ปี 2559 ที่ผ่านมา เป็นอีกปีที่เรียกว่ามีทั้งดราม่าร้อนฉ่าเกิดขึ้นทั้งปี และมีเหตุการณ์ที่เป็นปรากฏการณ์ให้พูดถึงได้ทั้งเมืองได้เกิดขึ้นทั้งปีด้วยเช่นกัน เกิดทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์ ในปีนี้เห็นได้ชัดว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคออนไลน์และออฟไลน์มีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออกแล้ว ส่งผลต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคด้วย ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้เป็นปรากฏการณ์ทางการตลาดที่สามารถเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญได้อย่างดี
ทางเราได้รวม 12 ปรากฏการณ์ที่ร้อนแรงที่เกิดขึ้นในปี 2559 ที่ผ่านมานี้มาให้รับชมกัน
1. โปเกม่อน โก ฟีเวอร์ ปลุกกระแสเดินล่าโปเกม่อนกันทั่วเมือง
กลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ร้อนแรงที่โด่งดังเพียงช่วงข้ามคืนเลยทีเดียวสำหรับกระแสเกม Pokemon Go ที่ดังตั้งแต่ยังไม่เปิดให้บริการในประเทศไทย แต่คนไทยมีอาการตื่นเต้นเป็นพิเศษกับการได้เล่นเกมโปเกม่อนนี้
Pokemon Go เป็นเกมในรูปแบบของเทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality ผสมกับ Location based เกิดขึ้นโดย 3 ผู้สร้างด้วยกัน ได้แก่ The Pokémon Company เจ้าของลิขสิทธิ์โปรเกม่อน, Nintendo บริษัทวิดีโอเกม และ Niantic ผู้พัฒนาเกมที่มี Google เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ ก่อนหน้านี้เคยโด่งดังกับเกม Ingress ที่มีรูปแบบคล้ายๆ กัน
วิธีการเล่นก็คือผู้เล่นจะเป็นเหมือนเทรนเนอร์ในการตามล่าหาโปรเกม่อนจะต้องเดินตามหาในสถานที่ต่างๆ รอบตัว ซึ่งจะมีโปรเกม่อนซ่อนอยู่และจะมีตามสถานที่สำคัญๆ ด้วย
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงกระแสร้อนแรงได้ดีที่สุดก็คือ Pokémon Go ได้ทุบสถิติแอปพลิเคชั่นต่างๆ ด้วยยอดการดาวน์โหลดกว่า 10 ล้านครั้งภายในหนึ่งสัปดาห์ที่เปิดตัว ตัวเลขนี้ยังแซงหน้าผู้ใช้งานแอคทีฟยูสเซอร์ของทวิตเตอร์อีกด้วยซ้ำ และมีการใช้งานแอปพลิเคชั่นเฉลี่ยมากกว่าโซเชียลมีเดียยอดนิยมอย่างเฟซบุ๊ก สแน็ปแชท อินสตาแกรม และว้อทซ์แอป
จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็ทำให้เกิดกระแสหลายๆ อย่างตามมาเช่นกัน อย่างเช่นเรื่องการเกิดอาชีพแปลกๆ เกิดขึ้น รับจ้างขับรถเพื่อพาไปจับโปรเกม่อน หรืออาจจะมีข่าวในเรื่องของการจราจรติดขัด เนื่องจากบางคนจอดรถเพื่อจับโปรเกม่อน หรืออาจจะเกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นอีกมากมาย
แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือเกมโปเกม่อน โก นี้ สามารถกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดอย่างหนึ่งได้ สถานที่ หรือแบรนด์ไหนที่ต้องการทำการตลาดร่วมกับเกมก็เพียงแค่ซื้อ Lure ในเกม เพื่อปล่อยไอเท็ม หรือมีโปเกม่อนตัวเจ๋งๆ มาดึงดูดผู้เล่นได้ ซึ่งเหล่าบรรดาห้างค้าปลีกในเมืองที่มีเสาโปเกม่อนก็ได้ใช้โอกาสนี้ในการเพิ่มโอกาสการเข้าร้านจากการที่มีคนเข้ามาจับโปรเกม่อน และอาจจะมีรายได้มากขึ้นอยากโอกาสการเข้าร้านที่สูงขึ้นด้วย
2. ตามล่าหา “ไอศกรีมกูลิโกะ”
ในปีที่ผ่านมาตลาดไอศกรีมมีสีสันมากขึ้นเพราะการเข้ามาของ “ไอศกรีมกูลิโกะ” โดยเป็นการดำเนินธุรกิจของ “เอซากิ กูลิโกะ” ที่ได้จัดตั้งบริษัท กูลิโกะ โฟรเซ่น (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท ถือว่าเป็นการดำเนินธุรกิจไอศกรีมนอกประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก เพราะมองว่าตลาดในประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีกาศร้อนตลอดทั้งปี ผู้บริโภคก็ชอบเปิดรับสิ่งใหม่ๆ
ทำให้ไอศกรีมกูลิโกะกลายเป็นสินค้า Rare item หายากที่ทุกคนตามหากันอยู่พักใหญ่ เป็นกระแสที่ทุกคนต้องได้ชิมก่อนใครเพื่อได้แชร์ลงโซเชียลมีเดีย ในช่วงนั้นสินค้าขาดตลาดอยู่หลายเดือน แต่ปัจจุบันเข้าสู่สภาวะปกติที่สามารถหาซื้อได้ทุกเวลา
ซึ่งไอศกรีมกูลิโกะเคยทดลองตลาดในประเทศไทยมาแล้วในปี 2557 แต่เป็นเพียงการนำร่องทดลองตลาดเพียง 3 เดือน แต่ในช่วงนั้นมีวางจำหน่ายในโซนชานเมือง แถบรังสิต บางนา ปทุมธานีเท่านั้น จำนวน 70 ตู้แช่ เลือกทดลองตลาดในทำเลชานเมืองก่อนเป็นเพราะว่า “ใกล้โรงงาน” ที่ผลิตเท่านั้นเอง เพราะทางกูลิโกะได้จ้าง “จอมธนา” เป็นผู้ผลิตให้ โดยใช้สูตรจากทางญี่ปุ่น มีการนำเข้าวัตถุดิบบางส่วน และใช้วัตถุดิบภายในประเทศด้วย
หลังจากนั้นทางกูลิโกะก็ได้กลับไปทำการบ้านอยู่พักใหญ่ จึงได้ฤกษ์ในการเปิดตัวอย่างเป็นทางการช่วงต้นปี 2559 พร้อมกับไอศกรีม 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ พาลิตเต้ 35 บาท, ไจแอนท์ โคน 25 บาท, พาแนปป์ 25 บาท และเซเว่นทีน ไอซ์ 20 บาท เป็นการสู้ศึกกับเจ้าตลาดเบอร์ 1 อย่างวอลล์โดยตรง มีการเลือกสินค้า และวางราคาในระดับกลางเพื่อให้เข้าถึงง่าย
พร้อมกับได้พลังของพรีเซ็นเตอร์ “พิมฐา” ผสมกับความแข็งแกร่งของแบรนด์กูลิโกะ ทำให้ไอศกรีมกูลิโกะเป็นที่รู้จักได้ภายในเวลารวดเร็ว
3. ชีสทาร์ต–เบเกอรี่เมืองนอกอิมพอร์ตเข้าไทย
ในปีนี้ได้เห็นแบรนด์ขนมหรือเบเกอรี่ชื่อดังจากต่างประเทศเข้ามาเปิดสาขาในเมืองไทยอยู่หลายราย นอกจากจะสร้างปรากฏการณ์ต่อแถวที่ไม่ได้เห็นมาสักพักใหญ่แล้ว ยังเป็นการนำเข้ามาโดยกลุ่มนักธุรกิจไทย โดยที่ตลาดขนมและเบเกอรี่ในไทยยังมีโอกาสเติบโตสูง มีการเติบอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 7%
ในปีนี้มีทั้งร้าน mx cake & bakery โดยกลุ่มไทยเบฟเป็นผู้ลงทุน เป็นการร่วมทุนกับร้านเบเกอรี่ maxim’s cake จากฮ่องกง อยู่ในกลุ่ม Hong Kong Maxim’s Group ได้จัดตั้งบริษัท แมกซ์ เอเชีย จำกัด เป็นการขยายตลาดนอกภูมิภาคครั้งแรก สินค้าส่วนใหญ่เป็นเบเกอรี่
