“ไอบีเอ็มทุบสถิติจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ กว่า 8,000 รายการ ครองแชมป์ต่อเนื่อง 24 ปี”

ไอบีเอ็มประกาศคว้าแชมป์บริษัทที่จดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 24 พร้อมทำลายสถิติด้วยยอดสิทธิบัตร 8,088 รายการในปี 2559 ครอบคลุมการค้นพบด้านปัญญาประดิษฐ์ ค็อกนิทิฟคอมพิวติ้ง เทคโนโลยีค็อกนิทิฟเพื่อการดูแลสุขภาพ คลาวด์ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เป็นต้น

นางพรรณสิรี อมาตยกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ไอบีเอ็มมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่นักวิจัยกว่า 8,500 คน ใน 47 ประเทศทั่วโลกของเรา ได้มีส่วนสำคัญในการคิดค้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชากรโลก การริเริ่มนวัตกรรมมากมายที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างสรรค์เทคโนโลยีที่ชาญฉลาดอันเป็นก้าวย่างสำคัญสู่ยุคค็อกนิทิฟ”

สำหรับ 10 บริษัทที่มียอดจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ สูงสุดในปี 2559 [1] ประกอบด้วย
1. ไอบีเอ็ม – 8,088 รายการ
2. ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์ – 5,518 รายการ
2. แคนอน – 3,665 รายการ
4. ควอลคอมม์ – 2,897 รายการ
5. กูเกิล – 2,835 รายการ
6. อินเทล – 2,784 รายการ
7. แอลจี อีเลคทรอนิคส์ – 2,428 รายการ
8. ไมโครซอฟท์– 2,398 รายการ
9. ไต้หวัน เซมิคอนดัคเตอร์ เมนูแฟคเจอริ่ง – 2,288 รายการ
10. โซนี่ – 2,181 รายการ

ตัวอย่างสิทธิบัตรด้านค็อกนิทิฟคอมพิวติ้งและปัญญาประดิษฐ์ อาทิ
การพัฒนาแมชชีนเลิร์นนิ่งเพื่อให้คำตอบที่ดีที่สุด:การให้คำตอบที่ถูกต้องแม่นยำถือเป็นพื้นฐานสำคัญของระบบค็อกนิทิฟคอมพิวติ้ง โดยนักวิจัยของไอบีเอ็มได้คิดค้นแนวทางที่ทำให้ระบบสามารถแสดงทางเลือกคำตอบสำหรับแต่ละคำถาม พร้อมระบุได้ว่าแต่ละคำตอบมีความถูกต้องและสอดคล้องกับคำถามแค่ไหน และเมื่อกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ กัน ความแม่นยำของคำตอบจะเพิ่มขึ้นจนสามารถระบุคำตอบที่ถูกต้องและป้อนเข้าไปยังระบบแมชชีนเลิร์นนิ่ง โดยโมเดลนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่บริการทางการเงินไปจนถึงค้าปลีก (สิทธิบัตรสหรัฐฯ หมายเลข 9,384,450)

การวางแผนเส้นทางที่ดีที่สุดโดยคำนึงถึงสภาวะทางจิตใจของผู้เดินทาง: ระบบนำทางในปัจจุบันถูกกำหนดให้เปลี่ยนเส้นทางตามสภาพการจราจรของถนนต่างๆ โดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของผู้ใช้ นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้พัฒนาแนวทางการวางแผนการเดินทางที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการเดินทางมากที่สุด นั่นก็คือสภาวะทางจิตใจ ตัวอย่างเช่น หากวันนั้นเป็นวันที่ผู้ขับขี่ผ่านภาระงานหนักหรือรู้สึกอ่อนเพลีย ระบบก็จะแนะนำให้ใช้เส้นทางที่ก่อให้เกิดความเครียดน้อยที่สุดแทน (สิทธิบัตรสหรัฐฯ หมายเลข 9,384,661)

ตัวอย่างสิทธิบัตรเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการดูแลสุขภาพ อาทิ
การใช้ภาพเพื่อประเมินสภาวะของหัวใจ: การจำแนกโรคที่เกี่ยวกับหัวใจถือเป็นเรื่องที่ท้าทายเพราะหัวใจมีระบบที่ซับซ้อน นักวิจัยของไอบีเอ็มจึงได้พัฒนาแนวทางในการใช้ภาพถ่ายทางการแพทย์เพื่อวิเคราะห์รูปร่างและการเคลื่อนไหวของหัวใจ เพื่อช่วยจำแนกขั้นต่างๆ ของโรคหัวใจ วิธีนี้จะมีส่วนช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยอาการของโรคหัวใจชนิดต่างๆ (สิทธิบัตรสหรัฐฯ หมายเลข 9,311,703)

