TK park ขับเคลื่อนแนวคิด “การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล” สู่การพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ขานรับนโยบาย Thailand 4.0 มุ่งสร้างการเรียนรู้ไร้พรมแดน

TK park ประกาศแผนการดำเนินงานปี 60 ขับเคลื่อนแนวคิด “การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล” หรือ “Learning in Digital Age” เพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ขานรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และนโยบายสู่ Thailand 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพประชากรของประเทศให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เด็กและเยาวชนจะต้องมีทักษะในการคิด วิเคราะห์ และสร้างสรรค์สู่การพัฒนาอาชีพในอนาคต พร้อมขยายเครือข่ายอุทยานการเรียนรู้ TK park ทุกระดับ     ทั้ง TK Hub ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยรวมถึงระดับต่างๆ โดยให้ความสำคัญพิเศษกับจังหวัดชายแดนใต้ รองรับการเรียนรู้นอกห้องเรียนในยุคดิจิทัล

นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการผู้อำนวยการ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) หรือ TK park กล่าวว่า  ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมโยงผู้คน และก่อให้เกิดการพัฒนาในหลายมิติ เกิดการกระจายของข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ได้นำพาโอกาสใหม่และส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากรที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในปี 2573 ประชากรสูงอายุของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 ของประชากรทั้งหมด ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ยิ่งจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ปรากฎการณ์ต่างๆ ข้างต้นส่งผลต่อการบริโภคและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งเป็นโอกาสและความท้าทายที่สังคมไทยจะต้องเผชิญและต้องปรับตัวให้พร้อมรับกับโอกาสที่จะเข้ามาจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ เหล่านี้

“ในยุคดิจิทัล เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตของประชาชนทุกช่วงวัยตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยผู้ใหญ่ ซึ่งมีสมาร์ทโฟนและสมาร์ทดีไวซ์เกือบทุกคน รวมถึงการที่รัฐบาลได้เดินหน้าพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ให้เข้าถึงและครอบคลุมทุกหมู่บ้านในประเทศเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงแหล่งความรู้และให้สามารถใช้งานได้สะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดการพัฒนาในอีกหลายมิติทั้งในด้านการประกอบอาชีพและการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ต่างๆ อาทิเช่น การทำอีคอมเมิร์ซขายสินค้าของชุมชนไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ การเผยแพร่ความรู้ด้านเกษตรของแต่ละพื้นที่เพื่อพัฒนาผลิตผล เป็นต้น ทั้งหมดนี้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆ ได้เพียงปลายนิ้ว และสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา”

ทั้งนี้ จากยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลผลักดันและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และ นโยบายสู่Thailand 4.0 โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาประชากรให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สามารถสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมใหม่ โดยนำฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาต่อยอดพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและสร้างโอกาสใหม่ๆ พร้อมยกระดับประเทศสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว และมีรายได้ระดับสูงใน 20 ปีข้างหน้า

การดำเนินงานของ TK park ในปี 2560 ได้ขานรับและมีทิศทางมุ่งเน้นในการปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน การเรียนรู้ ที่สอดแทรกทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีทักษะในการคิด วิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์เป็นพื้นฐานในการพัฒนาไปสู่การเป็นมืออาชีพต่อไปในอนาคต ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเรียนรู้ ในอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบทั้งในส่วนกลางและอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายในภูมิภาคต่างๆ โดยปรับกระบวนการให้บริการเพื่อตอบโจทย์ยุคดิจิทัลด้วยการเน้นสนับสนุนการเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ของหน่วยงานอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเว็บไซต์ Digital TK, ห้องสมุดออนไลน์ (TK Public Online Library), สร้างสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อกระจายองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติได้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างสะดวก

