กรมขนส่ง ย้ำชัดการใช้แอปพลิเคชันเรียกรถนั้นไม่ผิดแต่จะต้องเป็นรถที่จดทะเบียนเท่านั้น ไม่ใช่ รถป้ายดำ หรือ รถส่วนบุคคลที่ไม่มีการตรวจสอบและจดทะเบียน
วันนี้ (9 มี.ค.) กรมการขนส่งทางบกนั้นได้ออกมายืนยันแล้วว่า การใช้แอปพลิเคชันเรียกรถแท็กซี่ไม่ผิดกฎหมาย ยกเว้นเป็นการใช้เพื่อเรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มารับส่งผู้โดยสาร โดยภาครัฐพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงและพัฒนารูปแบบในการให้บริการ เพื่อเพิ่มทางเลือกและประโยชน์สูงสุดของประชาชน นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก ได้ออกมาชี้แจงว่า ถึงกรณีที่มีการเรียกร้องให้ภาครัฐสนับสนุนรถโดยสารทางเลือกใหม่ เช่น Uber Grab car โดยระบุว่าเป็นบริการที่เพิ่มความสะดวกในการเดินทางมากกว่าการให้บริการรถโดยสารในปัจจุบัน
โดย “แอปพลิเคชันในการเรียกใช้บริการแท็กซี่นั้น สามารถกระทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ประเด็นที่ผิดกฎหมายคือ การนำแอปพลิเคชันไปใช้เรียกรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) เพื่อใช้รับจ้างขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ฐานใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้ ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่ทางราชการกำหนด ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และไม่เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย และกรณีเกิดเหตุไม่พึงประสงค์”
แต่ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกตระหนักและให้ความสำคัญกับการกำกับ ดูแล การให้บริการขนส่งสาธารณะทางถนนให้มีความปลอดภัยต่อประชาชนสูงสุด จึงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาโดยตลอด ทั้งการชี้แจงทำความเข้าใจ การประชาสัมพันธ์แนะนำการใช้บริการรถโดยสารที่ถูกกฎหมายแก่ประชาชน
ซึ่งอธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวเพิ่มเติมว่า ในทางคู่ขนาน กรมการขนส่งทางบกได้พัฒนายกระดับมาตรฐาน รถแท็กซี่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น มั่นใจ ความปลอดภัย โดยการให้บริการแท็กซี่ในปัจจุบันได้ติดตั้ง GPS Tracking พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับรถ, กล้อง CCTV และยังมีระบบแจ้งเตือนการใช้ความเร็ว รวมถึงจัดทำระบบเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์มือถือ เพื่อตอบโจทย์การเข้าถึงการให้บริการ เพิ่มความสะดวก ป้องกันปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร แต่อธิบดีกรมขนส่งนั้นยังคงต้องการให้ประชาชนเลือกใช้บริการรถแท็กซี่ ที่จดทะเบียดถูกต้องตามกฎหมาย หรือ (ป้ายเหลือง) อยู่ดี เพราะรถแท็กซี่เหล่านี้ได้
“ผ่านการตรวจสภาพความมั่นคงแข็งแรงของรถปีละ 2 ครั้ง และผู้ขับรถต้องมีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ซึ่งในกระบวนการขอรับใบอนุญาตขับรถสาธารณะจะมีการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีการอบรมเพื่อสร้างจิตสำนึกการให้บริการที่ดี มีการทดสอบความสามารถในการขับรถให้บริการตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลผู้ขับรถทุกคนในศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ ทำให้สามารถตรวจสอบและดำเนินการติดตามตัวได้ทันทีกรณีที่เกิดเหตุไม่พึงประสงค์”
ที่มา : http://manager.co.th/HotShare/ViewNews.aspx?NewsID=9600000024213