ร้าน PABLO ชีสทาร์ตชื่อดังจากประเทศญี่ปุ่น โดยกลุ่ม “ใบหยก” เป็นผู้นำแฟรนไชส์เข้ามาเปิดสาขาแรกที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน สามารถสร้างปรากฏการณ์ต่อแถวให้เกิดขึ้นในเมืองไทยได้อีกครั้งหลังจากล่าสุดกับแบรนด์การ์เร็ต ป็อปคอร์นที่มาเปิดสาขาเมื่อ 2 ปีก่อน จากร้านพาโบลนี้เองทำให้เกิดกระแสชีสทาร์ตในประเทศไทย มีการทำตลาดโดยการซื้อแฟรนไชส์ของแบรนด์ชีสทาร์ตจากต่างประเทศโดยเซเลบริตี้อีก ได้แก่ ร้าน Milch ชีส คัพจากมืองยุฟิอิ โดยดาราสาว เป้ย ปาดวาด เหมมณี และร้าน Bake ชีสทาร์ตจากเกาะฮอกไกโด โดยสองพี่น้องวิลลี่–คัทลียา แมคอินทอช
4. การเปลี่ยนมือของอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย
มีดีลสะเทือนวงการอีคอมเมิร์ซอยู่มากมายที่ทำให้เห็นการเปลี่ยนมือบริหารดีลยักษ์ที่สุดก็คือ อาลีบาบาเข้าซื้อลาซาด้า ด้วยมูลค่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรุกตลาดอาเซียน รวมไปถึงกลุ่มเซ็นทรัลเข้าซื้อซาโรล่าในประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นถึงความแข็งแกร่งของ ซาโลร่า ซึ่งเป็นออนไลน์แฟชั่นยอดนิยมอันดับ 1 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องการที่จะต่อแขนต่อขาสู่การเป็น OMNI Channel ของเซ็นทรัลเองด้วย
และอีกหนึ่งรายก็คือ ทางกลุ่ม RAKUTEN ได้ประกาศปิดบริการอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ “ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” เข้าซื้อกิจการทั้งหมดคืนมาแล้วบริหารเอง ถอดชื่อ Rakuten ออกแล้วหันมาใช้แบรนด์ TARAD.com เต็มตัวอีกครั้ง และปรับโมเดล TARAD.com เข้าสู่โมเดลธุรกิจใหม่
5. “กระทะดำ” บาร์บีคิวพลาซ่า
ในปีนี้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของแบรนด์ “บาร์บีคิวพลาซ่า” ถึง 2 ครั้ง เมื่อต้นปีตอนเดือนกุมภาพันธ์ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ในการตั้งบริษัทแม่ “บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด” ภายในประกอบด้วย 3 แบรนด์ บาร์บีคิวพลาซ่า จุ่มแซ่บฮัท และฮอทสตาร์ เพื่อในการจัดการที่ง่ายขึ้น ซึ่งบาร์บีคิวพลาซ่ายังคงเป็นหัวหอกหลัก
นอกจากการรีแบรนด์ที่ผ่านมานั้น บาร์บีคิวพลาซ่าได้ทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรอบ 29 ปี เป็นการเปลี่ยนกระทะใหม่ จากกระทะทองเหลืองที่ใช้มานาน 29 ปี มาเป็นกระทะและเตา Black ที่ได้ซุ่มพัฒนามา 6 ปี ใช้งบลงทุนรวม 110 ล้านบาท แบ่งเป็น 55 ล้านบาทในการพัฒนาตัวสินค้า และอีก 55 ล้านบาทในการทำการตลาดโปรโมต