“ห้องสมุดออนไลน์ (TK Public Online Library) มีหนังสือทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งองค์ความรู้ประเภทต่างๆ และสารพันบันเทิง รวมทั้งรูปแบบมัลติมีเดีย ให้สัมผัสมากกว่า10,000 เล่ม ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 23,000 คน มีปริมาณการยืมอ่านรวม 70,000 ครั้งตั้งแต่เปิดให้บริการตลอด 1 ปีกว่า เพื่อกระจายองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กและเยาวชนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างสะดวกไม่น้อยกว่า 16 ล้านคน” นายราเมศ พรหมเย็นกล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาได้ร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายระดับท้องถิ่น เพื่อขยายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ให้กับเด็ก เยาวชน และประชาชนได้ครอบคลุมทั่วประเทศ ปัจจุบันอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายที่เปิดให้บริการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว 19 แห่ง และในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 นี้ มีกำหนดเปิดให้บริการใหม่อย่างน้อย 2 แห่งที่สำคัญ ได้แก่ 1) อุทยานการเรียนรู้ปัตตานี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และเทศบาลเมืองปัตตานี  2) อุทยานการเรียนรู้นครราชสีมา (TK Square Korat) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับเทศบาลนครนครราชสีมา เป็นต้น โดยอุทยานการเรียนรู้ของหน่วยงานเครือข่ายที่เปิดให้บริการแล้วนั้นจะกำหนดให้มีการเชื่อมโยงระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ระบบฐานข้อมูลหนังสือและสื่อการเรียนรู้ต่างๆ เข้ากับอุทยานการเรียนรู้ต้นแบบเพื่อที่ผู้เข้าใช้บริการของ TK park เครือข่ายสามารถสืบค้นและนำไปศึกษาได้อย่างสะดวก

พร้อมกันนี้ยังเปิดเวทีเสวนา “การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล และความคาดหวังต่อบทบาทของTK park”  โดยภาคีเครือข่าย ซึ่งได้เข้ามาร่วมมีบทบาทต่างๆ ที่สำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สอดรับกับแนวคิด “Learning in Digital Age”

นายนิธิพัฒน์  สมสมาน นายกสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA)  หนึ่งภาคีเครือข่าย  กล่าวว่า อุตสาหกรรมดิจิทัล คอนเทนต์เป็นประเภทอุตสาหกรรมแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่กำลังเป็นกระแสปัจจุบัน ที่มีแนวโน้มที่จะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศได้มหาศาลอย่างต่อเนื่อง เราเองจึงมีความจำเป็นที่จะพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่อุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมเองรวมไปถึงการสร้างโอกาส การสร้างรายได้เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการด้านนี้ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งความร่วมมือกับ TK park  ทั้งที่ผ่านมาและจากนี้ไปนับเป็นการบูรณาการทั้งระบบอย่างแท้จริง ด้วยการวางแผนงานความร่วมมือตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ กล่าวคือ การจัดกิจกรรมอบรมที่ได้รับเกียรติจากวิทยากรระดับโลกอย่างต่อเนื่อง และมีการส่งเสริมให้ใช้แหล่งเรียนรู้ของ TK park ในการค้นหาข้อมูลประกอบการเรียนรู้รวมถึงอำนวยความสะดวกด้านสถานที่และอุปกรณ์เป็นอย่างดี ไปจนถึงการจัดกิจกรรมเพื่อเป็นเวทีแสดงผลงานอย่างเป็นรูปธรรมของการอบรมนำไปสู่การพบปะของสตูดิโอมืออาชีพในการจ้างงานหรือร่วมงานกันตามความเหมาะสมในนามกิจกรรม TK แจ้งเกิด

ด้าน ดร.ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิฯ มีความร่วมมือกับ TK park ในการส่งเสริมการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล โดยเน้นการปลูกฝังสร้างความตระหนักในการเข้าถึงสื่อออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณ ผ่านกิจกรรมการอบรมและประกวดการผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศได้เรียนรู้และผลิตสื่อมัลติมีเดีย โดยผลงานที่ได้รับคัดเลือกจะได้ถ้วยพระราชทานและนำทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงใช้ในโครงการพระราชดำริเพื่อการศึกษาหรือโครงการอื่นตามที่จะทรงมีพระราชวินิจฉัยต่อไป

