลิตในอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลาง MOBIO(Monodzukkuri Business Information Center-OSAKA) ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีค่าที่ทุกทีมได้รับจากโครงการประกวดฯ

โครงการประกวด “ออมสิน สุดยอดแนวคิดพลิกธุรกิจไทย” Startup Thailand by GSB เป็นเวทีสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีการเรียนรู้ และเสริมสร้างประสบการณ์ในการทำธุรกิจ นอกจากเงินรางวัลแล้ว โครงการฯ ได้สอดแทรกให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องธุรกิจ ทั้งการจัด GSB Camp ให้ผู้เข้ารอบ 100 ทีม และจัด Coaching Day : 10 STYLES by 10 GURUs” ที่เป็นการติวเข้มสำหรับผู้เข้ารอบ 10 ทีม โดยมี  นักธุรกิจคลื่นลูกใหม่ชั้นแนวหน้า และผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาชี้แนะและให้คำปรึกษา สำหรับ Outing Startupเป็นโปรแกรมเพิ่มประสบการณ์ด้วยการพาไปดูงานจริง ด้านต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ ธนาคารมุ่งหวังให้มีการนำแนวคิดไปต่อยอดธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม นำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ทั้งกับธุรกิจและชีวิตประจำวันได้ต่อไป

นางสาวจิรนันท์ ทรัพย์ศรีโสภา, นายจิรพงศ์ ทรัพย์ศรีโสภา และนายธนากร เตือนวชาติ จากทีม Healthticket ทีมชนะเลิศ เปิดเผยว่า การดูงานด้านต่างๆ ในครั้งนี้ ได้ประโยชน์อย่างมาก ซึ่งทีมสามารถจะนำความรู้ที่ได้จากทุกที่มาปรับปรุงบริการได้  ทำให้ได้ความรู้และแนวทางในการนำเสนอประวัติศาสตร์ของบริษัท การให้ความรู้เรื่องSME หรือบริษัทขนาดกลางสามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ถ้ามีตัวกลางในการจับคู่ค้าระหว่างลูกค้ากับผู้ผลิต การจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มฐานลูกค้า เช่น การจัดevent ทางการแพทย์ เป็นต้น  นอกจากนั้นยังมีการแนะเทคนิคมารยาทต่างๆ ในการทักทาย เจรจา การเขียน และการแลกนามบัตร ซึ่งจะเป็นผลดีในการติดต่อกับลูกค้าชาวญี่ปุ่นในอนาคตได้

นายรัฐชาติ พลเสน จากทีม PITAK รองชนะเลิศอันดับที่ 1 กล่าวว่า ประทับใจโปรแกรมดังกล่าว เนื่องจากได้ความรู้มากมายจากประเทศที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเฉพาะการดูงานที่ศูนย์การออกแบบอุตสาหกรรมเมืองโอซาก้า (Osaka Design Center) ทำให้รู้ถึงการออกแบบจากญี่ปุ่นแต่ละชิ้น จะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มี Gimmick ที่จะทำให้รู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถจะนำมาปรับใช้กับผลิตภัณฑ์ของเราได้ และนอกจากนั้นยังทำให้ได้เพื่อนเพิ่มขึ้นจากโปรแกรมนี้อีกด้วย

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติม หรือติดตามความเคลื่อนไหว ได้ที่www.gsb100tomillion.comหรือwww.facebook.com/gsb100tomillion