นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของไทย ข้อมูลจากสถาบันอาหารระบุว่าการส่งออกอาหารของไทยในปี 2559 มีมูลค่าสูงถึง 972,000ล้านบาท หรือ คิดเป็น 12.8% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของประเทศ และไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารเป็นลำดับที่12 ของโลกอีกด้วย สำหรับแนวโน้มในปี 2560 นี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกอาหารของไทยจะเพิ่มสูงขึ้น ถึง 10.5 ล้านล้านบาท”
“ประกอบกับโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ที่ดูแลรับผิดชอบโดยสำนักงานคณะ กรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน. เพื่อให้เมืองนวัตกรรมอาหารเป็นศูนย์กลางของการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมที่จะมีผลต่อการวางรากฐานการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยในอนาคต โดยโครงการเมืองนวัตกรรมอาหารนี้ จะส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิจัยจากหน่วยงานภาครัฐได้มีการเคลื่อนย้ายไปปฏิบัติงานจริงในภาคเอกชนเพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมอาหาร และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหาร โดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตพื้นที่ส่งเสริมอีกด้วย”
“จากการประเมินความสามารถ 138 ประเทศทั่วโลกโดย World Economic Forum หรือ WEF เมื่อปี 2559 พบว่าแม้ว่าอันดับความสามารถในการแข่งขันของไทยจะอยู่อันดับที่ 34 และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย แต่อันดับความสามารถด้านนวัตกรรมของไทยกลับอยู่ในอันดับที่ 54น้อยกว่าอินโดนีเซียที่อยู่อันดับ 31 แต่มีความสามารถโดยรวมต่ำกว่าไทย ดังนั้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ได้นั้น จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในเรื่องของนวัตกรรมเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นอนาคตของประเทศเพราะหากเราปรับตัวช้าและไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรม จะส่งผลให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันได้”
“ปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs รุ่นใหม่ ไม่ต้องการเป็นเพียงแค่ผู้รับจ้างผลิตเหมือนในอดีต หากแต่ผู้ประกอบการกลุ่มนี้จะปรับตัวด้วยการพัฒนาธุรกิจของตนเอง โดยร่วมกับสถาบันวิจัย หรือสถาบันการศึกษา เพื่อให้มีการวิจัยและนำนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า และสร้างตราสินค้าของตนเองขึ้นมา ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์ธุรกิจอาหารด้วยนวัตกรรมและเป็นความหวังหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่เป้าหมาย Thailand 4.0 ประกอบกับพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปในสังคมปัจจุบัน ทำให้อุตสาหกรรมอาหารต้องปรับโมเดลธุรกิจใหม่ มีการต่อยอดการพัฒนาด้วยการนำนวัตกรรมมาช่วยเพิ่มมูลค่าให้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าสูง และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารรุ่นใหม่ๆ จะหยิบนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น พัฒนาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ อาหาร Ready to eat อาหารที่เน้นประโยชน์เฉพาะ อาหารเสริมหรืออาหารที่มีผลในเชิงรักษาโรค ฯลฯ ซึ่งนวัตกรรมอาหารจะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากเดิมไม่น้อยกว่า 5 เท่า รวมถึงเรื่องของการปรุงแต่งอาหารให้เป็นเมนูใหม่ๆ คิดค้นวิธีเก็บรักษาอาหารนั้นให้มีอายุการเก็บที่ยาวนานขึ้น และสะดวกต่อการพกพาเพื่อเดินทาง เช่น การคิดสูตรอาหารลดน้ำหนัก หรือ อาหารคลีน ที่สามารถเก็บไว้ในช่องแช่แข็งได้นาน 3-7 วัน การนำวัตถุดิบทางการเกษตรมาแปรรูปด้วยนวัตกรรม ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ ที่สามารถลดข้อเสียบางประการของวัตถุดิบทางการเกษตรนั้นๆ ลงได้ เช่น ทุเรียน ที่มีการนำมาผลิตเป็นเครื่องดื่มรสทุเรียน หรือ แยมรสทุเรียน ที่มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของทุเรียน ทำให้คนที่ไม่รับประทานทุเรียนสดๆ เพราะรังเกียจกลิ่น สามารถดื่มเครื่องดื่มรสทุเรียนนี้ได้ โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจแต่อย่างใด หรือการนำ “คางกุ้ง” ซึ่งเดิมเป็นสิ่งที่หลายๆ คนมองข้าม แต่วันนี้คางกุ้งกลับสร้างมูลค่าเพิ่ม และ รายได้ให้ผู้ประกอบการได้ถึงปีละกว่า 20 ล้านบาท หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพื้นบ้านอย่างส้มตำ ให้เป็นส้มตำอบกรอบที่สะดวกในการพกพาไปที่ต่างๆ และเมื่อจะรับประทานก็เพียงฉีกซองเติมน้ำก็จะได้ส้มตำที่มีรสชาติเหมือนส้มตำที่ตำกันสดๆ เลยทีเดียว หรือนวัตกรรมของการเลาะกะลามะพร้าวเพื่อให้สะดวก และง่ายในการรับประทานทั้งน้ำและเนื้อ โดยลูกมะพร้าวที่เลาะกะลาออกแล้ว แพ็คด้วยซองพลาสติกสูญญากาศ เมื่อจะรับประทานเพียงฉีกซองพลาสติกออกและใช้หลอดเจาะดูดน้ำ ก็ให้ความรู้สึกและรสชาติที่ไม่ต่างไปจากการดื่มน้ำมะพร้าว ที่ใช้มีดฟันเปลือกและเปิดหัวกะลาสดๆ จากลูกมะพร้าว ฯลฯ”
“การประกอบธุรกิจอาหารในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่แค่เพียงที่รสชาติของอาหารที่ได้รับการปรุงแต่งมาให้เหมาะสมกับความนิยมการบริโภคในประเทศเท่านั้น หากแต่นวัตกรรมคือความจำเป็นของการพัฒนาอาหารทั้งเมนูและรูปแบบที่จะสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักให้กับประเทศไทยต่อไป”
“เตรียมพบกับนวัตกรรมอาหารได้ที่งาน THAIFEX – World of Food Asia 2017 วันเจรจาธุรกิจระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม –2 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 – 18.00 น. และวันจำหน่ายปลีกวันที่ 3 – 4 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ อาคารชาแลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 และอาคารอิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 1-6 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ www.ditp.go.th www.thaitradefair.com และ www.worldoffoodasia.com หรือ สายด่วนการค้าระหว่างประเทศ 1169”