นกสกู๊ต สายการบินพรีเมี่ยมโลคอสต์ระหว่างประเทศของ คนไทย ผู้ให้บริการในเส้นทางบินระยะกลางถึงระยะไกลจากท่าอากาศยานดอนเมือง ซึ่งเป็นสายการบิน ร่วมทุนที่ก่อตั้งโดย นกแอร์ และ สกู๊ต (Scoot) สายการบินราคาประหยัดจากประเทศสิงคโปร์ ตอกย้ำความมุ่งมั่นในการนำเสนอประสบการณ์การเดินทางรูปแบบใหม่แก่ผู้โดยสารด้วย “Scootitude” (สกู๊ตติจูด) ที่มาพร้อมความสนุก ความแตกต่าง และความปลอดภัย รวมไปถึงตัวเลือกในการบริการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองลูกค้ากลุ่มเดินทางด้วยตนเองที่กำลังขยายตัว ตั้งแต่เริ่มให้บริการเที่ยวบินประจำในเส้นทางดอนเมือง-นานกิง ในเดือนมิถุนายน 2558 สายการบินนกสกู๊ตมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปัจจุบันได้ให้บริการเที่ยวบินประจำจากกรุงเทพฯ สู่ 5 เมืองในประเทศจีน และเมืองไทเป ประเทศไต้หวัน พร้อมเดินหน้าโปรโมทเส้นทางบินจีนผ่านแคมเปญออนไลน์ “Awesome China” (ออซั่ม ไชน่า) เพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในเมืองจีนให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยวทั่วไป
นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกสกู๊ต กล่าวว่า “ด้วยแนวคิดในการให้บริการที่แตกต่างจากสายการบินราคาประหยัดอื่นๆ นกสกู๊ตจึงนำเสนอบริการที่หลากหลายเพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้โดยสารในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มผู้เดินทางด้วยตนเอง (FIT) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะลดค่าใช้จ่ายด้วยการใช้บริการสายการบินราคาประหยัด แต่ยังคงมองหาบริการที่มีคุณภาพ และมีความต้องการในระหว่างการเดินทางที่แตกต่างกัน ดังนั้น ข้อเสนอของนกสกู๊ตรวมถึงการบริการที่เป็นเอกลักษณ์ซึ่งสะท้อนผ่านบุคลิกและทัศนคติแบบสนุก สบาย และเป็นมิตร ที่เราเรียกว่า Scootitude จึงเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักเดินทางรุ่นใหม่ที่มองหาประสบการณ์ในการเดินทางในแบบของตนเอง”
นกสกู๊ต ให้บริการด้วยเครื่องบินลำใหญ่แบบโบอิ้ง 777-200 ที่รองรับผู้โดยสารได้มากถึง 415 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นที่นั่งชั้นธุรกิจ (ScootBiz) จำนวน 24 ที่นั่ง ให้บริการแบบพรีเมี่ยม ส่วนในชั้นประหยัดได้ถูกออกแบบมาเพื่อความคุ้มค่าและตรงตามความต้องการในรูปแบบต่างๆ ของผู้เดินทาง โดยมีบริการให้เลือกเพิ่มเติมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นประเภทที่นั่งที่มีความหลากหลาย ได้แก่ ที่นั่งชั้นประหยัดแบบมาตรฐาน ซึ่งมีความกว้างมากกว่าสายการบินอื่น ที่นั่งแบบมาตรฐานเพิ่มพื้นที่เหยียดขา (Super) ที่นั่งแบบมาตรฐานแถวหน้าด้วยพื้นที่เหยียดขายาวสุด (S-t-r-e-t-c-h) และที่นั่งในโซนปลอดเสียง (Scoot in Silence) นอกจากนี้ยังมีบริการเพิ่มสัมภาระและอาหาร แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ ตั๋วเครื่องบินอย่างเดียว (Fly) ตั๋วเครื่องบินพร้อมโหลดกระเป๋า (FlyBag) และตั๋วเครื่องบินพร้อมโหลดกระเป๋าและอาหาร (FlyBagEat)
นายปิยะ กล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมธุรกิจของนกสกู๊ตในปี 2559 ว่า “ในปีที่ผ่านมาเรามีการเพิ่มเส้นทางบิน 4 เส้นทางในประเทศจีน และเพิ่มความถี่เที่ยวบินตรงในเส้นทางดอนเมือง-นานกิงเป็นรายวัน ทำให้มีจำนวนเที่ยวบินทั้งปีเพิ่มขึ้นจาก 300 เที่ยวบินในปี 2558 เป็น 1,207 เที่ยวบิน มีจำนวนผู้โดยสารรวมทั้งสิ้นกว่า 800,000 คน อัตราการบรรทุกเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 80 ด้วยเส้นทางการบินทั้ง 6 เส้นทางรวมถึงไทเป ซึ่งเรากำลังจะเพิ่มความถี่เที่ยวบินเป็นรายวันในเดือนนี้ เชื่อว่าการเติบโตของเราจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2560”
“สำหรับในปี 2560 นี้ เรายังคงให้ความสำคัญกับเส้นทางประเทศจีน โดยจะมีการเพิ่มความถี่เที่ยวบินในหลายเส้นทาง นอกจากนี้ยังจัดแคมเปญออนไลน์ Awesome China เพื่อกระตุ้นความสนใจนักท่องเที่ยวชาวไทยที่กำลังมองหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ในต่างประเทศ ซึ่งเมืองใหญ่ระดับรองของประเทศจีน ได้แก่ เมืองชิงเต่า นานกิง ต้าเหลียน เทียนจิน และเสิ่นหยาง ซึ่งมีความสวยงามและมีศักยภาพในเชิงการท่องเที่ยว” นายปิยะ กล่าวเสริม
นอกจากความมุ่งมั่นในการพัฒนาการบริการที่คุ้มค่าและประทับใจให้กับผู้โดยสาร นกสกู๊ตในฐานะสายการบินสัญชาติไทยยังเป็นส่วนหนึ่งที่พร้อมผลักดันมาตรฐานการบินเชิงพาณิชย์ เพื่อนำไปสู่การปลดธงแดงขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในปีนี้ ซึ่งล่าสุดสายการบินนกสกู๊ต ได้รับหนังสือรับรองการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย (IOSA) จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) โดยมี มร.คอนราด คลิฟฟอร์ด รองประธานบริหารภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ เป็นผู้มอบประกาศนียบัตรในวันที่ 2 มีนาคม 2560
“ในปีนี้ นกสกู๊ตคาดว่าจะให้บริการแก่ผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นจำนวนกว่า 1,100,000 คน ซึ่งคิดเป็นการเติบโตถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา การได้รับหนังสือรับรอง IOSA มีความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเรา เพราะข้อกำหนดด้านกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของ IATA สามารถสร้างความมั่นใจในการดำเนินงาน โดยยึดหลักความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในการปฏิบัติงาน ทั้งนี้หากสามารถแก้ปัญหาธงแดงจาก ICAO ได้ในปีนี้ คาดว่าจะได้เห็นการแข่งขันระหว่างสายการบินระหว่างประเทศต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์ทีสุดคือคนไทย” นายปิยะ กล่าวสรุป
Related