ดีกรีตลาดขนส่งในประเทศไทยดุเดือดขึ้นทุกที เนื่องจากมีผู้เล่นรายใหม่กรีธาทัพเข้าสู่ตลาดนี้ ทั้งบริษัทไทย บริษัทข้ามชาติ และสตาร์ทอัพที่ลงมาจับตลาดนี้ ด้วยมูลค่าตลาดราว 20,000 ล้านบาท เติบโตเฉลี่ย 10-20% เพราะได้แรงหนุนมาจาก “ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ” ที่มีมูลค่า 7 แสนล้านบาท เติบโต 30% ที่ต้องอาศัยการส่งสินค้า และในไทยก็ผูกขาดกับบริการจากไปรษณีย์ไทยมานานแล้วด้วย
ทำให้ SCG บริษัทปูนซีเมนต์รายใหญ่ของไทย จึงลงขันร่วมกับ “แมวดำ” หรือ ยามาโตะ เอเชีย แห่งญี่ปุ่น ที่ต้องการขยายตลาดเข้ามาในไทย เปิด บริษัท เอสซีจี ยามาโตะ จำกัด ทุนจดทะเบียน 633 ล้านบาท เอสซีจี ถือหุ้น 65% และยามาโตะ เอเชีย 35%
ดีลนี้มีการตกลงค่อนข้างนาน รวมถึงใช้เวลาในการศึกษาตลาดในประเทศไทยถึง 2 ปีก่อนที่จะเปิดบริการอย่างเต็มตัว ได้มองเห็นช่องว่างทั้งในเรื่องบริการที่หลายคนบ่นจากเจ้าตลาดว่าได้ของในสภาพไม่สมบูรณ์ ได้ของช้า จนได้เริ่มทดลองตลาดในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมาเริ่มจากศูนย์บริการที่เอสซีจีสำนักงานใหญ่ บางซื่อก่อน ผลตอบรับมีผู้ใช้บริการส่งพัสดุกว่า 150,000 ชิ้นแล้ว
นอกจากตลาดอีคอมเมิร์ซที่จะเป็นปัจจัยหลักแล้ว เอสซีจี เอ็กซ์เพรสยังมองเห็นโอกาสในธุรกิจอื่นๆ การขนส่งได้เป็นบริการที่ขาดไม่ได้ในทุกธุรกิจ และในประเทศไทยก็มีบริษัทประเทศญี่ปุ่นมากกว่า 5,000 บริษัท ที่รู้จักแมวดำอยู่แล้ว
เอสซีจี เอ็กซ์เพรส มีบริการส่งพัสดุย่อยแบบเร่งด่วน มี 4 รูปแบบ 1.ส่งพัสดุย่อยถึงปลายทางวันต่อไป 2.ส่งเอกสาร 3.บริการเก็บเงินปลายทาง และล่าสุดคือ 4.ส่งพัสดุแบบควบคุมอุณหภูมิ สินค้าแช่เย็น 0-8 องศา และสินค้าแช่แข็ง -15 องศา ซึ่งจะเป็นไฮไลต์ เพราะยังไม่มีผู้เล่นในไทยทำบริการนี้
ถ้าเป็นบริการส่งพัสดุทั่วไปค่าบริการเริ่มต้นที่ 40 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดกล่อง และน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ส่วนพัสดุแบบเย็นเหมาะกับสินค้าอาหาร เครื่องสำอาง ราคาเริ่มต้น 140 บาท น้ำหนักไม่เกิน 20 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับขนาดกล่อง กลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ นักช้อปออนไลน์
การร่วมมือครั้งนี้เป็นดีลที่ Win-Win กันทั้งคู่ ทางแมวดำเองก็อยากขยายตลาดมาทางภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น จากที่ปัจจุบันมี 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย พม่า และฟิลิปปินส์ ส่วนเอสซีจีต้องการต่อยอดจากธุรกิจเอสซีจีโลจิสติกส์ ที่ส่วนใหญ่เป็นบริการแบบ B2B ต้องการขยายธุรกิจไปยัง B2C มากขึ้น โดยใช้ระบบที่มีอยู่มาใช้ในการขนส่ง ทำให้ไม่ต้องลงทุนเพิ่มมาก
นิธิ ภัทรโชค ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่–ตลาดในประเทศ ธุรกิจ เอสซีจี ซิเมนต์–ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง กล่าวว่า “การร่วมมือครั้งนี้เป็นการต่อยอดธุรกิจของเอสซีจีเองได้ประสานงานกับเครือข่ายของเอสซีจี เป็นแต้มต่อที่ทำให้ไม่ต้องลงทุนใหม่หมด มีระบบขนส่ง ไอทีอยู่แล้ว และได้ความเชี่ยวชาญในการส่งพัสดุย่อยของยามาโตะมาช่วย ซึ่งโอกาสจากตลาดอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตมาก จะช่วยทำให้ตลาดขนส่งโตขึ้นไปอีก“
จากการที่ทดลองตลาดมา 3 เดือน มีแผนจะเพิ่มศูนย์บริการอีก 4 สาขา พื้นที่รัชดาภิเษก รังสิต ปทุมวัน และบางนา รวมถึงขยายพื้นที่สุ่ภาคตะวันออก ตะวันตก และอีสาน คาดว่าจะทั่วประเทศในปีหน้า และขยายในโมเดลตัวแทนรับพัสดุ ตั้งเป้า 300 จุด และมีรายได้ 100 ล้านบาท ในปีนี้ ใน 5 ปีมีรายได้ 1,000 ล้านบาท