“คอตตอน ยูเอสเอ” เผยแผนรุกตลาดปี 2560 ทุ่มงบกว่า 33 ล้านบาท สร้างการรับรู้แบรนด์ให้ครอบคลุมทั่วไทยและอาเซียน

ยอดผลผลิตฝ้ายสหรัฐอเมริกาในปี 2559 เติบโตขึ้น 25.2% มียอดส่งออกพุ่งขึ้น 30.7% ขณะที่การนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐอเมริกา ในอาเซียนโตสูงขึ้นถึง 46.4%ล่าสุด “คอตตอน ยูเอสเอ” เปิดแผน การตลาดมุ่งให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกลุ่มไลเซนซีทั้งกลุ่มแบรนด์และกลุ่มโรงงาน พร้อมเปิดตัว   แบรนด์ไลเซนซี 3 แบรนด์ใหม่ในกลุ่มเสื้อผ้าผู้ชายและยีนส์ อย่าง “ลี คูเปอร์” “แมนเชสเตอร์” และ “เซิร์ฟเท็ค” เพื่อรองรับเทรนด์การช้อปปิ้งของเสื้อผ้าผู้ชายที่เพิ่มขึ้น และทุ่มงบกว่า 33 ล้านบาท เดินหน้าจัดกิจกรรมการตลาดร่วมกับไลเซนซี เพื่อขยายการรับรู้แบรนด์อย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าเพิ่มจำนวน ไลเซนซีอีก 3 รายภายในปี 2560 และเตรียมเร่งเครื่องลุยตลาดอาเซียนเต็มกำลัง โดยเฉพาะเวียดนาม รวมถึงเล็งทำตลาดที่อินโดนีเซียในปีหน้า

นายไกรภพ แพ่งสภา ตัวแทนคอตตอน ยูเอสเอ ในกลุ่มประเทศอาเซียน กล่าวว่า “ในปี2559 ภาพรวมอุตสาหกรรมฝ้ายสหรัฐอเมริกา พบว่ามีการขยายตัวสูงขึ้น โดยยอดผลผลิตฝ้ายรวมทั้งหมด 3,751,000 ตัน เติบโตขึ้นถึง 25.2% โดยประเทศสหรัฐอเมริกายังคงครองตำแหน่งผู้นำในการส่งออกฝ้ายมากที่สุดในโลก ด้วยจำนวน 2,874,000 ตัน ซึ่งเติบโตขึ้นราว 30.7% และการนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาในกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 46.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน และยังคิดเป็นสัดส่วนราว 36.7% ของการส่งออกฝ้ายทั้งหมดจากสหรัฐอเมริกา โดยประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่มีการนำเข้าฝ้ายจากสหรัฐอเมริกามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ประเทศเวียดนาม323,974 ตัน ประเทศอินโดนีเซีย 157,328 ตัน และประเทศไทย 61,681 ตัน ฝ้ายจากสหรัฐอเมริกาได้รับการยอมรับจากผู้ประกอบการและผู้บริโภค เนื่องจากความต้องการของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและวัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของคนไทยเพิ่มมากขึ้น จากยอดการนำเข้าฝ้ายสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 28% เมื่อเทียบกับปี 2558”

“ในปี 2560 นี้ คอตตอน ยูเอสเอยังคงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการทำการตลาดร่วมกับกลุ่มไลเซนซีทั้ง 2 กลุ่ม โดยใช้กลยุทธ์แบบดีมานด์พูล (Demend Pull) กับกลุ่มแบรนด์ไลเซนซี ด้วยการจัดกิจกรรมทางการตลาดให้กับแบรนด์อย่างต่อเนื่อง เพื่อสื่อสารและสร้างความตระหนักรู้ในคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเส้นใยฝ้ายคุณภาพสหรัฐอเมริกา ไปยังผู้บริโภคคนไทยให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มอุปสงค์ในกลุ่มผู้บริโภคคนไทย และใช้กลยุทธ์แบบซัพพลายพุช(Supply Push) ที่มุ่งเน้นการให้บริการแก่กลุ่มไลเซนซีโรงงาน โดยคอตตอน ยูเอสเอจะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการเชื่อมต่อกลุ่มผู้ผลิตที่ใช้เส้นใยฝ้ายจากสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำธุรกิจร่วมกัน เป็นการต่อยอดทางธุรกิจ เปิดโอกาสทางการค้าใหม่ๆ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของโรงงานต้นน้ำในแถบอาเซียน ให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้อย่างเต็มที่”

