ธุรกิจความงามยังคงเป็นธุรกิจดาวรุ่ง ที่ไม่ว่าจะเศรษฐกิจดีหรือไม่ดีตลาดก็ยังคงมีการเติบโต เพราะผู้บริโภคก็ยังคงต้องการสวย และดูดีอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้ในปี 2559 ที่ผ่านมาภาพรวมตลาดความงามในประเทศไทยมีมูลค่า 154,000 ล้านบาท เติบโต 6.5% นับเป็นตลาดที่ใหญ่สุดในอาเซียน
จากรายงานของยูโรมอนิเตอร์ (Euromonitor) ยังพบว่า ตลาดความงามและกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนบุคคลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่สามของโลก ซึ่งตลาดความงามในประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทยนั้น ถือเป็นประเทศที่ช่วยขับเคลื่อนอัตราการเติบโตให้กับภูมิภาคนี้ทั้งหมด
แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะมีความผันผวนและไม่แน่นอน แต่ลอรีอัลไทยมั่นใจว่าจะสามารถคงการเติบโตสูงกว่าภาพรวมตลาดความงามได้ และยังย้ำเป้าหมายเดิมที่จะให้คนไทยทุกครัวเรือนต้องมีสินค้าในเครือลอรีอัลอย่างน้อย 1 ชิ้น
ตลาดประเทศไทย นับเป็นตลาดที่สำคัญของลอรีอัล ในปีที่ผ่านมามียอดขายสินค้ารวม 123 ล้านชิ้น และมีสินค้าใหม่ออกเกือบ 800 รายการ ได้แก่ กลุ่มสกินแคร์ 86 รายการ เครื่องสำอาง 552 รายการ และผลิตภัณฑ์ผม 150 รายการ ในปีนี้คาดว่าจะออกสินค้าใหม่ไม่ต่ำกว่าเดิม
ด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ที่มีการใช้เทคโนโลยี ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ ทำให้ลอรีอัลต้องปรับตัวเพื่อเป็นองค์กรดิจิทัล เพื่อรุกการตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยลอรีอัลทั่วโลกได้มีการใช้งบการตลาดสำหรับออนไลน์ในสัดส่วน 16%
สำหรับในไทย ปี 2559 ที่ผ่านมาลอรีอัล ประเทศไทย จะรุกด้านดิจิทัลมากขึ้น ด้วยการเพิ่มงบการตลาด ดิจิทัลเป็น 30% และล่าสุดยังได้แต่งตั้ง ดวงขวัญ สินสัตยกุล ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลคนแรกในประเทศไทย เพื่อดูแลและวางแผนงานกลยุทธ์ด้านดิจิทัลโดยรวม มีทีมงานใหญ่กว่า 20 คน
ในปี 2560 นี้ ลอรีอัลวางแผนรุกตลาดช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งต้นปีนี้แบรนด์ลอรีอัลปารีส, เมย์เบลลีนนิวยอร์ก, ไบโอเธิร์ม, ลังโคม และคีลส์ ได้เปิดตัวบัญชีไลน์ เพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มผู้ที่สนใจความงาม รวมทั้งการทำคอนเทนต์บนเฟซบุ๊กของแบรนด์ต่างๆ ในเครือ และมีช่องของตนเองใน YouTube ทำเป็นคอนเทนต์เป็นรายการของตนเอง
เริ่มจากแบรนด์เมย์เบลลีนนิวยอร์กได้สร้างช่องทางยูทูปเป็นครั้งแรกของแบรนด์เครื่องสำอางภายใต้คอนเซ็ปต์เมคอัพมายเวย์
รวมถึงด้านอีคอมเมิร์ซที่ลอรีอัลเองก็เริ่มให้น้ำหนักมากขึ้น มีทั้งแพลตฟอร์มของตนเอง และพาร์ตเนอร์กับคู่ค้าเว็บไซต์อื่นอย่างลาซาด้า, ซาโลร่า, คอนวี และ 11 สตรีท ซึ่งปีที่แล้วลอรีอัลประเทศไทยเติบโตด้านอีคอมเมิร์ซมากกว่า 169%
ขณะเดียวกัน ลอรีอัลจะให้น้ำหนักการใช้บิวตี้บล็อกเกอร์ หรือ Influencer กลายเป็นอาวุธหลักของลอรีอัลเช่นกัน การเลือกใช้พรีเซ็นเตอร์อย่างเดียวไม่สามารถสื่อสารถึงผู้บริโภคได้เพียงพอแล้ว
นาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า
ตลาดในประเทศไทยยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ลอรีอัลมีการเติบโตกว่าตลาดติดต่อกันมา 5 ปีแล้ว ในปีนี้ยังคงตั้งเป้าการเติบโตไม่ต่างจากปีที่แล้ว เน้นเรื่องของดิจิทัลมากขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หาข้อมูลเยอะมากขึ้น รวมถึงเรื่องเทคโนโลยีที่มีการใช้มากขึ้น ทำให้ลอรีอัลก็ต้องปรับเพื่อเข้าหาผู้บริโภคมากขึ้น
ปี 2560 ลอรีอัลได้วางกลยุทธ์ไว้ 4 ข้อด้วยกัน
1. Consumer Centricity ให้ความสำคัญผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง ยังคงมีนวัตกรรมสินค้าออกมา และมีการสื่อสารกับผู้บริโภคผ่านช่องทางต่างๆ มากขึ้น ทั้งแคมเปญโฆษณา และช่องทางดิจิทัล
2. Connected Beauty เชื่อมโยงความงามกับโลกดิจิทัล ใช้อีคอมเมิร์ซเข้ามาเชื่อมต่อให้เข้าถึงผู้บริโภคง่ายขึ้น ในปี 59 ที่ผ่านมาช่องทางอีคอมเมิร์ซของลอรีอัล ประเทศไทยโต169% มีทั้งเว็บไซต์ของตัวเอง และทำกับคู่ค้า ซึ่งลอรีอัลทั่วโลกมีสัดส่วนอีคอมเมิร์ซ 4% รวมถึงปรับองค์กรให้ดิจิทัลขึ้น มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการฝ่ายดิจิทัลในไทย เพื่อดูแลและวางแผนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลโดยเฉพาะ
3. Great Employer พัฒนาบุคลากร มีโปรแกรมฝึกอบรมพนักงานเพื่อพัฒนาศักยภาพตนเอง และมีการผลักดันพนักงานคนไทยสู่ขั้นผู้บริหาร เพื่อได้เข้าใจตลาดในประเทศได้ดีกว่าผู้บริหารต่างชาติ
4. Great Citizen การทำธุรกิจอย่างยั่งยืน การทำธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคม ทั้งการคิดค้นนวัตกรรมสินค้าใหม่ กระบวนการผลิต การให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตอย่างมีความสุข และกิจกรรมพัฒนาสังคม