แค่เวลาไม่นานกระทะดำได้กลายเป็นวาระแห่งชาติที่ผู้บริโภคหลายคนต้องไปทดลองให้ได้ และเมื่อทดลองแล้วต่างรีวิวกันสนั่นโลกออนไลน์ ทำให้ช่วงนั้นบาร์บีคิว พลาซ่ามีคิวคึกคักขึ้นมาทันตา ซึ่งกระทะใหม่นี้จะเข้าช่วยอุดจุดอ่อนต่างๆ ทั้งเรื่องช่องตักน้ำซุปและกระทะทรงแบน รวมทั้งทำให้แบรนด์ดูพรีเมียมขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีดราม่าตามมาเมื่อลูกค้าเจอน้ำซุปสีดำ แต่แบรนด์ก็มีการจัดการอย่างรวดเร็ว ทำให้แบรนด์ไม่เจ็บตัวมากเท่าไหร่
6. “นันยางชูก้าร์” ผ้าใบสายหวาน เขย่าวงการรองเท้านักเรียน
เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ และครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของนันยางในรอบ 60 ปี ที่ออกมาทำรองเท้าผ้าใบกลุ่มผู้หญิงที่มีดีไซน์หวานขึ้น ใส่ไปโรงเรียนได้ ทำให้เป็นกระแส และของขาดตลาดอยู่เหมือนกัน
ในปีนี้ได้เห็นนันยางเขย่าวงการอีกครั้งด้วยการเจาะกลุ่ม “ผู้หญิง” ด้วยการออกรองเท้าผ้าใบสีขาวสำหรับผู้หญิงในแบรนด์ “นันยาง ชูก้าร์ (Nanyang Suger)” โดยทางนันยางเองได้ใช้เวลาในการคิดโปรเจกต์นี้เป็นเวลา 6 เดือน และใช้งบลงทุนในการ R&D ทั้งหมด 3 ล้านบาท
โจทย์หลักของการออกสินค้าตัวนี้ก็คือคำถามที่ว่า “ทำไมผู้หญิงถึงไม่ใส่นันยาง?” เพราะด้วยรูปทรงที่ดูแมนเกินไป จึงดีไซน์สินค้าใหม่ และใช้ชื่อว่านันยาง ชูก้าร์ เพราะสื่อถึงผู้หญิงหวาน มีการใส่กิมมิกด้วยเชือกหลายสีสัน อีกทั้งในตลาดของผ้าใบผู้หญิงยังไม่มีผู้เล่นอย่างจริงจัง ทำให้มีโอกาสธุรกิจสูง และการเติบโตของกลุ่มรองเท้าผู้หญิงก็สูงด้วยเช่นกัน มีการจำหน่ายในราคาคู่ละ 329 บาท
การเจาะตลาดผู้หญิงในครั้งนี้ของนันยาง สามารถกินรวบได้ทั้งกลุ่มเด็กนักเรียนที่สามารถใส่ไปโรงเรียนได้เพราะได้รับการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการเรียบร้อยแล้ว และอีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กวัยรุ่นทั่วไปที่ใส่เป็นรองเท้าลำลองที่เปลี่ยนสีเชือกตามใจชอบได้ สามารถใส่ไปเที่ยวได้ อีกทั้งยังราคาไม่แพง ทำให้วัยรุ่นตามหาที่อยากได้นันยาง ชูก้าร์กัน
7. ค้าปลีก เตรียมอัพเกรดสู่ “รีเทล 4.0”
ปีนี้ในตลาดรีเทลอาจจะไม่มีการเคลื่อนไหวมากมายเท่าในปีก่อนๆ ที่มีทั้งเปิดใหม่ที่ทวีความอลังการมากขึ้นๆ และมีการรีโนเวตมากมาย แต่ในปีนี้ก็ได้เห็นโปรเจกต์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นเหมือนกันอย่าง สยามดิสคัฟเวอรี่ บลูพอร์ต หัวหิน และเดอะมอลล์โคราช ทำให้เห็นวิวัฒนาการของวงการรีเทลที่ต้องมีจุดต่าง จุดขายที่ดึงดูดลูกค้าได้
สยามดิสคัฟเวอรี่ที่ต้องการสู้ศึกรีเทลในระดับไฮเอนด์ในย่านใจกลางเมือง ได้ทำการทุ่มงบลงทุน 4,000 ล้านบาท เนรมิตพื้นที่ 40,000 ตารางเมตร ให้กลายเป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ไฮบริดรีเทล พร้อมกับวางระบบ Connected
