ยุคนี้เทรนด์ไลฟ์สตรีมมิ่งต้องมา แอปพลิเคชันไลฟ์สำหรับสาวๆ และเน็ตไอดอล ตบเท้าเข้าทำตลาดในไทย ตอบโจทย์เทรนด์วิดีโอสตรีมมิ่ง และพฤติกรรมชอบไลฟ์สด เกิดสงครามการแย่งยูสเซอร์ผู้ใช้จนมีการทุ่มการทำตลาดอย่าง Kitty Live ที่ลงทุนควักกระเป๋าจ้าง “ใหม่ ดาวิกา” เป็นพรีเซ็นเตอร์เลยทีเดียว
การเติบโตของเทรนด์ไลฟ์สตรีมมิ่ง เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมาแล้ว ด้วยกระแสของวิดีโอสตรีมมิ่ง และความรวดเร็วของอินเทอร์เน็ต 4G ที่ทำให้ผู้บริโภคมีประสบการณ์กับการดูคอนเทนต์ได้ดีขึ้น สิ่งที่เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนวงการนี้ก็คือฟีเจอร์ Live ของเฟซบุ๊ก ที่ทำให้การไลฟ์สดเป็นเรื่องง่ายขึ้น เพียงแค่กดปุ่มเหมือนตั้งสถานะในเฟซบุ๊กเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ใดๆ เพิ่มเติม
การไลฟ์ถ่ายทอดสดก่อนหน้านี้จะผ่าน “ยูทิวบ์” เป็นหลัก และส่วนใหญ่จะเป็นการไลฟ์ของช่องใหญ่ นำเสนอรายการสำคัญๆ ด้วยข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์ รวมถึงการโปรโมต เมื่อเฟซบุ๊กไลฟ์เข้ามาตอบโจทย์ทำให้พฤติกรรมการไลฟ์เหมือนเป็นการจุดพลุแจ้งเกิดไป
นอกจากเฟซบุ๊กไลฟ์ ยังมีอีกตลาดที่เป็นที่นิยมมากเช่นกันก็คือ แอปพลิเคชัน Live Streaming ที่ออกมาเพื่อจับกลุ่มคนที่ชอบไลฟ์สด หรือเป็นกลุ่มเน็ตไอดอลที่ต้องการเวทีแจ้งเกิดก็ใช้พื้นที่นี้ในการช่องทางการสื่อสาร
ที่จริงแล้ว แอปพลิเคชัน Live Streaming มีมาได้พักใหญ่แล้ว โดยแพลตฟอร์มแรกๆ ที่มีการทำตลาดก็คือ Talk Talk โดยค่ายเกมการีนา ออนไลน์ ได้เริ่มเปิดตัวตั้งแต่ปี 2556 เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้พูดคุยกันแบบเรียลไทม์ และมีความเป็นโซเชียล เรียกว่าเป็นการจัดรายการสด แต่ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่ง Talk Talk เองก็มีดีเจในสังกัดที่มีการจัดรายการอยู่ตลอดกว่า 4,000 คน และดีเจก็มีแฟนคลับที่คอยติดตาม
ในช่วงแรก Talk Talk เป็นที่นิยมในช่องทางคอมพิวเตอร์พีซี เพราะส่วนใหญ่กลุ่มคนดูจะเป็นคอเกมเมอร์ และปัจจุบันสาวๆ หันมาเล่นเกมมากขึ้น ภายหลังได้มีช่องทางแอปพลิเคชันด้วย เพื่อตอบรับกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ
ส่วนตลาดแอปพลิเคชัน Live Streaming ในประเทศไทย ตอนนี้มีผู้เล่นหลักอยู่ราว 5-6 ราย ได้แก่ Talk Talk, Kitty Live, Bigo Live, It’s Me – live, V Live และ MLive เป็นทั้งรายเล็ก และรายใหญ่ หลักการทำงานของแอปพลิเคชันเหล่านี้ก็คือเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนทั่วไปใช้ไลฟ์สด
