ระเบิดศึก “เน็ต ไฟเบอร์”

ตลอดช่วงปีที่ผ่านมา การที่มีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาดฟิกซ์ บรอดแบนด์ หรืออินเทอร์เน็ตภายในครัวเรือนเข้ามาเป็นรายที่ 4 ในตลาด ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายเดิมที่เป็นเจ้าตลาดต้องมีการขยับตัว ประกอบกับแรงแข่งขันของผู้เล่นใหม่ที่ขยายพื้นที่ให้บริการเพิ่มมากขึ้น จนเข้าสู่การแข่งขันทางด้านราคาในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา

ส่งผลให้ปัจจุบัน ระดับราคาของเน็ตบ้าน ที่คงระดับราคาต่ำสุดไว้ที่ 590 บาท มานานหลายปี ก็เพิ่มความเร็วขึ้นมาอยู่ในระดับ 20 Mbps ภายใต้เทคโนโลยีใหม่อย่างไฟเบอร์ ที่กลายเป็นเทคโนโลยีหลักที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทั้ง 4 ราย ต่างมุ่งไปตามแนวโน้มของเทคโนโลยีบรอดแบนด์ที่จะเกิดขึ้นหลักจากยุคของ ADSL และ VDSL ที่ให้บริการกันอยู่ในปัจจุบัน

เมื่อมองถึงสภาพตลาดในปัจจุบันจะพบว่า ทรู ออนไลน์ ภายใต้กลุ่มทรู ยังครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุด ด้วยจำนวนฐานลูกค้ากว่า 2.7 ล้านราย กับการใช้กลยุทธ์คอนเวอร์เจนซ์เป็นหลักในการทำธุรกิจ เพื่อให้ทรูมูฟ เอช และทรู ออนไลน์ ช่วยอุ้มบริการอย่างโทรศัพท์บ้าน และทรูวิชั่นส์ ที่มีรายได้ลดลง

วิธีที่ทรู ออนไลน์ ใช้ในการทำตลาดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ การรวมบริการในกลุ่มด้วยการทำให้ลูกค้าที่ใช้ทรู ออนไลน์ สามารถใช้งานทรูวิชั่นส์ เพื่อรับชมคอนเทนต์เพิ่มเติม พร้อมกับเปิดโอกาสให้สมัครซื้อคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟเพิ่ม ขณะที่ในส่วนของทรูมูฟ เอช ก็จะใช้ขยายฐานลูกค้าไปในตัวด้วยการมอบค่าบริการเสริมให้ฟรีเมื่อเปิดใช้บริการเพิ่มเติม

ถัดมาในส่วนของ ทริปเปิล ที บรอดแบนด์ หรือ 3BB ที่ปัจจุบันครองส่วนแบ่งเป็นอันดับ 2 ด้วยฐานลูกค้า 2.345 ล้านราย หลังจากที่สร้างชื่อกระฉ่อนหักหลังกสทช.ทิ้งใบอนุญาตคลื่นความถี่หลังชนะประมูลแบบข้ามวันข้ามคืนของ JAS ก็เริ่มกลับมาโฟกัสในตลาดฟิกซ์บรอดแบนด์มากขึ้น ด้วยการทยอยเพิ่มจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ พร้อมปรับแพกเกจให้บริการเฉพาะ 200 Mbps ราคาเดียว 1,200 บาท มาเป็นแพกเกจหลักให้ลูกค้าเลือกใช้งาน

ขณะที่ในกลุ่มของลูกค้าที่ใช้บริการ ADSL เดิมก็ใช้การขยับเทคโนโลยีในการให้บริการขึ้นมาเป็น VDSL โดยเป็นแผนที่ไม่ต้องลงทุนในการลากสายใหม่ เพื่อให้บริการลูกค้าเดิม แต่ข้อเสียก็คือ จะเป็นกลยุทธ์สำหรับทำตลาดในระยะสั้น เนื่องจากด้วยเทคโนโลยีของ VDSL กับความเร็วที่ให้บริการในปัจจุบันถือว่าสูงชนเพดานแล้ว ไม่สามารถขยายเพิ่มเติมได้อีก

