บี้ภาษีแม่ค้าออนไลน์ สรรพากรผุดโปรแกรมล่อซื้อ เตรียมเสนอแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้กับกระทรวงการคลังพิจารณา เล็งตรวจเข้มสถานประกอบการร้านอาหารกลางคืนมากขึ้น
นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมได้พัฒนาโปรแกรมสำหรับตรวจผู้ประกอบการที่ค้าขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซ โดยจะเข้าตรวจผู้ประกอบการ หรือร้านค้าที่มีผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันมีร้านค้าในธุรกิจอีคอมเมิร์ซระดับหมื่นร้านค้า รวมไปถึงผู้ที่ขายสินค้าผ่านไลฟ์โซเชียล เช่น การขายเสื้อผ้าผ่านการถ่ายทอดสดในเฟซบุ๊ก เพราะถือว่าเป็นผู้มีรายได้ หากถึงเกณฑ์ที่กำหนดก็ต้องเสียภาษี
สำหรับโปรแกรมจับตรวจธุรกิจอีคอมเมิร์ซเริ่มใช้งานแล้วหลักการ คือ กรมจะต้องตรวจสอบว่า ผู้ประกอบการ หรือร้านค้าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ และจะมีการเข้าสุ่มสั่งซื้อสินค้า เพื่อตรวจสอบว่า มีการออกใบกำกับภาษีหรือไม่ การเสียภาษีของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
หากเป็นประเภทบุคคลธรรมดาก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กำหนด เช่นเดียวกับผู้ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ด้วย
นอกจากนี้กรมได้เสนอแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้กับกระทรวงการคลังพิจารณา สาระสำคัญ คือ จะตรวจเข้มสถานประกอบการร้านอาหารกลางคืนมากขึ้น ซึ่งกรมจะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจร้านค้ากลางคืน ทั้งร้านอาหาร ผับบาร์ โดยหลักการเดียวกันกับอีคอมเมิร์ซ คือ จะให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสั่งอาหาร และขอใบกำกับภาษีจากร้านค้าต่างๆ ว่ามีและถูกต้องหรือไม่ หากไม่ถูกต้องก็จะเข้าตรวจสอบการเสียภาษี
ทั้งนี้ คาดว่าจากการตรวจจับที่เข้มข้นมากขึ้นทั้งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และธุรกิจร้านอาหารกลางคืน จะทำให้การจัดเก็บรายได้ของกรมเป็นไปตามเป้าหมายในงบประมาณ 2560 ที่ 1.86 ล้านล้านบาท หลังจากที่จัดเก็บในรอบ 5 เดือนแรกที่ผ่านมา ต่ำกว่าเป้าหมายประมาณ 6,000 ล้านบาท
นายประสงค์ย้ำว่า กรมจะให้ความรู้กับผู้ประกอบการที่ยังเสียภาษีไม่ถูกต้อง และยังไม่เข้ามาจดแจ้งเป็นบัญชีเดียว สำหรับการดำเนินมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการบัญชีเดียวในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มผู้ประกอบการที่มีรายได้เกิน 500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3%
กรมขอเตือนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ยังไม่ทำบัญชีเดียวให้รีบดำเนินการให้ถูกต้อง เพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งหมด 2.6 ล้านราย แต่ทำบัญชีเดียว 1 ใน 3 เท่านั้น ที่เหลืออีก 2 ใน 3 หรือกว่า 60% ยังมีหลายบัญชี ซึ่งไม่เป็นผลดีกับผู้ประกอบการ เพราะตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 สถาบันการเงินจะนำแบบยื่นเสียภาษีมาใช้ในการพิจารณาการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ
ที่มา : http://manager.co.th/iBizChannel/ViewNews.aspx?NewsID=9600000023163