IOT เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ สำหรับผู้ผลิตในปี 2560 จริงหรือ?

IFS World Conference Gothenburg 2012

โดย นายแอนโทนี บอร์น ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมส่วนกลาง ฝ่ายอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีระดับสูง (ไฮเทค) ของ บริษัท ไอเอฟเอส (IFS)

การอุดช่องว่างด้านทักษะ และการส่งเสริมด้านการบริการ กำลังจะกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของบรรดาผู้ผลิตในปี 2560 ส่วนอินเทอร์เน็ตออฟธิงค์ หรือ ไอโอที นั้น ปัจจุบันสัดส่วน 50% ของค่าใช้จ่ายจะหมดไปกับเรื่องของการรวมระบบเข้าด้วยกัน โดยในปี 2560 ผู้ผลิตจำนวนมากเริ่มตระหนักว่า พวกเขามีโซลูชันไอโอทีอยู่แล้ว และจำเป็นต้องนำสิ่งที่มีอยู่มารวมกันให้ดีขึ้นเพื่อสร้างประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งนายแอนโทนี บอร์น ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมฝ่ายผลิตและเทคโนโลยีระดับสูง ของบริษัทไอเอฟเอส ได้คาดการณ์ถึงสถานการณ์สำคัญ 3 ประการในปี 2560 และปีต่อๆ ไปไว้ดังนี้

การคาดการณ์ที่ 1: ผู้ผลิตมากกว่า 80% จะตระหนักว่า พวกเขามีโซลูชัน “ไอโอที”อยู่ในมือ คำถามอยู่ตรงที่ว่า การรวมระบบเข้าด้วยกันมีความยากง่ายอย่างไร

การโฆษณาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญกับการที่ผู้ผลิตจำนวนมากมีความสามารถในด้าน “ไอโอที” ซึ่งมีมานานหลายปีแล้ว หรือพวกเขาอาจไม่ได้พูดถึงความสามารถดังกล่าวในชื่อไอโอที

นอกจากนี้ ระบบต่างๆ อย่าง การควบคุมกำกับดูแลและเก็บข้อมูล (SCADA (สคาดา) และเครื่องควบคุมเชิงตรรกะที่สามารถโปรแกรมได้ (PLC (พีแอลซี)) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรวบรวมข้อมูลการดำเนินงานจากอุปกรณ์ก็มีมาตั้งแต่ทศวรรษ 80 และ 90 และยังมีระบบอีกมากมายที่มีขีดความสามารถดังกล่าว

ดังนั้นบรรดาผู้ผลิตจำเป็นต้องคิดให้รอบคอบว่า ข้อมูลเทคโนโลยีตรวจสอบติดตามตัวใดที่เกี่ยวข้องกับตนมากที่สุด

สำหรับผู้ผลิตอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่นำไปใช้งานภาคสนาม เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เก็บรวบรวมข้อมูลแบบใหม่ถือเป็นตัวสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างวิเศษ เพราะจะช่วยให้บริษัทสามารถนำเสนอบริการและการบำรุงรักษาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ในสภาพแวดล้อมที่ยากลำบาก และยังสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้อย่างมาก

แต่สำหรับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าขนาดเล็กปริมาณมาก อย่าง ของใช้ภายในบ้าน  เซ็นเซอร์และการตรวจจับภาคสนามไอโอที อาจเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป ซึ่งในกรณีนี้สิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดจึงเป็นเรื่องของการป้องกันและแก้ปัญหาต่างๆ ก่อนที่สินค้าจะออกจากโรงงาน ดังนั้น ถ้ามีระบบสคาดาหรือพีแอลซีทำงานอยู่ ก็หมายถึงการมีโซลูชั่นไอโอทีที่พร้อมใช้งานและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนว่า สำหรับบางราย อาจไม่ใช่เรื่องจำเป็นนัก แต่สำหรับผู้ผลิตสินค้าในปริมาณมากแล้ว ระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม (อีอาร์พี) แบบเปิด จะช่วยให้พวกเขารวบรวมระบบที่มีอยู่เข้าด้วยกัน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรวมระบบ ซึ่งอาจเป็นการลงทุนในทางที่คุ้มค่ากว่า

ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจสอบและระบุว่า เคพีไอตัวใดใช้วัดจุดไหนและสามารถใช้เป็นตัวตรวจวัดสำหรับธุรกิจของคุณได้อย่างแท้จริง ซึ่งไอโอทีในปัจจุบัน นำเสนอความได้เปรียบมากมายมหาศาลให้กับบางกลุ่ม แต่สำหรับกลุ่มอื่นๆ แล้ว เรื่องนี้อาจเป็นค่าใช้จ่ายราคาแพง และไม่ถูกจุด

การคาดการณ์ที่ 2: ในอีก 3 ปีข้างหน้า การฝึกงานจะกลายมาเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากกว่าวุฒิการศึกษา