ในส่วนของ ทีโอที กลับเป็นผู้ให้บริการที่โดนชิงลูกค้าไปมากที่สุด แม้ว่าปัจจุบันจะครองอันดับ 3 ในตลาด แต่ก็โดนทั้งทรู และ 3BB แย่งลูกค้าที่เป็นฐานหลักในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ฐานลูกค้าในปัจจุบันลงมาอยู่ที่ราว 1.6 ล้านราย โดยกลยุทธ์ที่ทีโอที ใช้ในเวลานี้ก็คือ การพยายามปรับราคาอินเทอร์เน็ต ไฟเบอร์ ให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น

สุดท้าย ผู้ให้บริการรายใหม่อย่าง เอไอเอส ไฟเบอร์ ที่ล่าสุด ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา มีฐานลูกค้าอยู่ราว 1.95 แสนราย และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 3 แสนรายภายในสิ้นปีนี้ กลับเป็นรายที่มีการเติบโตมากที่สุด ด้วยอัตราการเติบโตต่อไตรมาสไม่ต่ำกว่า 70% โดยลูกค้าหลักจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เปลี่ยนเทคโนโลยีจาก ADSL เป็นไฟเบอร์

โดยกลยุทธ์หลักของเอไอเอส คือ การให้บริการไฟเบอร์บรอดแบนด์ 100% ที่หวังจะมาเสริมการใช้งานให้แก่ฐานลูกค้าโทรศัพท์มือถือของเอไอเอส ที่จะได้รับส่วนลดเพิ่มเติม เป็นแนวทางในการดูแลลูกค้าที่ใช้งานมือถือมากกว่า เพราะปัจจุบัน สัดส่วนลูกค้าของไฟเบอร์กว่า 70% มีการใช้งานเอไอเอสด้วย

ศรัณย์ ผโลประการ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานบริหารธุรกิจฟิกซ์ บรอดแบนด์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ให้ความเห็นว่า จากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทำให้ปัจจุบันมีการเติบโตไม่สูงมากนัก ทำให้เอไอเอส เริ่มมองหาธุรกิจที่จะมาช่วยเสริมรายได้ในอนาคต ซึ่งเอไอเอส ไฟเบอร์ ถือเป็นธุรกิจพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดไปยังบริการอื่นที่จะเกิดขึ้น

1_ais

“เป้าหมายหลักของเอไอเอส ไฟเบอร์ ในเวลานี้คือ ต้องการขึ้นเป็นอันดับ 2 ของผู้ให้บริการฟิกซ์ บรอดแบนด์ ภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่งการที่จะขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาดได้ ต้องมีฐานลูกค้าไม่ต่ำกว่า 2.5 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 25% ในตลาด”

ขณะเดียวกัน ยังมองว่า การแข่งขันที่เกิดขึ้นในอนาคตจะไม่ได้อยู่กับความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ผู้ให้บริการเสนอแก่ผู้บริโภค แต่จะรวมถึงบริการที่เกี่ยวเนื่อง ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ใช้งานให้แก่ผู้ใช้ รวมถึงการได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ เพิ่มเติม

“การทำราคาแข่งขันในปัจจุบันกำลังจะใกล้ถึงจุดที่ความเร็วในการให้บริการเพียงพอกับการใช้งานของผู้บริโภคแล้ว อย่างแพกเกจ 100 Mbps ก็พอกับการใช้งานภายในครัวเรือน และไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้งานความเร็วสูงกว่านี้ จนกว่าจะมีการมาของคอนเทนต์ในระดับ 4K ที่จะแพร่หลายขึ้นในอนาคต”

โดยปัจจุบัน การใช้งานสตรีมมิ่งคอนเทนต์ระดับ Full HD จะต้องใช้ความเร็วในการดาวน์โหลดประมาณ 6-7 Mbps ดังนั้น ถ้าใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วระดับ 100 Mbps ก็สามารถสตรีมมิ่งคอนเทนต์ได้พร้อมๆ กัน 10 ดีไวซ์ภายในครัวเรือน ซึ่งถือว่าเกินความต้องการในการใช้งานทั่วไปอยู่แล้ว

ดังนั้น สิ่งที่จะทำให้เกิดการแข่งขันในอนาคต คือ เรื่องของคอนเทนต์ อย่างที่เห็นว่า ในช่วงหลังทรูวิชั่นส์ มีการดึงคอนเทนต์มาให้บริการเสริมเมื่อใช้งานผ่านทรู ออนไลน์ มากขึ้น อย่างการรับชมฟุตบอล พรีเมียร์ลีก ผ่านหน้าเว็บไซต์ ขณะที่เอไอเอส ก็จะมีการให้บริการคอนเทนต์ผ่านอุปกรณ์อย่าง AIS Playbox มาให้ลูกค้าเข้าถึงคอนเทนต์

