พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “Internet of Things: โอกาส ความท้าทาย ความพร้อม และการกำกับดูแลของประเทศไทย” ว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยี Internet of Thingsหรือ IoT เข้ามามีบทบาทในแวดวงอุตสาหกรรมในหลายประเภท ทั้งการติดตามทรัพย์สิน การติดตามสินค้า ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจสุขภาพ โดยคาดการณ์ว่าในปี 2563 ทั่วโลกจะมีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อถึงกันกว่า 2 หมื่นล้านชิ้น ซึ่งก่อนจะมีเทคโนโลยี IoT ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มีการนำเทคโนโลยีใช้เก็บรวมรวมข้อมูลในระยะไกลมาใช้ แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง จึงเกิดเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม มีความแม่นยำ และทันสมัยมากขึ้น ในหลายอุตสาหกรรมจึงมีแนวคิดที่จะบุกเบิกเทคโนโลยี IoT
ประธาน กทค. กล่าวว่า ตัวอย่างการนำ IoT มาใช้ในอุตสาหกรรมดูแลสุขภาพ ได้แก่ การใช้ประโยชน์จากเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อถึงกัน เพื่อการวินิจฉัย ตรวจสอบ จัดการผู้ป่วย และทำการรักษาผู้ป่วยได้ดีกว่า และง่ายกว่าเดิม อุปกรณ์ IoT ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่อุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ เพื่อการตรวจสอบติดตามผู้ป่วยได้ดีขึ้น ขณะที่ในโรงพยาบาลยังมีเซ็นเซอร์ที่เชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการด้านสุขภาพ และการตรวจสอบติดตามผู้ป่วย โดย IoT จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพมากขึ้น ซึ่งการนำ IoT มาใช้ในอุตสาหกรรมสุขภาพยังช่วยลดต้นทุนได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีการนำ IoT มาใช้ในอุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การขุดเจาะน้ำมัน การสูบ การตรวจหน้าจอมอนิเตอร์ และท่อส่งน้ำมันหรือก๊าซในระหว่างการทำเหมือง ซึ่งจะสามารถวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
“เทคโนโลยี IoT ได้เข้ามาเป็นผู้เปลี่ยนเกมในระบบอัตโนมัติของอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่การเริ่มติดตั้งโครงสร้างพื้นฐาน IoT ให้เป็นแพลทฟอร์มขององค์กรต่างๆ โดยได้มีการเริ่มต้นใช้งานและทดสอบระบบ IoT ให้สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในอดีต เพื่อให้เกิดประโยชน์ และคุณค่าใหม่ๆ แก่อุตสาหกรรม ที่สำคัญไปกว่านั้น ยังช่วยลดต้นทุนจากการใช้แรงงานคน แต่ได้ประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่าด้วยการตอบสนองต่อปัญหาแบบเรียลไทม์” ประธาน กทค. กล่าว