อนาคตของทุกอุตสาหกรรมขึ้นอยู่กับคนของตัวเอง และในบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะเจอกับคนดีๆ โดยผู้ผลิตทั่วทั้งยุโรป และสหรัฐฯ กำลังรับมือกับการขาดแคลนแรงงานมีทักษะ

ในปี 2560 การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานมีทักษะอาจนำไปสู่ยุคใหม่ของการฝึกงาน ทั้งการฝึกอบรมแรงงานในบริษัท และการที่ผู้ผลิตทำงานใกล้ชิดกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อให้ได้คนหนุ่มสาวที่มีความสามารถเข้ามาสู่อุตสาหกรรม

ผลการศึกษาของดีลอยต์ พบว่าในช่วงทศวรรษหน้า มีแนวโน้มที่ภาคการผลิตในสหรัฐฯอาจต้องการแรงงานเกือบ 3.5 ล้านคน ซึ่งคาดว่าการขาดแคลนแรงงานทักษะ จะทำให้มีตำแหน่งงานดังกล่าวว่างถึง 2 ล้านตำแหน่ง

สถานการณ์ในยุโรปก็คล้ายคลึงกัน โดย 82% ของผู้บริหารที่ตอบแบบสอบถาม ในรายงานของดีลอยด์ เชื่อว่า การขาดแคลนแรงงานทักษะ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถของบริษัทในการรองรับความต้องการของลูกค้า ส่วนอีก 78% เชื่อว่า จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในด้านการเพิ่มผลผลิตและการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้งาน

ผลการศึกษายังแสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งงานในภาคการผลิต ถูกจัดอยู่ในระดับต่ำมาอย่างต่อเนื่อง มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 37% เท่านั้น ที่บอกว่าพวกเขาจะสนับสนุนให้ลูกๆ ทำงานในด้านการผลิต เมื่อเป็นเช่นนี้ แล้วจะทำอย่างไรดี

บรรดาผู้ผลิตจำเป็นต้องเริ่มบทบาทเชิงรุกด้านการมองหา และฝึกอบรมคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถให้มากขึ้น การฝึกงาน และการฝึกอบรมภายในองค์กร จะช่วยยกระดับการทำงานในอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น

ลองมาดูตัวอย่างของบริษัทบริติช เอนจิน กลุ่มบริษัทวิศวกรรมอังกฤษ ที่ผลิตเทคโนโลยีสำหรับการใช้งานในวงกว้างของภาคอุตสาหกรรม  โดยในการจ้างงานเมื่อเร็วๆ นี้ บริติช เอนจิน เลือกที่จะหันหลังจาก “ลิงด์อิน” (LinkedIn)   เพื่อมาหาคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถในท้องถิ่น มีการติดป้ายโฆษณาตามระบบขนส่งสาธารณะ และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น

ความสำเร็จของบริษัท เป็นผลมาจากรายงานที่ปรากฏ ในข่าวของวอลล์สตรีท เจอร์นัล เมื่อปี 2559 ที่ว่า

“เป็นเรื่องยากที่จะหาคนมาทำงานในตำแหน่งที่ต้องการแรงงานทักษะระดับกลาง อาทิ ช่างเทคนิคซ่อมบำรุง ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานที่มีการศึกษาหรือมีการฝึกอบรมที่มากกว่าในโรงเรียนมัธยมปลาย อย่างการฝึกงานหรือลงเรียนในวิทยาลัยชุมชน”

สำหรับคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถนั้น การฝึกงานหมายถึง การสร้างทักษะที่แข็งแกร่งและมีรายได้แบบที่ไม่ต้องมีหนี้พ่วงมาด้วย ขณะที่ในส่วนของนายจ้างนั้น การฝึกงานหมายความว่า พวกเขาจะได้ทักษะที่ต้องการจริงๆ

นอกจากนี้ยังมีทักษะแบบใหม่ๆ ที่จะมีความต้องการสูงเป็นพิเศษในอนาคต ซึ่งก็คือ โรงงานที่มักมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ไอโอทีหลายพันตัว และมีอุปกรณ์ใหม่ๆ จำนวนหนึ่งที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตตลอดเวลา เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งเป็นรูปแบบที่จะทำให้เกิดความต้องการอย่างมากด้านการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่และกระบวนการทำงานอัตโนมัติ

