เปิด 5 เทรนด์แอปฯ มาแรงแห่งยุค Mobile-First

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจนทำให้หลายฝ่ายวิตกกังวลและออกมาเรียกร้องให้คนหนุ่มสาวเสียสละเพื่อชาติด้วยการมีลูกมีครอบครัวกันแล้ว ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ก้าวเข้าสู่ยุค Mobile-First ด้วยเช่นกัน

ยุค Mobile-First คืออะไร ยุค Mobile-First คือยุคที่ผู้บริโภคใช้โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่อเข้าสู่โลกออนไลน์เป็นหลัก แทนที่จะเป็นคอมพิวเตอร์เดสก์ทอปเหมือนในอดีต ซึ่งเมื่อผนวกกับข้อมูลการถือครองสมาร์ทโฟนของคนไทยที่มีมากกว่า 50 ล้านเครื่องแล้ว ย่อมทำให้แบรนด์ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศที่ต้องการบุกตลาดไทยนั้น หันมาโฟกัสไปที่การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับใช้งานบนโทรศัพท์มือถือกันเป็นแถว

โดยข้อมูลจาก InternetWorldState.com ระบุว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตของไทยนั้นส่วนใหญ่แล้วเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่าน “สมาร์ทโฟน” ขณะที่ระยะเวลาในการใช้งานสมาร์ทโฟนของคนไทยเฉลี่ยแล้วสูงถึงวันละ 6.2 ชั่วโมงเลยทีเดียว ซึ่งพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตหลัก ๆ นั้น ได้แก่ เสิร์ชหาข้อมูล 80 เปอร์เซ็นต์ ดูวิดีโอ 88 เปอร์เซ็นต์ และช้อปปิ้งออนไลน์อีก 59 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญ กิจกรรมต่าง ๆ ดังที่กล่าวมานั้น ส่วนใหญ่เลยเกิดขึ้นผ่าน “แอปพลิเคชัน”

ดังนั้น สำหรับในมุมของนักพัฒนาแล้ว ปี 2017 ความเป็น “Mobile-First” อาจสร้างอิมแพคให้เกิดขึ้นกับวงการนักพัฒนาได้อย่างมหาศาล เราจึงขอรวบรวม 5 เทรนด์ของการพัฒนาแอปพลิเคชันที่คาดว่าจะเป็นที่สนใจของภาคธุรกิจในปีนี้มาฝากกัน เริ่มจาก

1. ระบบซีเคียวริตี้สำหรับแอปพลิเคชัน

ทุกวันนี้คงต้องยอมรับว่า การพัฒนาระบบซีเคียวริตี้ให้กับแอปพลิเคชันนั้นเป็นความท้าทายหนึ่งของนักพัฒนา ยิ่งในยุคที่ผู้บริโภคสามารถแปลงสมาร์ทโฟนเป็นกระเป๋าสตางค์ได้ หรือมีแอปพลิเคชันด้านการเงินติดตั้งอยู่มากมายด้วยแล้ว การพัฒนาระบบซีเคียวริตี้ที่มีความรัดกุมและสามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้จึงเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการมากทีเดียว ยิ่งกับองค์กรที่ใช้นโยบาย Bring your own device (BYOD) ด้วยการให้พนักงานนำอุปกรณ์ของตนเองมาใช้ในการทำงานด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นต้องมีการป้องกัน

2. แอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับ Beacon Technology

สำหรับในปี 2560 นี้จะเป็นปีที่เทคโนโลยี Beacon ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจอย่างมาก โดยได้มีการประกาศจากธุรกิจหลายแขนงแล้วว่าจะนำเทคโนโลยี Beacon เข้ามาปรับใช้ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภค เช่น ในบิลบอร์ดอัจฉริยะ หรือจอดิจิตอลขนาดใหญ่ตามห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง

นอกจากนี้ห้างดิสเคาต์สโตร์บางรายก็มีการนำเทคโนโลยี Beacon มาใช้แจกส่วนลดพิเศษให้ลูกค้าแล้วเช่นกัน

ซึ่งการใช้งานเทคโนโลยี Beacon นั้นสามารถทำได้หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเช็คตำแหน่งที่ผู้บริโภคอยู่ การแชร์โฆษณา การส่งข้อความ ฯลฯ ดังนั้นการพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับ Beacon ได้จึงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจนั่นเอง

3. แอปพลิเคชันด้านการชำระเงิน

ยุคนี้ใคร ๆ ก็ทำแอปพลิเคชัน Payment ทั้ง Apple Pay, Android Pay, Samsung Pay, Line Pay ฯลฯ ซึ่งแอปพลิเคชันในตลาด Payment นี้ถูกมองว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง เนื่องจากสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ให้เกิดกับผู้บริโภคได้ และเป็นประสบการณ์ที่จำเป็นสำหรับยุค Digital Transformations ด้วย

4. แอปพลิเคชันด้าน IoT

ตลาด IoT เป็นตลาดที่มีตัวเลขการเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงเป็นตัวช่วยสร้างสีสันให้กับการใช้งานสมาร์ทโฟนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสมาร์ทวอทช์ สายรัดข้อมือเพื่อสุขภาพ ไปจนถึงเสื้อผ้าอัจฉริยะ ฯลฯ ดังจะเห็นได้จากบริษัทในซิลิคอนวัลเลย์หลายแห่งที่แบ่งเงินมาลงทุนในธุรกิจดังกล่าว

5. แอปพลิเคชันสำหรับให้องค์กรขนาดใหญ่ใช้งาน

ปัจจุบัน การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับองค์กรขนาดใหญ่กลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักพัฒนาจำนวนมาก และในจำนวนนี้ 40 เปอร์เซ็นต์สามารถทำกำไรได้ (อ้างอิงจาก BusinessZone.co.uk) อย่างไรก็ดี หากตลาดนี้เติบโต มีนักพัฒนาในตลาดเยอะมากขึ้น สิ่งที่นักวิเคราะห์มองว่าอาจเกิดตามมาก็คือสงครามราคานั่นเอง

ทั้งหมดนี้อาจเป็น 5 เทรนด์ที่มาแรงใน พ.ศ. ปัจจุบัน แต่เทรนด์ก็คือเทรนด์ ไม่ว่าอย่างไร การพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับอุปกรณ์โมบายล์นั้นก็เป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจับมือกับหลาย ๆ แผนกในองค์กร เช่น ฝ่ายการตลาด ฝ่ายบริการลูกค้า ฯลฯ เพื่อหา “ช่องโหว่” ที่นักพัฒนาสามารถนำแอปพลิเคชันของตนเองเข้าไปเสนอได้อยู่เสมอ

ที่มา : http://manager.co.th/CyberBiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000027706