“การนำคอนเทนต์ที่น่าสนใจมาตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้รับชมคอนเทนต์ที่ไม่คาดคิด หรือเอ็กซ์คลูซีฟคอนเทนต์ จะกลายเป็นแกนหลักของการแข่งขันในตลาดไฟเบอร์ปีหน้าในกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม ขณะที่เรื่องของโปรโมชั่นในกลุ่มผู้ใช้งานเริ่มต้นก็จะยังมีอยู่ต่อเนื่อง”

แนวโน้มการเติบโต ฟิกซ์ บรอดแบนด์

จากข้อมูลสถิติล่าสุด พบว่า ปัจจุบัน ครัวเรือนไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ภายในครัวเรือนราว 7 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 32.9% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 46% ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นราว 10.47 ล้านครัวเรือนที่เข้าถึงเน็ตความเร็วสูง

นอกจากนี้ ยังพบแนวโน้มในการเปลี่ยนเทคโนโลยีที่ใช้บริการจากปัจจุบันกว่า 70-80% ยังใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่าน ADSL แต่คาดว่าภายใน 3-4 ปีข้างหน้า ไฟเบอร์จะเข้ามาทดแทน และมีสัดส่วนมากกว่า ADSL เนื่องจากปัจจุบัน ผู้ให้บริการทุกรายต่างเร่งปรับเทคโนโลยีในการให้บริการ เพื่อให้ได้คุณภาพการใช้งานที่ดีขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ทรู ออนไลน์ จะมีการทยอยเข้าไปเปลี่ยนระบบจาก ADSL ของลูกค้าเดิมให้กลายเป็นไฟเบอร์ ส่วนลูกค้าของ 3BB ถ้าอยู่ในพื้นที่ให้บริการไฟเบอร์ ก็จะทยอยเปลี่ยนมาใช้งานไฟเบอร์ ขณะที่เอไอเอส ก็จะมีโอกาสในการเข้าไปติดตั้งอินเทอร์เน็ตไฟเบอร์ให้แก่ลูกค้าใหม่ เพื่อเข้าสู่ตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง

“การแข่งขันในตลาดไฟเบอร์ตอนนี้ยังไม่ได้เป็นการแย่งลูกค้ากันระหว่างผู้ให้บริการ แต่จะเป็นส่วนของการแทนที่ตลาด ADSL ก่อน เพราะด้วยคาปาซิตีในการติดตั้งให้บริการลูกค้าใหม่ในแต่ละวันก็ไม่เพียงพอแล้ว ถ้ามีการทำโปรโมชั่นเพิ่มเติมก็อาจจะส่งผลกระทบกับบริการได้”

สงครามราคากับแพกเกจใต้ดิน

หนึ่งในข้อมูลที่น่าสนใจในตลาดฟิกซ์ บรอดแบนด์ คือ ค่าบริการเฉลี่ยต่อรายต่อเดือน (ARPU) ที่แม้ว่าราคาแพกเกจต่ำสุดที่ให้บริการจะอยู่ที่ 590 บาท แต่รายได้ของผู้ให้บริการทุกรายต่างอยู่ในระดับ 500 กว่าบาท แทนที่ค่าบริการเฉลี่ยจะสูงกว่าราคาต่ำสุด เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีการนำเสนอโปรโมชั่นส่วนลดพิเศษเพิ่มเติมให้แก่ลูกค้า

กลยุทธ์ใต้ดินที่เกิดขึ้นในเวลานี้ คือ การย้ายค่ายของลูกค้า ที่เริ่มมีการนำเสนอโปรโมชั่นลด 50% นาน 6-12 เดือน เมื่อลูกค้าเปลี่ยนจากผู้ให้บริการรายเดิมมาเป็นผู้ให้บริการรายใหม่ หรือคิดบริการ 6 เดือนแรก ในราคาเดือนละ 100 บาท เพื่อจูงใจลูกค้าให้สมัครใช้งานเป็นต้น