การเรียนรู้สำหรับเด็กฝึกงานในทักษะด้านเทคนิค การวิเคราะห์ และความสามารถส่วนบุคคล ถือเป็นของขวัญที่จะยังคงมีการแจกจ่ายออกไปอย่างต่อเนื่อง ในบางประเทศ อย่าง สหราชอาณาจักร นั้น เงินเดือนของภาคการผลิตจะสูงกว่าอัตราเงินเดือนโดยเฉลี่ยของทั้งประเทศ ดังนั้นจงหาคนรุ่นใหม่เข้ามา คิดให้รอบคอบเกี่ยวกับวิธีที่คุณจะสร้างกองทัพแรงงานทักษะขึ้นมา ลองถามตัวเองดูว่า “ในระยะยาว ใครจะให้ประโยชน์กับบริษัทของฉันได้มากกว่า ระหว่างนักศึกษาที่เรียนจบมีปริญญากับคนหนุ่มสาวที่มีความกระตือรือร้นจากโรงเรียนวิชาชีพ ซึ่งพร้อมทำงานกับธุรกิจของฉัน และอยากที่จะประสบความสำเร็จ”

การคาดการณ์ที่ 3: 75% ของผู้ผลิตขนาดกลางในยุโรป และสหรัฐฯ จะยอมรับบริการภิวัฒน์ ก่อนปี 2561

การจะเป็นผู้ผลิตไม่ใช่เรื่องง่ายนัก โดยราคาของสินค้าที่ผลิตออกมาในโลกตะวันตกร่วงลงมานานหลายทศวรรษแล้ว ดัชนีราคาผู้ผลิตสำหรับรัฐหลักๆ ในสหรัฐและยุโรปต่างแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเดียวกัน คือ ระหว่างปี 2558-2559 ราคาของสินค้าที่ผลิตในสหราชอาณาจักร ร่วงลง 0.7% ฟินแลนด์ลดลง 1.4% และเยอรมนี 0.29% บางปี ราคาอาจจะกระเตื้องขึ้นมา แต่โดยภาพรวมแล้ว มีความชัดเจนว่า ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตตะวันตกแข่งขันเรื่องราคาไม่ได้อีกต่อไป

ยุคแห่งการนำรูปแบบ “ผลิตและขาย” มาเป็นโมเดลการดำเนินธุรกิจได้จบสิ้นลงไปแล้ว ถ้าอย่างนั้น บรรดาผู้ผลิตจะแข่งขันในตลาดได้อย่างไร

คำศัพท์เฉพาะอย่าง “บริการภิวัฒน์” ค่อนข้างจะทำให้เข้าใจได้ง่ายถึงสิ่งที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง

ลองมาดูตัวอย่างจากซีร็อกซ์ โดยหลังจากที่ผลิตเครื่องถ่ายเอกสารที่มีความซับซ้อนมากขึ้นมานานหลายสิบปี ในปี 2543 บริษัทรายนี้ก็ถามตัวเองว่า จริงๆ แล้ว ลูกค้าต้องการอะไรกันแน่  เครื่องถ่ายเอกสารอันแสนจะยิ่งใหญ่หรือเอกสารที่พิมพ์ออกมาได้ตามต้องการและมีคุณภาพสูงไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

คำถามดังกล่าวทำให้บริการบริหารจัดการการพิมพ์ถือกำเนิดขึ้นมา และเมื่อถึงปี 2556   ซีร็อกซ์ก็ได้เปลี่ยนตัวเองจากบริษัทที่ขายสินค้าเป็นหลัก มาเป็นผู้ขายบริการเป็นหลัก และทำให้เกิดผลลัพธ์ในวงกว้างและเชิงบวกต่อลูกค้าของบริษัท อย่าง รอยเตอร์ที่ประสบความสำเร็จ ลดต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (ทีโอซี) ลงมา 19% แซนด์เวลล์ เคาน์ซิล ลดต้นทุนการพิมพ์ได้ 30% พีดับเบิลยูซีปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยได้ 100% ตลอดจนกระทรวงบำนาญและแรงงานอังกฤษก็สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ 36%

รางวัลสำหรับซีร็อกซ์เองก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยบริษัทมีความสามารถทางการแข่งขันพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก สามารถประเมินรายได้ได้มากขึ้น และมีลูกค้าใช้บริการในระยะยาว

เบเยอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ลูกค้าของไอเอฟเอส เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีเยี่ยมสำหรับเรื่องนี้ โดยนักนวัตกรรมระดับโลกด้านระบบอัตโนมัติและข้อมูลอุตสาหกรรมรายนี้ ได้สร้างระบบกล่องดำอัจฉริยะขึ้นมา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอุปกรณ์รับสัญญาณนำเข้าและส่งออก  แต่ก็เกิดการเลียนแบบเทคโนโลยีของบริษัทออกมาจำหน่ายในราคาถูกมาก ขณะที่ยอดขายฮาร์ดแวร์ก็คาดว่าจะลดลง