เครื่องมือช่วยฟังอัจฉริยะที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคล: นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้พัฒนาเครื่องช่วยฟังที่สามารถแยกระหว่างเสียงพูดและเสียงอื่นๆ ตัวอย่างเช่น สามารถฝึกฝนให้อุปกรณ์นี้จำแนกเสียงสัญญาณเตือนไฟ หรือสามารถเลือกกรองบางเสียงออกไป และขยายบางเสียงให้ดังขึ้นแทน (สิทธิบัตรสหรัฐฯ หมายเลข 9,374,649)

การใช้โดรนฆ่าเชื้อโรคในโรงพยาบาลและแหล่งเพาะปลูกทางการเกษตร: เป็นการใช้โดรนที่ควบคุมด้วยระบบค็อกนิทิฟในการสำรวจ ทดสอบ และวัดการปนเปื้อนต่างๆ โดยส่งโดรนเข้าไปยังพื้นที่ที่มีความเสี่ยง เพื่อเก็บตัวอย่าง ยืนยันผล และทำการฆ่าเชื้อ ทั้งนี้ สามารถกำหนดให้ระบบปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ หรือปฏิบัติงานเฉพาะเมื่อมีสัญญาณที่แสดงถึงความเสี่ยงของการปนเปื้อน (สิทธิบัตรสหรัฐฯ หมายเลข 9,447,448)

ตัวอย่างสิทธิบัตรเกี่ยวกับคลาวด์ อาทิ
การวัดและการทำรายงานภาพรวมการใช้พับลิคคลาวด์ในสิ่งแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์:การใช้พับลิคคลาวด์ในสิ่งแวดล้อมแบบไฮบริดคลาวด์สามารถช่วยประหยัดงบประมาณและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ สิทธิบัตรนี้ช่วยให้สามารถจัดหาพับลิคคลาวด์ที่มีอยู่ พร้อมตรวจสอบได้ว่ามีการใช้พับลิคคลาวด์แต่ละแห่งไปมากแค่ไหนแล้ว ใครเป็นผู้ใช้ ผู้ใช้ใช้ทรัพยากรคลาวด์ในการทำอะไร และรวมแล้วเป็นค่าใช้จ่ายเท่าไร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถเห็นภาพรวมการใช้คลาวด์ของบุคลากรหรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อวางแนวทางในการลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีได้ต่อไป (สิทธิบัตรสหรัฐฯ หมายเลข 9,336,061)

ตัวอย่างสิทธิบัตรที่จะนำไปสู่การพัฒนาโซลูชั่นด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ใหม่ๆ อาทิ
การบริหารจัดการด้านซิเคียวริตี้ในสิ่งแวดล้อมด้านคอมพิวติ้งแบบเครือข่าย: แม้เทคโนโลยีคลาวด์จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถสร้างและนำแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ไปใช้ได้เร็วและง่ายขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อธุรกิจ แต่แอพเหล่านี้จำเป็นต้องมีระบบซิเคียวริตี้ที่แข็งแกร่งเพื่อป้องกันการรุกรานที่มีมากขึ้นทุกวันด้วย  นักประดิษฐ์ของไอบีเอ็มได้พัฒนาแนวทางที่จะช่วยให้นักพัฒนาสามารถกำหนดนโยบายด้านความปลอดภัยของแอพ โดยเมื่อเน็ตเวิร์คถูกคุกคาม ระบบจะสามารถปิดเครือข่ายของแอพที่เชื่อมโยงกันอยู่เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น (สิทธิบัตรสหรัฐฯ หมายเลข 9,361,455)

การบริหารจัดการข้อมูลที่ถูกส่งเข้ามาเพื่อป้องกันการฟิชชิงและการแพร่กระจายของเนื้อหาที่ประสงค์ร้าย: นักวิจัยไอบีเอ็มได้คิดค้นระบบที่สามารถกำหนดระดับการอนุญาตรับเนื้อหาที่ถูกส่งเข้ามาสู่ผู้ใช้ อาทิ อีเมล ข้อความต่างๆ เป็นต้น โดยระบบนี้จะกำหนดระดับความน่าเชื่อถือให้กับข้อความที่ส่งเข้ามา และพิจารณาว่าควรส่งต่อให้ผู้ใช้หรือไม่ (สิทธิบัตรสหรัฐฯ หมายเลข 9,460,269)

แหล่งข้อมูลอ้างอิง
[1] ข้อมูลจาก IFI CLAIMS Patent Services: http://www.ificlaims.com