เปิดกลยุทธ์ “ทรูทีวี” ในยุคที่เพย์ทีวียังไม่ตาย แต่ต้องขยายไปเน็ตทีวี

เป็นที่พูดถึงกันมานานในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้กับ IPTV หรืออินเทอร์เน็ตทีวี ดูทีวีผ่านกล่องโดยใช้สัญญาณอินเทอร์เน็ต กำลังได้รับความนิยมเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในการดูคอนเทนต์แบบ On demand มากขึ้น และมีการใช้อินเทอร์เน็ตในทุกๆ ไลฟ์สไตล์ทั้งดูหนัง ฟัง เพลง ดูทีวี

ทรูทีวี เป็นอีกหนึ่งรายที่ขอกระโจนลงมาเล่นตลาดนี้กับกล่องดูทีวีผ่านเน็ต ความท้าทายในตลาดตอนนี้ที่ต้องท้าชนกับอีก 3 ผู้เล่นรายใหญ่อย่าง TOT Iptv, AIS Play Box และ Apple TV ส่วน 3BB ไม่ได้เห็นการทำตลาดแล้ว ยังต้องต่อสู้กับผู้ให้บริการแบบผิดกฎหมายอีกนับไม่ถ้วน

อะไรที่ทำให้กลุ่มทรูต้องลงมาตลาดนี้ในเมื่อกลุ่มทรูเองมีธุรกิจทรูวิชั่นส์เป็นธุรกิจเพย์ทีวี ให้บริการทีวีแบบบอกรับสมาชิกอยู่แล้ว ซึ่งตลาดเพย์ทีวีถึงแม้ยังมีการเติบโตอยู่ อาจจะไม่ได้หวือหวามาก เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ดูทีวีน้อยลง กลุ่มลูกค้าของทรูวิชั่นส์จึงเป็นคนรุ่นเก่าๆ ที่เป็นสมาชิกยาวนานเป็น 10 ปี

แต่ด้วยเทรนด์การเติบโตของอินเทอร์เน็ต ทำให้ผู้บริโภคเสพคอนเทนต์ผ่านแอปพลิเคชั่น ผ่านอินเทอร์เน็ต มากขึ้น ทำให้ทรูวิชั่นส์ต้องแตกบริการเป็นทรูทีวีเพิ่มเพื่อรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค และเพื่อผนึก 2 ธุรกิจทรูวิชั่นส์กับทรูออนไลน์

ทรูทีวีได้เปิดให้บริการแบบทดลองตลาดมาได้ครึ่งปีแล้ว เพื่อทดสอบความเสถียรของสัญญาณ ได้วางกลยุทธ์เรื่องราคาก่อน เปิดตัวในราคา 1,990 บาท และสำหรับผู้เปิดเบอร์ใหม่เหลือ 990 บาท ไม่เสียค่าบริการรายเดือนอีก เป็นการคอนเวอร์เจนซ์กันในเครือ พร้อมกับนำคอนเทนต์ของทรูวิชั่นส์มาใส่เข้าไป แต่สามารถใช้งานกับอินเทอร์เน็ตเครือข่ายอื่นได้ที่ไม่ใช่ทรูออนไลน์

ศึกษิฐ ชลศึกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัดในยุคปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเป็นจุดพลิกทุกอย่าง เป็นคราวของตลาดบรอดแบนด์ มีคนใช้เน็ตบ้านเพิ่มขึ้นตามเทรนด์โลก ทำให้มีการพัฒนาเป็นการดูคอนเทนต์แบบ OTT ผ่านแอปพลิเคชั่น และผ่านกล่อง มีพฤติกรรมการดูคอนเทนต์แบบออนดีมานด์ ดูเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจ ซึ่ง OTT ส่งผลต่อตลาดเคเบิลโดยตรง มีการเข้ามาอย่างรวดเร็ว และสามารถเลือกดูตามเวลาที่ต้องการได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกดูรายการสดๆ เป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคดูคอนเทนต์วิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทรูวิชั่นส์เองก็ต้องการต่อยอดคอนเทนต์ทรูไปบนทุกแพลตฟอร์มอยู่แล้วด้วย

