ผ่าตัวเลขกำไร Alphabet-Microsoft-Intel-PayPal ใครโต ใครตาย

เปิดแฟ้มผลประกอบการไตรมาสล่าสุด ปลายปี 2016 ของ 4 ยักษ์ใหญ่ไอที เริ่มที่ Alphabet กำไรเพิ่มขึ้น แต่ยังพลาดเป้า ด้าน Microsoft ยิ้มแก้มแตกรับธุรกิจคลาวด์เติบโต ขณะที่ Intel ได้ดาต้าเซนเตอร์ช่วยให้ชิปยังขายดี เช่นเดียวกับ PayPal ที่ยังโตต่อเนื่องทั้งในแง่ฐานผู้ใช้ และเม็ดเงินรายได้รวม

Alphabet กำไรพลาดเป้า

บริษัทแม่กูเกิล อย่างอัลฟาเบ็ต (Alphabet Inc) ประกาศกำไรไตรมาส 4 ปี 2016 ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมินไว้ ทำให้บริษัทได้รับแรงกดดันว่าจะสามารถทำเงินจากเดิมพันใหม่อย่างธุรกิจฮาร์ดแวร์ได้หรือไม่ เช่นเดียวกับธุรกิจคลาวด์คอมพิวติ้งที่ถูกตั้งความหวังว่าจะยิ่งใหญ่เหมือนธุรกิจโฆษณา

1_alphabet

ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ธุรกิจโฆษณาก็ยังเป็นแหล่งทำรายได้หลักของกูเกิล โดยทำเงินเพิ่มขึ้น 17.4% คิดเป็นมูลค่า 2.24 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในไตรมาสที่ผ่านมา จุดนี้ประธานฝ่ายการเงินของ Alphabet ระบุว่า ธุรกิจฮาร์ดแวร์ ธุรกิจจำหน่ายแอปพลิเคชั่น และธุรกิจคลาวด์ รวมถึงธุรกิจอื่นที่บริษัทรวมเป็นกลุ่มอื่น หรือ other revenue นั้น มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากกว่า 62%

ผู้บริหาร Alphabet ยกตัวอย่างสินค้าอัจฉริยะสำหรับบ้านอย่างเนสต์ (Nest) ว่า สามารถทำยอดขายได้เพิ่มเท่าตัวในช่วงเทศกาลจับจ่ายปลายปีที่ผ่านมา หรือฮาร์ดแวร์อย่างลำโพงอัจฉริยะ “กูเกิลโฮม” (Google Home) รวมถึงสมาร์ทโฟน “พิกเซล” (Pixel) ก็ได้รับการตอบรับจากตลาดดีไม่แพ้กัน

ในภาพรวม Alphabet ระบุว่า ปลายปี 2016 บริษัทมีรายได้รวม 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 22% จากปีก่อนหน้า โดยกำไรสุทธิ คือ 6.59 พันล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด Alphabet ทำกำไร 9.36 ต่อหุ้น น้อยกว่าที่ถูกคาดการณ์ไว้ที่ 9.64 ต่อหุ้น

Microsoft ยิ้มรับ cloud โต

ไมโครซอฟท์ (Microsoft Corp) รายงานว่า มีกำไรเพิ่มขึ้น 3.6% เพราะอานิสงส์จากบริการคลาวด์คอมพิวติ้งที่ขยายตัวรวดเร็ว แต่ก็เริ่มเห็นสัญญาณสัดส่วนกำไร หรือมาร์จินที่ลดลงในธุรกิจนี้

2_microsoft

บริการเรือธงในกลุ่มคลาวด์ของ Microsoft อย่าง “อะซัวร์” (Azure) ถูกระบุว่า สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 93% สวนทางกับกลุ่มธุรกิจพีซี ที่มีรายได้ลดลง 5% ทั้งหมดนี้ถือเป็นไปในทางเดียวกับแนวคิดของสัตยา นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอ Microsoft ที่นั่งเก้าอี้บริหารมาตั้งแต่ปี 2014 โดยโฟกัสที่ธุรกิจคลาวด์ และแอปพลิเคชั่น แทนที่จะให้ความสำคัญกับธุรกิจซอฟต์แวร์ดั้งเดิม