เบเยอร์จำเป็นต้องดำเนินการทั้งในเชิงรุกและเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างเต็มที่ ดังนั้นบริษัทจึงเข้าสู่บริการภิวัฒน์ เปิดตัว “วาร์ป เอนจิเนียริง สตูดิโอ” ทางออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถรวบรวม ปรับแต่ง และควบคุมวิธีการที่พวกเขาใช้ผลิตภัณฑ์ของเบเยอร์ได้ดีขึ้น วาร์ปจัดหาบริการระดับพรีเมียมที่ลูกค้าสามารถดำเนินการบนกล่องดำได้ด้วยตัวเอง และเร่งการทำงานได้ด้วย ซึ่งสำหรับเบเยอร์แล้ว การขายผลิตภัณฑ์ในรูปแบบบริการผ่านทางวาร์ป หมายความว่า ลูกค้าจะไม่ต้องหรือจำเป็นที่จะต้องเปรียบเทียบราคาของสินค้าเหล่านี้ เพราะสิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญ คือ ความสามารถในการส่งข้อมูลของสตูดิโอ

บริการภิวัฒน์ทำให้เบเยอร์มีความสามารถแข่งขันด้านกลยุทธ์ในระดับสูง ช่วยเปิดทางให้บริษัททำรายได้จากความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ และสามารถทำให้มั่ในใจได้ว่า ลูกค้าของพวกเขาจะได้สิ่งที่ต้องการจริงๆ

แล้วเหล่าผู้ผลิตจะเสริมสร้างบริการของตัวเองอย่างไร

ขั้นที่ 1 :  เริ่มจากเล็กๆ  นำเสนอชิ้นส่วนอะไหล่ และวัสดุสิ้นเปลืองที่เพิ่มมูลค่าให้กับการซื้อของลูกค้า

ขั้นที่ 2 :  คุณเสนอบริการซ่อมบำรุงอะไรให้กับลูกค้าบ้าง ระบบบำรุงรักษาแบบติดตั้งภายใน การลดความเสี่ยงให้กับการซื้อของลูกค้า สัญญาบริการที่มีการรับประกัน อาทิ ระยะเวลาที่เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ 99% สามารถเพิ่มประสิทธิภาพผ่านการป้อนข้อมูลไอโอที ซึ่งจะทำให้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดตารางการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน เพื่อให้ลูกค้าสามารถมุ่งความสนใจไปที่ธุรกิจหลักของตัวเองได้

ขั้นที่ 3:  ทั้งหมดคือเรื่องของการแบ่งปันความเสี่ยง และรายได้

การขายความสามารถแทนที่จะขายแต่อุปกรณ์นั้น ลูกค้าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายเดือน เพื่อรับประกันถึงบริการที่จะได้รับ ผู้ผลิตจะแข็งแกร่ง สามารถคาดการณ์ถึงรายได้ที่จะเข้ามาเป็นอิสระจากราคาผลิตภัณฑ์ที่ร่วงลง

การเดินทางไม่ใช่เรื่องง่าย วงจรการขายอาจยาวนานขึ้น อาจจำเป็นต้องจัดตั้งแผนกบริการใหม่ขึ้นมา อาจเกิดช่องว่างรายได้ขึ้นก่อนที่บริการจะเติบโตอย่างเต็มที่ แต่เมื่อเหล่าผู้ผลิตเคลื่อนตัวออกมาจากกำแพงของโรงงาน และถามตัวเองว่า สิ่งที่ลูกค้าต้องการจากผลิตภัณฑ์ของพวกเขาจริงๆ คืออะไร เมื่อนั้น ความสัมพันธ์ใหม่ การเติบโต และโอกาส ก็จะเบ่งบานได้

เกี่ยวกับไอเอฟเอส

ไอเอฟเอส (IFS™) เป็นผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาและนำเสนอซอฟต์แวร์สำหรับการวางแผนทรัพยากรองค์กร (Enterprise Resource Planning หรือ ERP) การบริหารจัดการสินทรัพย์ขององค์กร (Enterprise Asset Management หรือ EAM) และ การบริหารจัดการงานบริการขององค์กร (Enterprise Service Management หรือ ESM) ทั้งนี้ ไอเอฟเอสก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดยมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสามารถดำเนินธุรกิจได้ดีขึ้น ตลอดจนผลักดันให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงาน พร้อมทั้งจัดเตรียมสิ่งต่างๆ สำหรับอุตสาหกรรมเพื่อให้พร้อมรับมือกับอนาคต ไอเอฟเอส มีพนักงาน 2,800 คนที่พร้อมให้การสนับสนุนผู้ใช้ทั่วโลกมากกว่า 1 ล้านคนผ่านสำนักงานสาขาในเขตพื้นที่ต่างๆ และผ่านเครือข่ายพันธมิตรที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้น สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม โปรดไปที่เว็บไซต์: IFSworld.com

ติดตามเราทาง Twitter: @ifsworld

เยี่ยมชมบล็อกของไอเอฟเอสเกี่ยวกับเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานสร้างสรรค์ต่างๆ: http://blog.ifsworld.com/