แต่ละแบรนด์จะมีดีเจในสังกัดจัดรายการ หรือไลฟ์สดชีวิตประจำวันของตนเอง ส่วนใหญ่จะเป็นสาวๆ หน้าตาดี ซึ่งแต่ละแบรนด์ก็จะมีจุดยืนที่แตกต่างกันออกไป ทั้งสายแบ๊ว สายเกม หรือสายวาบหวิว นุ่งน้อยห่มน้อย บางแบรนด์ได้ดีลกับพริตตี้ หรือเน็ตไอดอลในการใช้แอป เพื่อดึงดูดกลุ่มแฟนคลับเพื่อมาใช้แอปด้วย
โดยที่โมเดลการหารายได้ของแอปพลิเคชันเหล่านี้จะมีมาจากโฆษณาบ้าง แต่ส่วนใหญ่จะมาจากการ “ซื้อไอเท็ม” ในแอป และแจกให้กับดีเจหรือคนจัดรายการ บางคนยอมทุ่มทุนเติมเงินครั้งละหลักแสนเพื่อที่จะเปย์ให้กับสาวๆ ในแอปเลยทีเดียว แน่นอนว่าตรงจุดนี้จึงกลายเป็นโอกาสสำคัญที่แต่ละแบรนด์เห็น เพราะเป็นการตลาดที่เกี่ยวข้องกับความชอบส่วนบุคคล จึงได้เห็นการทุ่มทุนทางการตลาดของแต่ละแบรนด์
อย่างแบรนด์ It’s Me ก็เป็นสปอนเซอร์งานอีเวนต์ของคลื่นวิทยุออนไลน์ขวัญใจเด็กแนว Cat Radio ในชื่องาน It’s Me Cat Foodival เป็นการสร้างการรับรู้ในกลุ่มวัยรุ่น
Kitty Live เล่นใหญ่ ดึง “ใหม่” พรีเซ็นเตอร์
แต่ที่มีการโหมการตลาดอย่างหนักเห็นจะเป็น Kitty Live ที่วางจุดยืนเป็นแอปพลิเคชันไลฟ์สายแบ๊ว ยอมลงทุนควักกระเป๋าดึง “ใหม่ ดาวิกา” เป็นพรีเซ็นเตอร์ของแบรนด์ เพื่อทำตลาดในประเทศไทย
Kitty Live แอปพลิเคชัน Live Streaming สัญชาติจีน ได้บุกเบิกทำเทคโนโลยีไลฟ์มาตั้งแต่ปี 2557 แล้ว แต่เป็นการไลฟ์ผ่านคอมพิวเตอร์พีซี จากนั้นก็มีการพัฒนาเป็นแอปพลิเคชัน และได้ทำตลาดในประเทศไทยมา 6 เดือนแล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดทั่วโลกรวม 10 ล้านดาวน์โหลด เป็นยอดดาวน์โหลดในประเทศไทยแล้ว 3 ล้านดาวน์โหลด เป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในประเทศไทย ทำให้มีการรุกตลาดอย่างหนักในปีนี้
จุดยืนของ Kitty Live ได้วางไว้เป็นแอปสายแบ๊วที่แท้จริง ซึ่งจะแตกต่างกับแอปอื่น ลูกเล่นภายในแอปจะมีการปรับฟิวเตอร์ในการไลฟ์ให้ดูดี และมีลูกเล่นอย่างหน้าแมว เพื่อให้ดีเจหรือคนไลฟ์มั่นใจในการไลฟ์ได้ และมีการสะสมรูบี้เพื่อมอบให้กับดีเจด้วย
ฌอน ชู ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหาร Kitty Live เล่าให้ฟังว่า
ตลาดประเทศไทยเป็นตลาดสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการตอบรับกับแอปพลิเคชันไลฟ์อย่างดี ก่อนหน้านี้ได้ทำการศึกษาความชอบ วัฒนธรรมของคนไทย แล้วจึงออกแบบแอปให้ถูกจริตคนไทยมากที่สุด
