เป็นอีกแบรนด์ที่ได้รับความนิยมในไทยอย่างต่อเนื่องสำหรับกระเป๋าอเนลโล่ (anello) กลายเป็นของฝาก หรือของหิ้วอันดับต้นๆ เมื่อคนไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว ความสำเร็จของแบรนด์ที่ทำให้คนไทยชื่นชอบนั้นส่วนหนึ่งมากจากความที่เป็นแบรนด์จากประเทศญี่ปุ่น เพราะคนไทยชอบประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้ว และตัวสินค้าเองที่มีรูปทรงสวย และใช้งานง่าย มีความเป็น Unisex ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถใช้ได้
แต่ก่อนหน้านี้ในประเทศไทยไม่มีผู้จัดจำหน่ายอย่างเป็นทางการ มีแต่เพียงผู้นำเข้ารายย่อยๆ 5 ราย และไม่มีร้านขายที่ชัดเจน จน “ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น” ไปเจรจาจนได้สิทธิ์ในการนำเข้าประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ดีลนี้ได้เริ่มต้นพูดคุยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 และได้เซ็นสัญญาตอนเดือนตุลาคม หลังจากนั้นทางไมเนอร์ทำตลาดอย่างเต็มที่ในไทยทยอยเปิดสาขาจนในปัจจุบันเปิดจุดขายไปแล้ว 39 จุด ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 – มีนาคม 2560 และคาดว่าจะเปิดให้ได้ถึง 53-70 สาขา ภายในปีนี้
นอกจากประเทศญี่ปุ่น อเนลโล่ได้ทำตลาดแล้ว 15 ประเทศ แต่ถ้าในเอเชียมี 7 ประเทศ ได้แก่ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย 5 เดือนที่ไมเนอร์ได้ทำตลาด ทำให้ไทยกลายเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 รองจากญี่ปุ่นไปแล้ว รายได้เพียงแค่ 5 เดือนสามารถเทียบเท่ากับรายได้ของฮ่องกงที่เปิดมา 5 ปี แน่นอนว่าทาง “Carrot Company” เจ้าของลิขสิทธิ์แบรนด์อเนลโล่ให้ความสำคัญกับตลาดประเทศไทยเป็นพิเศษในทันที “ทาเคชิ โยชิดะ” ประธานกรรมการบริษัท และผู้ก่อตั้งแบรนด์อเนลโล่ถึงกลับบินตรงจากประเทศญี่ปุ่นมาเปิดตัวแบรนด์อย่างเป็นทางการด้วยตัวเอง
นันทวรรณ สุวรรณเดช ผู้จัดการทั่วไปแบรนด์อเนลโล่ บริษัท ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “แบรนด์อเนลโล่ยังมีโอกาสอยู่มากในประเทศไทย เพราะคนไทยยังให้ความนิยมอยู่ ก่อนหน้านี้ในไทยไม่มีหน้าร้าน และไม่มีตัวแทนจำหน่ายเป็นทางการ ทำให้บางคนไม่มั่นใจในสินค้า หลังจากที่ไมเนอร์ทำตลาดได้อุดช่องวางตรงนั้นหมด มีหน้าร้าน สินค้ารับประกันว่าเป็นของแท้ และที่สำคัญเรื่องราคาที่ตั้งราคาสูงกว่าที่ญี่ปุ่น 200-400 บาท ดักทางพวกธุรกิจพรีออเดอร์ไปด้วย”
ถ้าถามว่ามาช้าไปหรือไม่ นันทวรรณได้บอกว่าไม่ช้าไป เพราะคนไทยยังชื่นชอบอยู่ และอเนลโล่ยังมีสินค้าใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ซึ่งช่วงที่คนไทยฮิตอเนลโล่มากๆ ตอนช่วงไตรมาส 2 ปีที่แล้ว มีทั้งคนใช้ และซื้อมาเป็นของฝาก ทางไมเนอร์ก็รีบเข้าไปคุยกับทางเจ้าของแบรนด์ทันที แต่เพิ่งมาได้เซ็นสัญญาช่วงเดือนตุลาคม หลังจากนั้นก้เปิดสาขาก็ยังเห็นผลตอบรับที่ดีอยู่
ด้วยความที่ไทยเป็นตลาดสำคัญ ทางแครอท คอมพานีจึงเปิดกว้างในการทำตลาด ไมเนอร์สามารถมีสินค้ารุ่นโลคอลได้ เช่น ร่วมมือกับทาง Influencer ในการออกสินค้าให้ร่วมกันเป็นลิมิเต็ด อิดิชั่น หรือขายออนไลน์ ซึ่งทางไมเนอร์กำลังศึกษาอยู่
สำหรับจุดจำหน่ายสินค้าจะมี 5 รูปแบบด้วยกัน 1. Free Standing 2. Corner ในห้างสรรพสินค้า 3. Pop up 4. Airport Model ตั้งในสนามบิน 5. Hotel Kiosk ร้านค้าขนาดเล็กตั้งในจุดที่ลูกค้าเดินผ่านเยอะๆ และ 6. Tourist Shop Mix โซนนักท่องเที่ยวโดยที่จะไปในทุกทำเลทั้งห้างสรรพสินค้าโซนช้อปปิ้งสนามบินหรือจุดที่มีทราฟฟิกสูงๆ
งบลงทุนในการขยายสาขาใช้เงินลงทุนรวม 20 ล้านบาท ใช้พื้นที่แต่ละร้านเฉลี่ย 80 ตารางเมตร สาขาที่เป็นแฟล็กชิพ และขายดีที่สุดก็คือสนามบินดอนเมือง และเมกา บางนา
มีการตั้งเป้ารายได้ 300-350 ล้านบาทในปี 2560 และใน 5 ปี ตั้งเป้ารายได้ 800-1,000 ล้านบาท หรือมีการเติบโต 185%
เติมเต็มพอร์ตไลฟ์สไตล์ให้ไมเนอร์
ปัจจุบันธุรกิจแฟชั่นและไลฟ์สไตล์ของไมเนอร์ คอร์เปอเรชั่นมีทั้งหมด 12 แบรนด์ด้วยกัน ที่เป็นผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายในประเทศไทย เป็นแบรนด์แฟชั่น 10 แบรนด์ Esprit, Banana Republic, Gap, Bossini, Charles and Keith, Pedro, Brooks Brother, Etam, anello และ Radley มีแบรนด์เครื่องครัวอีก 2 แบรนด์ ได้แก่ Zwilling J.A. Henckels และ Joseph Joseph มีรายได้รวม 3,600 ล้านบาท
ทางไมเนอร์มองว่าการได้แบรนด์อเนลโล่เข้ามาจะช่วยเติมเต็มพอร์ตของแฟชั่นไลฟ์สไตล์ให้แข็งแกร่งขึ้น โดยที่สินค้าในพอร์ตเน้นระดับกลาง – บนอยู่แล้ว แต่แบรนด์กระเป๋าแบบ Casual ทางไมเนอร์ยังไม่มี ได้แบรนด์อเนลโล่เข้ามาเติมพอร์ตให้เต็ม