Mobile Experiences หรือ CMX พร้อมกับ Hyperlocation โดยร่วมมือกับ “ซิสโก้” เพื่อยิงข้อมูลหาลูกค้าแบบเรียลไทม์ได้ทันที
พร้อมกับค้าปลีกอื่นๆ ที่ได้เริ่มพัฒนาสู่รีเทล 4.0 บ้างแล้ว ส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มบริการเพื่อสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งให้แก่ลูกค้าอย่างเช่น ท็อปส์ ได้เพิ่มช่องทางให้ลูกค้าได้ชำระเงินเอง เพื่อความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
8. “กระทะวู้ดดี้” กระทะขวัญใจแม่บ้าน
Korea King กลายเป็นกระทะขวัญใจแม่บ้านที่เชื่อว่าหลายๆ ครัวเรือนต้องมีติดบ้านไว้อย่างแน่นอน ด้วยการบุกตลาดอย่างหนัก มีการทุ่มงบโฆษณาสูงสุดอันดับหนึ่งติดต่อกันเป็นเวลาหลายเดือน พร้อมทั้งดึง “วู้ดดี้ มิลินทจินดา” เป็นพรีเซ็นเตอร์ที่สามารถสร้างการจดจำได้อย่างดี จนกลายเป็นที่เรียกติดปากว่า “กระทะวู้ดดี้” จนในภายหลังวู้ดดี้ได้ยกระดับขึ้นเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจกับ Korea King
ความสำเร็จของกรณีกระทะวู้ดดี้นี้ ส่งผลทำให้ผู้เล่นรายอื่นในตลาดหันมาจับตลาดกระทะเคลือบบ้าง อย่าง ลักกี้เวย์ ที่มีการดึงแพนเค้กมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ และพาร์ตเนอร์ธุรกิจ เพื่อหวังที่จะตีตลาด Korea King อยู่เช่นกัน มีการดำเนินกลยุทธ์คล้ายๆ กัน เพียงแต่ยังไม่ได้ทุ่มงบการตลาดมากนัก
9. “เฟซบุ๊กไลฟ์” การมาของวิดีโอสตรีมมิ่ง
เฟซบุ๊กได้ออกฟีเจอร์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงให้ผู้ใช้ยังคงใช้งานไม่หนีหายกันไปไหน ในปีนี้เฟซบุ๊กได้ออกฟีเจอร์ “Live” หรือถ่ายทอดสด ที่เล่นเอาเป็นกระแสฮือฮาอยู่เหมือนกัน เพราะนอกจากจะใช้งานง่าย เพียงแค่กดปุ่มไลฟ์เหมือนกดปุ่มตั้งสเตตัสในเฟซบุ๊กส่วนตัว ก็สามารถไลฟ์ได้แล้ว พร้อมกับคอมเมนต์ หรือ Interactive กับคนดูได้แบบการสื่อสาร 2 ทาง
การไลฟ์วิดีโอสดๆ เป็นอีกหนึ่งกระแสของความนิยมในการชมสตรีมมิ่งวิดีโอในบ้านเรามากขึ้น เพราด้วยปัจจัยความพร้อมหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องระบบ และอินเทอร์เน็ต ในตอนนี้การไลฟ์ได้กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำหรับนักการตลาดโดยเฉพาะกลุ่มอินฟลูเอ็นเซอร์ ที่มีการไลฟ์พูดคุยกับแฟนคลับได้อย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น ทำกิจกรรมได้ง่ายขึ้น ในอนาคตเฟซบุ๊กได้เตรียมมีโฆษณาคั่นระหว่างดูไลฟ์สดด้วย ซึ่งตอนนี้กำลังทดลองระบบ
10. ศึกพรีเซ็นเตอร์สมาร์ทโฟนแบรนด์จีน
ตลาดสมาร์ทโฟนดูทีท่าว่ายังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ในปีนี้มีการแข่งขันและมีการเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเซ็กเมนต์ระดับกลาง และแบรนด์ที่มาจากประเทศจีนมีการแข่งขันกันดุเดือดมาก ซึ่งแต่ละแบรนด์ล้วนจับกลยุทธ์การใช้พรีเซ็นเตอร์ทั้งสิ้น เพื่อสร้างการจดจำให้แบรนด์