ฌอนได้บอกอีกว่า ถ้ามองภาพรวมของตลาดแอปพลิเคชันไลฟ์สตรีมมิ่งในประเทศไทยยังมีการเติบโตได้มีมหาศาล ตอนนี้เป็นแค่เริ่มต้น ด้วยปัจจัยการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนจะมีการเติบโตมากขึ้น และแอปพลิเคชันไลฟ์ยังมีการแข่งขันไม่ดุเดือดเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับประเทศจีนที่มีกว่า 200 แบรนด์ เรียกว่าแข่งกันเดือดมาก
การรุกตลาดในประเทศไทย Kitty Live ได้เลือกใช้กลยุทธ์พรีเซ็นเตอร์ โดยได้เลือก “ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่” แต่ละประเทศที่ทำตลาดก็จะมีกลยุทธ์แตกต่างกันออกไป สำหรับในประเทศไทยฌอนได้บอกว่า
ภาพลักษณ์ของแอปพลิเคชันไลฟ์สดในประเทศไทยไม่ค่อยดีมากนัก เพราะหลายคนมองว่าแอปนี้มีภาพลักษณ์วาบหวิว มีสาวๆ นุ่งน้อยห่มน้อย จึงต้องใช้พรีเซ็นเตอร์ และเซเลบริตี้มาช่วยในการสร้างภาพลักษณ์ให้ดีขึ้น ให้มีความน่าเชื่อถือ และใส่ความน่ารักเข้าไปเพื่อไม่ให้แอปดูเซ็กซี่ สามารถใช้ได้ทุกกลุ่ม
โมเดลการหารายได้ของ Kitty Live มีทั้งโฆษณาและมีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ ปัจจุบันมีแบรนด์ต่างๆ ได้แก่ Oppo, Lazada, Woody World, Alibaba, Google, Workpoint, AIS, GMM Grammy, True และ dtac
แต่รายได้หลักของแบรนด์มาจากการซื้อไอเท็ม หรือซื้อรูบี้เพื่อแจกให้กับดีเจในแอป ซึ่งมีผู้ใช้ที่ยอมจ่ายตรงนี้เยอะทีเดียว มีผู้ใช้เติมเงินสูงสุดเป็นหลักแสนบาท ทาง Kitty Live มองว่ายังมีโอกาสในการเติบโตอีกมาก จากนั้นทางแบรนด์ก็จะแชร์รายได้ที่ได้จากไอเท็มกับทางดีเจที่ได้รับแต่ละคนไป
ด้วยกระแสของไลฟ์สตรีมมิ่งที่อาจจะเป็นเทรนด์แค่ช่วงนี้ ทางแบรนด์จึงบอกว่าต้องมีการลงทุนด้านเทคนิคให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้คนใช้อย่างต่อเนื่อง โดยที่โรดแมปแผนการการลงทุนของแอปพลิเคชันนั้นจะแบ่งเป็น 4 เวอร์ชั่นด้วยกัน ได้แก่ 1.Entertainment มีฟังก์ชันต่างๆ เป็นหน้า Kitty 2.Social ทำระบบการแชต การสื่อสาร 3.Self Media เป็นรูปแบบ Online Education และ 4. New tech มีการนำระบบ AR/VR เข้ามามีส่วนร่วม
ในปีนี้ Kitty Live ได้ตั้งเป้าผู้ใช้จำนวน 100 ล้านดาวน์โหลด จากที่มีการทำตลาด 100 ประเทศทั่วโลก และเป็นผู้ใช้ในไทย 7-8 ล้านดาวน์โหลด จากที่ปัจจุบันมีผู้ใช้ 10 ล้านดาวน์โหลดทั่วโลก เป็นผู้ใช้ในไทย 3 ล้านดาวน์โหลด และเป็น Active user 5 แสนราย
ต้องจับตาดูกันต่อว่า จะมีแอปไลฟ์สตรีมมิ่งไหนที่ทุ่มทุนในการทำการตลาดในไทยอีก และจับตาดูการแข่งขัน เพราะเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการแข่งขันเพิ่มขึ้นอีกแน่นอนเพื่อแย่งกลุ่มผู้ใช้