ทีมไทย คว้า 8 รางวัล APICTA ที่ไต้หวัน ยกระดับ “นักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย” สู่เวทีโลก

ปีแห่งความสำเร็จของเหล่าทีมจากประเทศไทยที่เข้าร่วมการ “ประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ “Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards”  ณ กรุงไทเป  ไต้หวัน โดยทีมจากประเทศไทยได้รับรางวัลทั้งสิ้น 8 รางวัล แบ่งเป็นรางวัลชนะเลิศ 1 รางวัล และรางวัลรองชนะเลิศ 7 รางวัล การันตีว่าผลงานของคนไทยไม่แพ้ชาติใด

สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (SIPA) และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) จัดงานประกาศความสำเร็จของเหล่าทีมจากประเทศไทยที่คว้ารางวัลในการประกวด APICTA โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ บริษัท อีคาร์ทสตูดิโอ จำกัด จากผลงาน ระบบ LIMS (Location Information Management System) ในหมวด Financial Industry Application ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ APICTA Awards เป็นครั้งที่ 3 จาก Application ที่แตกต่างกัน

ดร. ธนชาติ นุ่มนนท์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า จากการเฟ้นหาทีมซอฟต์แวร์ที่สุดยอดจากประเทศไทย ผ่านการประกวดโครงการ THAILAND ICT AWARDS (TICTA) จัดโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จนได้ทีมตัวแทนจากผู้ชนะในเวทีเพื่อเข้าร่วมประกวดระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards อีกทั้งเป็นการนำเสนอผลงานความคิดของคนไทยเผยแพร่แก่กลุ่มผู้ใช้ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ในการสร้างและส่งเสริมอุตสาหกรรมไอซีทีของประเทศให้มีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้น เกิดความตื่นตัวในการผลิตและพัฒนาผลงานที่มีคุณภาพ ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ต่อยอดเป็นการพัฒนาเชิงธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านซอฟต์แวร์ในระดับนานาชาติ ผลักดันไอทีไทยสู่เวทีโลก

สำหรับการประกวดผลงานด้านซอฟต์แวร์ระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หรือ Asia Pacific ICT Alliance (APICTA) Awards ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 5 ธันวาคม 2559 ณ กรุงไทเป ไต้หวัน ที่ผ่านมา โดยมีเกณฑ์พิจารณาตัดสิน ได้แก่ Uniqueness, Market Potential, Functionality/Features, Quality/Application of Technology และ Application

นายวุฒิกร มโนมัยวิบูลย์ บริษัท อีคาร์ทสตูดิโอ จำกัด เจ้าของผลงานระบบ LIMS ช่วยบริหารจัดการธุรกิจประกันภัยรถยนต์ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ APICTA กล่าวว่า ระบบที่เราไปนำเสนอนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ระบบ LIMS for Call Center Dispatcher ซึ่งเป็นระบบที่เราได้พัฒนาขึ้นเพื่อช่วยบริหารจัดการงานส่วนของ Call Center บริษัทประกันภัยรถยนต์ หลังจากที่ลูกค้าได้แจ้งเหตุเพื่อเคลมประกันภัยรถยนต์ผ่าน E-Policy ใน Wallet  ที่ได้ร่วมกับบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ (Apple Computer Inc.) แล้ว โดยระบบจะช่วยอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนการทำงานภายในทีม Call Center ซึ่งสามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และทันท่วงทีกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น

นอกจากนั้น ได้พัฒนา E-Policy for Client (On Wallet) เป็นกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์แทนการถือกรมธรรม์กระดาษแบบเดิม ซึ่งลูกค้าสามารถแจ้งอุบัติเหตุผ่านกรมธรรม์อิเล็กทรอนิกส์ใน Wallet ของสมาร์ทโฟนเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยสามารถแจ้งข้อมูลของตัวเองและคู่กรณี ถ่ายภาพความเสียหาย รวมถึงส่งพิกัดของจุดเกิดเหตุเข้าบริษัทประกันได้ทันที หลังจากนั้น ด้าน Surveyor จะได้รับแจ้งพิกัดของจุดเกิดเหตุ พร้อมข้อมูลเบื้องต้นจาก Call Center ซึ่งช่วยให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุได้รวดเร็วและช่วยลดเวลาในการเก็บข้อมูลของ Surveyor ในที่เกิดเหตุลงได้เป็นอย่างมาก