ตั้งแต่ต้นปีมีการกลับมาของแบรนด์ “โมโต” เป็นการทำตลาดภายใต้บ้านหลังใหม่ของเลอโนโว และมีการบุกตลาดอย่าง ”หัวเว่ย” ที่ชูจุดเด่นเรื่องกล้องถ่ายรูป และการเป็นพาร์ตเนอร์กับทางไลก้า ที่ช่วยสร้างแบรนด์ให้หัวเว่ยพรีเมียมมากขึ้น และทำให้ผู้บริโภคเปิดรับแบรนด์จีนมากขึ้นเช่นกัน
นอกจากนั้นยังมี OPPO, Asus, Vivo และ ZTE ที่พาเหรดกันใช้พรีเซ็นเตอร์ ทำให้แต่ละแบรนด์มีคาแร็กเตอร์ และจดจำง่ายขึ้น ออปโป้ได้เลือก “ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่“ เป็นพรีเซ็นเตอร์ เอซุสได้เลือก “ปู ไปรยา สวนดอกไม้” เป็นพรีเซ็นเตอร์ ZTE ใช้พรีเซ็นเตอร์ผู้ชายอย่าง “มาริโอ้ เมาเร่อ” ในขณะที่ Vivo ได้เลือกใช้ตัวแม่อย่าง “อั้ม พัชราภา ไชยเชื้อ”
11. นายทุนเข้าซื้อกิจการทีวีดิจิทัล
วงการทีวีดิจิทัลก็ยังมีความเคลื่อนไหวให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการแต่ละรายก็กางแผนเรื่องทำคอนเทนต์เพื่อให้ครองใจคนดูให้ได้ แต่ด้วยธุรกิจที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ทำให้ในปีนี้ได้เห็นการเข้าซื้อกิจการของทีวีดิจิทัลของกลุ่มนายทุนธุรกิจถึง 2 ช่อง ได้แก่ ช่องอมรินทร์ทีวี ที่รวมสื่ออมรินทร์ในเครือทั้งหมดโดยกลุ่มเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี และช่องวัน ซื้อโดยกลุ่มปราสาททองโอสถ
เสี่ยเจริญได้ควักกระเป๋า 850 ล้านบาท เข้าถือหุ้นในสัดส่วน 47.62% ในนามของบริษัท วัฒนภักดี ซึ่งดีลนี้หลายคนอาจจะมองว่าคุ้มค่า เพราะทางของเสี่ยเจริญเองจะได้สื่อในมือเพิ่มมากขึ้น เพราะอมรินทร์มีทั้งธุรกิจโรงพิมพ์ ธุรกิจ content นิตยสาร งานแฟร์ สำนักพิมพ์ หนังสือเล่ม รวมทั้งทีวีดิจิตอลช่องอมรินทร์ทีวี เอชดี 34 ที่จะมาต่อยอดธุรกิจของเสี่ยเจริญได้
ส่วนทางด้านของกลุ่มปราสาททองโอสถ ได้ทุ่ม 1,900 ล้านบาทเข้าซื้อช่องวันจากบริษัท วัน เอ็นเตอร์ ไพร์ส ถือหุ้นในสัดส่วน 50% ส่วน GRAMMY ลดสัดส่วนเหลือ 25.50% ด้านกลุ่มนายถกลเกียรติ ลดเหลือ 24.50%
12. เพย์เมนต์บุกไทย เตรียมสู่ยุคไร้เงินสด
นอกจากเทรนด์เรื่องอีคอมเมิน์ซที่มีการเติบโตแล้ว ในปีนี้ยังได้เห็นแนวโน้มที่ดีของระบบการชำระเงิน หรือระบบเพย์เมนต์ ในปีที่ผ่านมานี้เป็นอีกหนึ่งตลาดที่เนื้อหอมอยู่พอสมควร ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ต่างชาติต่างบุกทำตลาดในประเทศไทย เพราะด้วยความพร้อมหลายๆ อย่าง และพฤติกรรมผู้บริโภคก็เปิดรับมากขึ้น
ได้เห็นการเปิดตัวของ LINE Pay, WeChat Pay, Alipay หรือแบรนด์ไทยเองก็มีการพัฒนาเพื่อบุกตลาดเช่นกันอย่าง Pay For U รวมถึงค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลก็ลงมาทำ CenPay เพื่อเป็นระบบชำระเงินของตนเอง