เบ็ดเสร็จแล้ว Microsoft สามารถทำเงินช่วงตุลาคม-ธันวาคมที่ผ่านมา ได้ 2.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ บนกำไรสุทธิ 5.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จุดที่น่าสนใจ คือ ส่วนต่างราคาทุนกับราคาขาย หรือ Gross margin สำหรับบริการที่ Microsoft เรียกว่าเป็น “commercial cloud” ซึ่งรวมบริการ Azure และบริการ Office 365 ที่จำหน่ายแก่ผู้ใช้กลุ่มธุรกิจนั้น คำนวณได้ 48% ตัวเลขนี้ลดลงจาก 49% ในไตรมาสก่อนหน้า แต่เพิ่มขึ้นจาก 46% ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว จุดนี้ถือเป็นสัญญาณไม่แน่นอนของสินค้ากลุ่มคลาวด์ ซึ่ง Microsoft ไม่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

Intel ได้ดาต้าเซนเตอร์ช่วย

อินเทล (Intel Corp) รายงานตัวเลขรายได้รวมเพิ่มขึ้น 9.8% เหนือความคาดหมาย ผลจากความต้องการในบริการศูนย์ข้อมูล หรือดาต้าเซนเตอร์ที่เพิ่มขึ้น และตลาดอุปกรณ์ประมวลผลสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ยังขยายตัว

3_intel

รายได้สุทธิของ Intel นั้น เพิ่มขึ้นเป็น 1.63 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ จากที่เคยทำได้ 1.49 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปีก่อนหน้า โดยรายได้จากธุรกิจชิปสำหรับดาต้าเซนเตอร์เติบโต 8.4% ขณะที่รายได้จากธุรกิจชิปในอุปกรณ์พีซี เพิ่มขึ้น 4.3% (ธุรกิจนี้รวมการจำหน่ายชิปสำหรับโทรศัพท์มือถือ และแท็บเล็ตด้วย)

ที่ผ่านมา Intel พยายามสร้างธุรกิจดาต้าเซนเตอร์, อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (Internet of Things) และธุรกิจชิปเพื่อรถยนต์ เพื่อทดแทน และกระจายความเสี่ยงจากธุรกิจชิปสำหรับคอมพิวเตอร์พีซี ที่อยู่ในช่วงขาลง ทั้งหมดนี้ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง ทำให้อินเทล มั่นใจว่า จะทำเงินได้มากขึ้นอีกในช่วงปีนี้

PayPal ยังโตต่อเนื่อง

เพย์พาล (PayPal) บริการชำระเงินดิจิตอลชื่อดังประกาศว่า สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น 16.6% ในช่วงไตรมาส 4 ปลายปี 2016 ที่ผ่านมา โดยผู้ใช้ประจำ หรือ active customer นั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นอีก 10% เบ็ดเสร็จมีจำนวน 197 ล้านราย

4_paypal

ลูกค้า และร้านค้าที่หันมาใช้ PayPal ชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นสะท้อนว่า วงการอีคอมเมิร์ซโลกกำลังขยายตัวต่อเนื่อง จุดนี้ PayPal ให้ข้อมูลว่า ยอดเม็ดเงินที่ถูกชำระผ่าน PayPal นั้น เพิ่มขึ้นราว 21.9% ในไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่ารวมทั้งสิ้น 9.93 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งหมดนี้เจ้าพ่อบริการชำระเงินอย่าง PayPal เชื่อว่า จะทำรายได้ในไตรมาสปัจจุบัน (มกราคม-มีนาคม 2017) ได้ราว 2.9-2.95 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ที่มา : http://www.manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000009359