“จุดเด่นของระบบที่ทำให้คว้ารางวัลชนะเลิศได้ เพราะเรานำเสนอระบบที่นำไปสู่การใช้งานจริงและไม่ได้ใช้เฉพาะในประเทศไทย แต่ได้ขยายไปใช้ในอินเดีย และมาเลเซีย หลังจากนี้จะขยายไปยังประเทศที่มีปัญหาเรื่องจราจร ใช้รถยนต์จำนวนมาก อย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น อีกทั้ง ได้มีการแสดงให้เห็นว่าลดต้นทุนอย่างไรบ้าง ซึ่งการพัฒนาระบบดังกล่าวเริ่มจากงานวิจัยและสำรวจปัญหาที่ลูกค้าผู้ใช้ประกันได้พบ โดยส่วนใหญ่เวลาแจ้งประกันรถยนต์จะใช้เวลานาน ทั้งที่ทุกอย่างต้องแข่งด้วยเวลา การลดเวลามีความจำเป็นอย่างมาก ต้องลดเวลา ลดความเสียหายให้ผู้ใช้ประกันในบริษัทต่างๆ ให้มากที่สุด และระบบที่พัฒนาขึ้นจึงตอบโจทย์อย่างมาก”

การแข่งขันปีนี้  เป็นการเปิดโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจากการแข่งขันครั้งแรกจนถึงครั้งที่ 3 และได้รับรางวัลมาตลอด นายวุฒิกร กล่าวต่อไปว่า จริงๆ คนไทยมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาซอฟต์แวร์ และถ้าเทียบคนไทย เด็กไทยถือว่าไม่แพ้คนชาติใด แต่คนไทย เด็กไทยจะเสียเปรียบ คือ ไม่ทำงานเป็นทีม และไม่ทำงานวิจัย ดังนั้น การที่มีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยโค้ช ให้คำแนะนำ และจัดเปิดเวทีให้สถานประกอบการ ภาคเอกชน และเยาวชนไทยได้เข้ามาแสดงความรู้ ความสามารถ จะเป็นใบเบิกทางให้พวกเขาได้เห็นมุมมอง ทิศทางในการพัฒนาศักยภาพ ซอฟต์แวร์ต่างๆ เพราะต้องยอมรับว่าตอนนี้มีซอฟต์แวร์ เทคโนโลยีใหม่ๆ มากมาย แต่กลับไม่สามารถนำไปสู่การต่อยอด ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยหาแหล่งต่อยอด และสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้แก่ทุกคน

การแข่งขันปีนี้ ทีมจากประเทศไทย 7 ทีมสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ หมวด Tertiary School Project  มหาวิทยาลัยมหิดล  ชื่อผลงาน: โปรเทียร์  หมวด School Projects โรงเรียนชลกัลยานุกูล ชื่อผลงาน: Perfect KINOKO  หมวด School Projects โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ชื่อผลงาน: สิ่งเร้าในโลกเสมือน  หมวด School Projects โรงเรียนสตรีอ่างทอง ชื่อผลงาน: Angle Words หมวด Tourism and Hospitality Applications บริษัท แอทเทนดี จำกัด ชื่อผลงาน: Happenn หมวด E-Inclusion and E-Community Applications ทีม Visionear ชื่อผลงาน: Visionearหมวด Health and Wellbeing Application บริษัท เมคเกอร์ ภูเก็ต จำกัด ชื่อผลงาน: Smart Patient Room & Patient Monitoring

APICTA Awards 2016 เป็นเวทีการประกวดซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่กรุงไทเป ไต้หวัน นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 16 โดยในปีนี้มีผลงานเข้าร่วมประกวดประมาณ 236 ผลงาน จาก 16 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ ทีมไทยร่วมแข่งขัน APICTA Awards 2016 มีจำนวนทั้งสิ้น 20 ทีม เป็นทีมที่ได้รับการสนับสนุนและทีมที่สนใจสมัครร่วมแข่งขันเองด้วย