“ในมุมของเอไอเอส มองว่า ช่วง 2-3 ปีแรกจะเป็นช่วงที่เน้นการเพิ่มฐานลูกค้า ดังนั้น จึงมีการนำเสนอโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง และจากพื้นฐานของธุรกิจบรอดแบนด์ส่วนใหญ่จะเริ่มสร้างรายได้ในปีที่ 3 ขึ้นไป ดังนั้น ในช่วงปีแรกค่าบริการต่างๆ จะถูกคิดให้ครอบคลุมค่าติดตั้ง และค่าอุปกรณ์ก่อน และจะเริ่มสร้างรายได้เมื่อใช้งานนานเกิน 12 เดือนขึ้นไป”

โดยจากฐานลูกค้าของเอไอเอส ไฟเบอร์ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะนิยมสมัครแพกเกจเริ่มต้นกว่า 50% ถัดมา คือ กลุ่มที่ใช้งานความเร็วระดับ 50/10 Mbps คิดเป็น 25% ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มความเร็วขึ้นเป็น 100/10 Mbps ในอนาคต ส่วนที่เหลือจะอยู่ในกลุ่มที่ใช้งานความเร็ว 30 Mbps ส่วนลูกค้าที่ใช้งานความเร็วระดับ 200 Mbps จะมีอยู่ราว 10%

คุณภาพ-บริการ สะท้อนการตอบรับลูกค้า

แน่นอนว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้บริการยังคงอยู่ที่คุณภาพของสัญญาณ ความเร็วที่ได้ และบริการหลังการขาย ซึ่งจากเทคโนโลยีอย่างไฟเบอร์ ทำให้ปัญหาในแง่ของสัญญาณ และความเร็ว กลายเป็นสิ่งมาตรฐานที่ทุกรายสามารถให้บริการได้ แต่ส่วนของบริการหลังการขาย รวมถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของคอลเซ็นเตอร์จะกลายเป็นสิ่งชี้วัดความสำเร็จในอนาคต

สภาพตลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ ทรู ออนไลน์ ที่เป็นผู้นำตลาด ถือเป็นผู้ให้บริการที่มีความเชี่ยวชาญในการแก้ไขปัญหามากที่สุด เพราะมีประสบการณ์อยู่ในตลาดบรอดแบนด์มายาวนาน แต่เมื่อก้าวเข้าสู่การให้บริการไฟเบอร์สู่ผู้บริโภคทั่วไป ทุกรายก็เหมือนกับเริ่มต้นใหม่ไปด้วยกัน

ลูกค้าที่ใช้งาน ADSL เจ้าเดิมอยู่ในเมื่อต้องมีการลากสายไฟเบอร์ใหม่ จึงทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบว่า จะใช้บริการของผู้ให้บริการรายเดิม หรือจะเปลี่ยนผู้ให้บริการ ดังนั้น สิ่งที่ทุกเจ้าต้องทำในตอนนี้ คือ การเพิ่มคุณภาพของช่างที่เข้าไปติดตั้งหน้างานให้สามารถทำงานได้ตรงตามเวลาที่ได้รับมอบหมายไว้

“ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของเอไอเอส ไฟเบอร์ คือ ช่างติดตั้งยังไม่มีความชำนาญ แต่หลังจากเริ่มให้บริการมาเกือบ 2 ปี ปัญหาดังกล่าวเริ่มถูกแก้ไขให้ดีขึ้น ปัจจุบันสามารถเข้าไปติดตั้งให้ลูกค้าใหม่ได้ราววันละ 1,500 ราย ที่ใกล้เคียงกับทรู ออนไลน์ และ 3BB ซึ่งแน่นอนว่า ในอนาคตก็ต้องมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นกัน”

สุดท้าย ในประเด็นของสัญญาในการติดตั้งเพื่อใช้บริการ 12 เดือน ที่ทางผู้ให้บริการทุกรายกำหนดขึ้นมาให้แก่ลูกค้าที่ติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แม้ว่าทาง กสทช.จะกำหนดให้ลูกค้าสามารถยกเลิกได้เมื่อไม่พอใจในการใช้บริการนั้น ทางผู้ให้บริการก็เปิดโอกาสให้ลูกค้าสามารถยกเลิกได้ เพียงแต่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในส่วนของค่าเดินสาย ค่าอุปกรณ์ และค่าติดตั้งที่ได้รับเป็นส่วนลดจากการเซ็นสัญญาใช้งาน

ที่มา : http://astv.mobi/Ax5jv8Z