จุดเด่นที่ทรูทีวีจะใช้ในการสู้ศึกอินเทอร์เน็ตทีวีก็คือการนำคอนเทนต์ที่ชูโรงจากทรูวิชั่นส์คือกีฬาฟุตบอลพรีเมียร์ลีกไทยลีกและภาพยนตร์ซึ่งกีฬาเป็นคอนเทนต์ที่คู่แข่งไม่มีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือทรูวิชั่นส์ได้ขยายคอนเทนต์ไปในแพลตฟอร์มอื่นๆมากขึ้นทั้งทรูทีวีและแอปพลิเคชั่น

ศึกษิฐได้ฉายภาพตลาดอินเทอร์เน็ตทีวีต่อว่าตอนนี้ตลาด OTT หรือเน็ตทีวี อยู่ในช่วงแจ้งเกิด มีผู้ใช้ในไทยราว 1.5 แสนราย แต่ตลาดอินเทอร์เน็ตจะใหญ่กว่าตลาดเพย์ทีวีแน่นอน มองว่ารายได้จากการซื้อคอนเทนต์เติบโตใกล้เคียงเพย์ทีวี โมเดลที่ทรูทีวีใช้เป็นแบบไฮบริด บ็อกซ์ ผสมระหว่างอินเทอร์เน็ตกับเคเบิล สร้างพฤติกรรมผู้บริโภคให้คุ้นเคยก่อน แล้วในอนาคตจะมีการขายคอนเทนต์

ทางทรูได้มองกลุ่มลูกค้าระหว่างกลุ่มทรูวิชั่นส์และกลุ่มทรูทีวีคนละกลุ่มกันกลุ่มทรูวิชั่นส์จะเป็นคนที่ชอบคอนเทนต์กีฬาภาพยนตร์เป็นสมาชิกที่อยู่มานานหลายสิบปีส่วนทรูทีวีอาจจะเป็นรุ่นลูกที่ชอบดูคอนเทนต์แบบออนดีมานด์จะเจาะกลุ่มลูกค้าตามตึกสูงหอพักเป็นพิเศษใช้จุดอ่อนเป็นจุดยุทธศาสตร์จากที่บางพื้นที่สัญญาณของทรูวิชั่นส์เข้าไปถึงก็เจาะตลาดด้วยทรูทีวีได้แค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ซึ่งในทางเทคนิคแล้วอินเทอร์เน็ตทีวีสามารถลดต้นทุนในการเดินสายติดตั้งไปได้อีก เพราะแค่ติดตั้งอินเทอร์เน็ต และมีสายแลนก็สามารถดูทรูทีวีได้แล้ว

หลังจากที่เปิดตัวมาได้ครึ่งปี ตอนนี้ทรูทีวีมีผู้ใช้หลักพันเท่านั้น ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 15-30 ปี เป็นคนรุ่นใหม่อาศัยตามหอพัก คอนโด มีการตั้งเป้าให้มีผู้ใช้ 1 แสนคนใน 1 ปี

ในตอนนี้ทรูทีวีได้ใช้โมเดลธุรกิจแบบใช้คอนเทนต์เป็นตัวดึงดูดสร้างฐานคนดูก่อน ในอนาคตอาจจะมีการขายคอนเทนต์แบบออนดีมานด์ทั้งกีฬาและภาพยนตร์ หรืออาจจะเป็นการขายโฆษณาเพื่อหารายได้ เพราะมองเห็นพฤติกรรมคนไทยว่าไม่ค่อยชอบซื้อคอนเทนต์ แต่ตอนนี้เน้นการสร้างฐานลูกค้าก่อน

ภาพรวมธุรกิจของทรูวิชั่นส์ในปี 2559 มีรายได้ 12,200 ล้านบาท เติบโต 1.8% มีสมาชิกรวม 3.9 ล้านราย แบ่งเป็นสมาชิกจ่ายรายเดือน 65% เติบโต 5.6% มีค่าบริการรายเดือนเฉลี่ย 400 บาท

ปีนี้มีการตั้งเป้าการเติบโต 2 หลัก มีสมาชิก 5 ล้านราย โดยที่ทรูทีวีจะสามารถรับรู้รายได้ในปี 2018 ตั้งเป้ามีสัดส่วนรายได้ 5-10% ของกลุ่ม