“โดยในปีนี้ คอตตอน ยูเอสเอ ได้จัดเตรียมทุ่มงบการตลาดรวมทั้งปีกว่า 33 ล้านบาท เพื่อขยายการรับรู้แบรนด์ในวงกว้าง พร้อมกันนี้ยังได้เตรียมรุกตลาดเสื้อผ้าผู้ชาย ด้วยการเปิดตัวแบรนด์ไลเซนซีใหม่ถึง 3 แบรนด์ด้วยกัน นำโดย “ลี คูเปอร์” แบรนด์แฟชั่นยีนส์วัยรุ่นสุดฮิปสไตล์อีสต์ลอนดอน“แมนเชสเตอร์” แบรนด์เสื้อผ้าสุภาพบุรุษสัญชาติไทย สไตล์เรียบหรู ที่ทำตลาดในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี และ “เซิร์ฟเท็ค” แบรนด์เสื้อผ้าผู้ชายสไตล์สตรีทแวร์กลิ่นอายเซิร์ฟแวร์สัญชาติออสเตรเลีย โดยการเปิดตัวแบรนด์ไลเซนซีในกลุ่มเสื้อผ้าผู้ชายและยีนส์ในครั้งนี้ มีจุดประสงค์เพื่อรองรับเทรนด์การช้อปปิ้งสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้าผู้ชายที่เพิ่มมากขึ้น โดยคอตตอน ยูเอสเอเตรียมเดินหน้าจัดกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับไลเซนซีอย่างเต็มรูปแบบ อาทิ การทำแคมเปญโปรโมชั่นร่วมกับไลเซนซีเพื่อหาผู้โชคดี  ร่วมเดินทางไปสัมผัสกับไร่ฝ้ายสหรัฐอเมริกาในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี2560 นอกจากนี้ ทางคอตตอน ยูเอสเอ ได้จัดงาน Sourcing Fair ณ ประเทศฮ่องกง ซึ่งคอตตอน ยูเอสเอ ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่ใช้เส้นใยฝ้ายจากสหรัฐอเมริกา กับกลุ่มแบรนด์และผู้ค้าปลีก เพื่อสร้างโอกาสในการซื้อขาย และเพิ่มโอกาสในการสร้างคู่ค้าทางธุรกิจให้มากขึ้น รวมถึงการจัดงานสัมมนาในหัวข้อต่างๆ และการแบ่งปันข้อมูลจาก   ผลสำรวจที่จัดทำขึ้นในทุกๆ 2 ปี เช่น Global Lifestyle Monitor และ Mark Tracking Survey เป็นต้น นอกจากนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2560 คอตตอน ยูเอสเอเตรียมจับมือกับ 3 แบรนด์ไลเซนซีในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยีนส์ชั้นนำของประเทศไทยอย่าง “ลี” “แรงเลอร์” และ “ลี คูเปอร์” เปิดตัวคอลเลคชั่นพิเศษซึ่งจะเป็นการผสมผสานเทคโนโลยี ใหม่ล่าสุดจากคอตตอน อินคอร์ปอเรตลงไปในเสื้อผ้า เพื่อเพิ่มฟังก์ชั่นการใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“ปัจจุบันในภูมิภาคอาเซียน คอตตอน ยูเอสเอมีแบรนด์ไลเซนซีในกลุ่มเสื้อผ้าและเคหะสิ่งทอ จำนวน 55 แบรนด์ และกลุ่มโรงงานจำนวน 60 ราย โดยสำหรับประเทศไทย มีแบรนด์ไลเซนซีในกลุ่มเสื้อผ้าและเคหะสิ่งทอ จำนวน 27 แบรนด์ ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่สิ่งทอ จำนวน 2 แบรนด์ และกลุ่มโรงงานจำนวน 30 ราย และได้วางเป้าหมายที่จะขยายแบรนด์ไลเซนซีจำนวน 3 แบรนด์ โดยในจำนวนดังกล่าวนี้จะมีกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องประกอบบริขารการนุ่งห่มสำหรับพระสงฆ์ ซึ่งเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติมขึ้นมา และในกลุ่มโรงงานอีก 3 รายภายในปีนี้ นอกจากนี้ คอตตอน ยูเอสเอเตรียมเดินหน้ารุกตลาดอาเซียนอย่างเต็มที่ โดยเริ่มจากประเทศเวียดนาม ที่วางแผนจะเปิดตัวแบรนด์ไลเซนซีเป็นครั้งแรก 3 ราย ควบคู่ไปกับการจัดแคมเปญโปรโมชั่นใหม่ๆ สำหรับผู้บริโภค พร้อมทั้งเล็งทำกิจกรรมสำหรับผู้บริโภคที่ประเทศอินโดนีเซียในปีหน้า เพื่อขยายการรับรู้ของแบรนด์คอตตอน ยูเอสเอ ไปยังผู้บริโภคทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนในวงกว้างมากขึ้น” นายไกรภพ กล่าวทิ้งท้าย