ทางด้าน ดร.พลภัทร์  อุดมผล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท อุ๊คบี จำกัดซึ่งเป็นอีกหนึ่งภาคีเครือข่ายที่ได้ร่วมพัฒนาระบบห้องสมุดออนไลน์สาธารณะแห่งแรกให้กับTK park กล่าวว่า ปัจจุบันเรียกได้ว่าโฉมหน้าของสื่อได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว สะท้อนจากสถิติการเสพสื่อกระแสหลักมาเป็นการใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว ดังนั้น การพัฒนาสื่อการเรียนรู้ในยุคดิจิทัล ให้เป็นรูปแบบอีบุ๊ค และแพลตฟอร์มรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยเฉพาะยุค Gen Y , Z  ที่เติบโตมากับเทคโนโลยี ทั้งนี้ ด้วยคลังความรู้จากสื่อทั้งในและต่างประเทศของ TK park เองที่ได้รวบรวมไว้ให้บริการนั้นถือได้ว่ามากและใหญ่ที่สุดแล้วที่สำคัญมีไว้เพื่อทุกคนโดยเฉพาะ ฉะนั้น เมื่อได้รับพัฒนาให้สามารถเข้าถึงได้ในรูปแบบดิจิทัลจะเป็นประโยชน์กับทุกวัยอย่างมาก เนื่องจากจะไม่มีข้อจำกัดในการเรียนรู้ทั้งเงื่อนไขเรื่องเวลาและสถานที่

คุณวิภว์ บูรพาเดชะ  บรรณาธิการบริหารนิตยสารแฮพเพนนิ่ง นิตยสารยอดนิยมในวันที่ต้องปรับตัวตามกระแสยุคดิจิทัลที่ส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ต่ออุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ กล่าวถึง บทบาทที่ได้ร่วมกับ TK park มาตลอดนั้นจะเป็นรูปแบบการร่วมจัดกิจกรรมอบรมเยาวชนนักเขียน ภายใต้โครงการ   TK แจ้งเกิด เพื่อพัฒนาทักษะด้านการเขียน โดยทั้งนี้ ด้วยการเข้ามาของยุคดิจิทัล ในวันที่หนังสือและสื่อเดิมถูกเข้ามาแทนที่ด้วยสื่อออนไลน์ จะเน้นการทำความเข้าใจเพื่อการปรับตัวของผู้เขียน ด้วยการชูการสร้างเนื้อหา (Content)อย่างไรให้ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายและมีความงดงามทางวรรณศิลป์ถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญดึงดูดความสนใจ

คุณณทิตา ทรัพย์สินวิวัฒน์ เยาวชนจากโครงการสร้างสรรค์สื่อ TK Teen จากจุดเริ่มต้นสู่ปัจจุบันได้เติบโตเป็นบุคลากรที่สำคัญในวงการสื่อสารมวลชนด้วยบทบาทที่หลากหลาย ทั้งผู้ดำเนินการรายการโทรทัศน์และอาจารย์ผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้จากรุ่นสู่รุ่น กล่าวว่า ยุคดิจิทัลมีการเปลี่ยนโฉมวงการสื่อโดยปัจจุบันผู้บริโภคเองสามารถผลิตและเป็นสื่อได้ด้วยตนเองแล้ว การสร้างสรรค์สื่อโดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพจำเป็นต้องปรับตัวและการหาข้อมูล การเข้าถึงแหล่งข้อมูล รวมถึงการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมจะช่วยสร้างสื่อได้มีประสิทธิภาพ

อนึ่ง TK park มีความมุ่งมั่นและเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อพัฒนาประชากรของประเทศไทย ให้มีศักยภาพพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทาย เพื่อหาโอกาสใหม่ในโลกยุคดิจิทัล ซึ่งมีระบบนิเวศน์แห่งการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปให้สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา โดยในส่วนขององค์กรและบุคลากรของ TK park ในฐานะผู้บริหารจัดการองค์ความรู้ในยุคดิจิทัลมีการปรับเปลี่ยนทั้งกระบวนการทำงานและการสร้างสรรค์โครงการหรือกิจกรรมเพื่อพัฒนาสู่การให้บริการประชาชนภายใต้แนวคิด “การเรียนรู้ในยุคดิจิทัล” หรือ “Learning in Digital Age” ตามนโยบาย Thailand 4.0

ทั้งนี้ TK park กำหนดจัดกิจกรรมเพื่อฉลองครอบรอบ 12 ปี ระหว่างวันอังคารที่ 24 –วันอาทิตย์  ที่ 29 มกราคม 2559 ณ อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 Dazzle Zoneศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ โดยมีนิทรรศการ “บทบาทของแหล่งเรียนรู้ในยุค Digital” พร้อมกิจกรรมสร้างจินตนาการที่ตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์ทุกวัน พร้อมรับสิทธิพิเศษมากมายภายในงานอีกด้วย