วางแผนเรียนต่อให้ลูก พิชิตท็อปคลาสที่อังกฤษ

ธุรกิจบริการไพรเวทแบงค์ ธนาคารกสิกรไทย ร่วมกับ บริษัท ไนท์แฟรงก์ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดสัมมนา “UK Education and UK Properties Investment with Knight Frank” และนำลูกค้าไพรเวทแบงกิ้ง ธนาคารกสิกรไทยเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนระดับท็อปคลาสยังสหราชอาณาจักร เพื่อให้คำแนะนำเชิงลึกในการคัดเลือกโรงเรียน และเตรียมความพร้อมให้กับบุตรหลานเพื่อศึกษาในสถาบันการศึกษาชั้นนำในระดับชั้นต่างๆ ของสหราชอาณาจักร หนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก และเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักเรียนนักศึกษาต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลก ซึ่งโรงเรียนใน สหราชอาณาจักรจะเปิดการเรียนภาคเรียนแรกในช่วงเดือนกันยายน ดังนั้นผู้ปกครองจะมีเวลาเกือบ 1 ปีในการหาข้อมูล ติดต่อประสานงาน และดำเนินกระบวนการในการเข้าศึกษาในปีหน้าต่อไป

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า “การลงทุนที่มั่งคั่งยั่งยืน คือ การลงทุนในการศึกษา ธนาคารกสิกรไทย จึงได้ร่วมมือกับไนท์ แฟรงค์ ประเทศไทย (Knight Frank) และคีสโตน ติวเตอร์ เพื่อให้คำแนะนำเชิงลึกในการเตรียมพร้อม และวางแผนการศึกษาของบุตรหลาน เพื่อการศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาชั้นนำของสหราชอาณาจักร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการศึกษาของโลก ห ยิ่งกว่านั้นการพาลูกค้าที่สนใจเดินทางมาสำรวจโรงเรียนระดับท็อปคลาสชาย 8 แห่งได้แก่ Charterhouse School, Eton College, Cothill School, Summer Fields, Stowe School, Oundel School, Dragon School, Harrow School และโรงเรียนระดับท็อปคลาสหญิง 3 แห่ง ได้แก่ ST Mart’s Calne, Cheltenham Ladies’College และ Wycombe Abbey จะช่วยให้ลูกค้าได้รับข้อมูลเชิงลึกจากคณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญในสถานที่จริง พร้อมทีมงานผู้เชี่ยวชาญจากทาง ไนท์ แฟรงค์ เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจในการเลือกสรรสถาบันการศึกษาให้กับบุตรหลาน

มร. วิลล์ เออร์-วิง ผู้อำนวยการบริษัท คีสโตน ติวเตอร์ และเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการเตรียมความพร้อมเพื่อศึกษาต่อในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า สหราชอาณาจักร ถือเป็นศูนย์กลางการศึกษาระดับโลก สถาบันการศึกษาส่วนใหญ่เป็นสถาบันเก่าแก่ที่มีประวัติมายาวนาน และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะโรงเรียนมัธยมในสหราชอาณาจักรที่ได้ชื่อว่าเป็นแม่แบบของระบบการศึกษาของโลก การศึกษาในสหราชอาณาจักรอังกฤษแบ่งโครงสร้างออกเป็น 4 ช่วงอายุ คือ 5 – 8 ปี ระดับเตรียมประถมศึกษา (Pre-Preparatory School) 8 – 13 ปี ระดับประถมศึกษา (Preparatory School) 13 – 18 ปี ระดับมัธยมศึกษา (Secondary School) และ ช่วงอายุ 18 ปี เป็นต้นไป ระดับอุดมศึกษา (University) การตัดสินใจนำลูกไปเข้าศึกษาที่ประเทศอังกฤษในแต่ละช่วงชั้นเรียน จะส่งผลต่อการเตรียมความพร้อมในการได้รับคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยยอดนิยมแตกต่างกันไป ยิ่งเริ่มต้นเร็วก็จะมีโอกาสได้เริ่มเตรียมความพร้อมเร็วขึ้น และค้นหาตัวตน ความชอบ และความต้องการของเด็กได้เร็วขึ้น

มร. เออร์-วิง ได้ให้คำแนะนำว่า โรงเรียนประจำในสหราชอาณาจักร มีระบบการศึกษาที่ได้มาตรฐาน มีกิจกรรมนอกหลักสูตรมากมาย ซึ่งได้รับการออกแบบเพื่อทำให้เด็กค้นพบกับประสบการณ์รูปแบบใหม่ที่จะดึงศักยภาพ และความสามารถหรือพรสวรรค์ที่พวกเขามี สิ่งสำคัญที่สุดในการคัดสรรสถาบันการศึกษาให้กับบุตรหลาน คือ ให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการเลือกด้วย โดยให้พวกเขาได้ไปเยี่ยมชมโรงเรียนที่ผู้ปกครองได้มองไว้ เพื่อดูว่า พวกเขาชอบโรงเรียนแบบไหน ข้อควรคำนึงคือ โรงเรียนจะเป็นแบบไหนขึ้นอยู่กับครูใหญ่เป็นสำคัญ ควรเข้าพบซักถามครูใหญ่เพื่อจะได้ทราบแนวทางการบริหารจัดการของโรงเรียน สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น สนามกีฬา ห้องสมุด โรงละคร ห้องดนตรี และต้องดูว่ากิจกรรมนอกหลักสูตรมีอะไรบ้าง วันหยุดสุดสัปดาห์ เด็กจะได้ทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ เพราะทุกคำถามล้วนมีผลโดยตรงต่อความสุขของพวกเขา การใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานที่และผู้คนที่ไม่คุ้นเคย พวกเขาต้องมีความสุขกับการเรียนและการใช้ชีวิต เพื่อเป้าหมายสำคัญคือ การได้รับการศึกษาที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของพวกเขา

แนวทางการคัดเลือกสถาบันการศึกษาในสหราชอาณาจักร

  1. ตั้งคำถามเพื่อคัดกรองโรงเรียน คำถามเหล่านี้ ทำให้ผู้ปกครองเริ่มมีทิศทางในใจในการเตรียมตัว และคัดกรองให้ตัวเลือกมีความชัดเจนขึ้น

  • โรงเรียนที่มองไว้ เปิดรับนักเรียนตั้งแต่อายุเท่าไร และมีกำหนดการเปิดรับสมัครเมื่อใด – เริ่มต้นดูโรงเรียนที่เข้าเกณฑ์อายุ และความพร้อมในการเตรียมตัวสมัคร

  • เป็นโรงเรียนชายล้วน หญิงล้วน หรือโรงเรียนสหศึกษา

  • เป็นโรงเรียนไปกลับหรือโรงเรียนประจำ – โรงเรียนประจำมีทั้งรูปแบบที่เป็นโรงเรียนประจำแบบยืดหยุ่น สามารถกลับบ้านได้บ้างในระหว่างเทอม และโรงเรียนประจำเต็มรูปแบบที่อนุญาตให้กลับบ้านได้เฉพาะช่วงปิดเทอมเท่านั้น ซึ่งรูปแบบของโรงเรียนประจำจะมีผลต่อความรู้สึกของนักเรียนต่างชาติ

  • ความสะดวกในการเดินทางระหว่างโรงเรียนกับสนามบิน – ที่ตั้งโรงเรียนมีความสำคัญมากกับนักเรียนต่างชาติชาติ เพราะระยะทางที่ห่างไกล และเวลาที่ไม่ตรงกัน ส่งผลกับการเดินทางไปกลับเมืองไทยของเด็ก และการเดินทางไปเยี่ยมของผู้ปกครอง

  1. ศึกษารายละเอียดของโรงเรียน

  • หลักสูตรการศึกษา – หลักสูตรที่แตกต่างกันจำนวนวิชาเรียนก็แตกต่างกัน หลักสูตร A Level เรียนน้อยวิชากว่า แต่เน้นความเข้มข้นในวิชาที่เลือกเรียน และตรงกับวิชาที่จะใช้สอบใช้ศึกษาระดับอุดมศึกษา ในขณะที่หลักสูตร International Baccalaureate (IB) เรียนกว้างกว่า จำนวนวิชามากกกว่า และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ใช้เวลาหาทางเลือกให้ตัวเองมากขึ้น

  • วิธีวัดผลทางการศึกษาของโรงเรียน – รูปแบบการประเมินผลการเรียนของนักเรียนมีผลสำคัญต่อการการรายงานผลทางการศึกษาที่จะนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยที่จะตัดสินใจเลือกในอนาคต

3) ความถนัดและความชอบของบุตรหลาน

  • วิชาที่โรงเรียนถนัด – วิชาที่โรงเรียนมีความถนัดจะส่งผลโดยตรงต่อการฝึกทักษะความสามารถ ความชำนาญของนักเรียน ควรเลือกโรงเรียนที่แข็งในวิชาที่ลูกชอบ หรือจะใช้เพื่อวัดผลเข้ามหาวิทยาลัยในอนาคต

  • กิจกรรมนอกหลักสูตรที่โดดเด่นของโรงเรียน – โรงเรียนแต่ละโรงเรียนมีกิจกรรมหลักประจำโรงเรียนไม่เหมือนกัน ควรเลือกให้สอดคล้องกับความชอบของลูก เช่น ลูกชอบเล่นฟุตบอล ก็ควรเลือกโรงเรียนที่ส่งเสริมกีฬาฟุตบอล เพราะบางโรงเรียนเน้นกีฬารักบี้ กีฬาเทนนิส ในขณะที่บางโรงเรียนอาจจะเน้นเรื่องดนตรี

  • รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับนักเรียน – เป็นคำถามที่พ่อแม่นักเรียนต่างชาติจะต้องหาคำตอบให้ถี่ถ้วน เพราะคณะครูและทีมงานในโรงเรียนจะมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมเด็ก และทำให้นักเรียนรู้สึกอบอุ่นใจเมื่อต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่