ซิโก้-สปอร์ต ฮีโร่ ดรามาก้อนโต ที่สมาคมฟุตบอลฯ อยากจบ

การปิดฉากลงของ ซิโก้ และสปอร์ต ฮีโร่ คือจุดเริ่มต้นของสมาคมฟุตบอลฯ กับการเดินเข้าสู่ “กติกาใหม่” ภายใต้สูตรการปั้นทีม และบริหารผลประโยชน์ของทีมชาติไทย

ยังคงเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์สำหรับกรณีการลาออกของ “ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง จากโค้ชทีมชาติไทย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา หลังจากคุมช้างศึกไปแพ้ทีมชาติญี่ปุ่น ทำให้ผลการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย ใน 2 เกมล่าสุดที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า ทีมชาติไทย กลายเป็นชาติแรกที่หมดสิทธิคว้าตั๋วไปลุยฟุตบอลโลก 2018 รอบสุดท้ายที่รัสเซียแน่นอนแล้ว หลังจาก 2 เกมล่าสุดแพ้รวด แข่งมาถึง 7 นัดมีเพียง 1 คะแนนเท่านั้น

เป็นการลาออกพร้อมๆ กับข่าวลือต่างๆ มากมายว่า ซิโก้ชิงลาออกก่อนโดนปลด หลังจากทำผลงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือบ้างก็ว่า มีปัญหาเรื้อรังกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ภายใต้การคุมของ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ก็มีกระแสข่าวลือว่า ซิโก้ โดนบีบให้ลาออก หรือให้ทบทวนการทำสัญญาการเป็นโค้ชใหม่ หลังจากสัญญาเดิมที่ทำกับทีมสมาคมฟุตบอลชุดที่แล้วกำลังจะหมดในต้นเดือนกุมภาพันธ์

นอกเหนือจากผลงานที่ไม่เข้าเป้าแล้ว หนึ่งในประเด็นสำคัญที่อยู่ในความสนใจ คือ บทบาทของ บริษัท สปอร์ต ฮีโร่ บริษัทตัวแทนของซิโก้ ที่รับหน้าที่เซ็นสัญญากับสมาคมฟุตบอลฯ ในการเข้ามาคุมทีมชาติไทย และกิจกรรมอื่นๆ ทั้งหมด ที่เคยเป็น “ชนวน” ความขัดแย้งระหว่างสมาคมฯ และซิโก้มาตั้งแต่ช่วงการต่อสัญญา ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

สมาคมฯ ไม่ต้องการเซ็นสัญญาในรูปแบบของบริษัทอีกต่อไป แต่ต้องการทำกับ “ซิโก้” คนเดียวเท่านั้น เพราะสมาคมฯ เองต้องการนำซิโก้ในฐานะเฮดโค้ช เข้า “ระบบ” ของสมาคมฯ นอกจากมีแผนจะให้ต่างชาติเข้ามาดูและบริหารจัดการทีมชาติไทยแล้ว สมาคมฯ ยังได้ บริษัท แพลน บี ที่ผ่านการคัดเลือก เข้ามาเป็นตัวแทนอย่างเป็นทางการ (Official Agency) ในการบริหารสิทธิประโยชน์ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ แทนที่จะเป็น “สปอร์ต ฮีโร่” เป็นคนดูแลเรื่องเหล่านี้มาตลอด

ในขณะที่ซิโก้นั้นต้องการให้ทุกอย่างเหมือนเดิม ทั้งตัวเขา และสิทธิต่างๆ ที่สปอร์ต ฮีโร่เคยได้รับมา เพราะที่ผ่านมารายได้ที่สปอร์ต ฮีโร่ได้รับนั้นบอกเลยว่าไม่ธรรมดา

สปอนเซอร์ของสปอร์ตฮีโร่

จากข้อมูลของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุ สปอร์ต ฮีโร่ ตั้งขึ้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2546 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท มีจำนวนหุ้น 10,000 หุ้น ถือหุ้นโดย นางอัสราภา เสนาเมือง 53% นายเกียรติศักดิ์ เสนาเมือง 45% และนางเพ็ญประภา วุฒิเวทย์ 2.5%

จากรายงานประจำปี 2558 ซึ่งเป็นปีล่าสุดแจ้งว่า บริษัทมีทรัพย์สินรวม 8,574,537.67 ล้านบาท มีรายได้ 44,888,165.98ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,409,206.79 ล้านบาท กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 340.92 บาท ทั้งนี้รายได้ 70% ของบริษัทมาจากกิจกรรมจัดการแข่งขันกีฬา และอีก 30% มาจากกิจกรรมนายหน้า ตัวแทนสื่อโฆษณา

ในปี 2558 บริษัทได้ทำการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 200 บาท เป็นวงเงินรวม 2 ล้านบาท โดยต้นทุนบริการของบริษัททั้งปีเป็นเงินรวม 36,983,396.98 มาจาก ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ 24,419,000 ล้านบาท ค่าจ้างแสดงแบบโฆษณา 2 ล้านบาท ค่าประสานงาน 3,272,000 ล้านบาท และการจัดกิจกรรมการแข่งขัน 7,217,396.98 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังเป็นที่รู้กันในแวดวงฟุตบอลทีมชาติว่า ที่ผ่านมาสปอร์ต ฮีโร่คือผู้จัดการสิทธิทุกอย่างของนักเตะทีมชาติ ทั้งการให้ถ่ายภาพข่าว โปรโมต หรือผลประโยชน์จากพรีเซ็นเตอร์ การจัดอีเวนต์ เป็นผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่ได้รับจากการเข้าคุมฟุตบอลทีมชาติชุดใหญ่ ซึ่งมีมาในยุคสมาคมฟุตบอลชุดเก่า ก่อนหน้าพล.ต.อ.สมยศ

ด้วยการเข้าใจถึงการสร้างแบรนด์ของสปอร์ต ฮีโร่ ที่ปั้นให้ “นักเตะทีมชาติ” มีลุคใหม่ ให้ดูเท่ หล่อเนี้ยบ ทำให้มีสินค้าต่างๆ มากมาย ไม่ใช่แค่ “ซิโก้” เท่านั้น ที่เป็นที่ต้องการของแบรนด์สินค้าให้มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ยังรวมไปถึงนักฟุตบอลทีมชาติไทย ที่ยังเป็นที่สนใจของสินค้าต่างๆ ที่ติดต่อผ่านสปอร์ต ฮีโร่ ทั้งออกงานอีเวนต์ ถ่ายรูปกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ ลงสื่อต่างๆ และโซเชียลมีเดียอีกจำนวนมาก บางรายการนักกีฬาก็ได้รับผลประโยชน์ส่วนแบ่ง แต่บางรายการก็อาจจะไม่ได้รับ แต่ส่วนใหญ่ทุกคนก็ไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะถือว่าเป็นเสมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า

โดยผลที่นักกีฬาเหล่านี้ต้องการคือ การติดทีมชาติ การได้ลงเล่นในสนาม เพราะมีผลต่อรายได้ของเขาในฐานะนักฟุตบอลอาชีพในสโมสร และงานพรีเซ็นเตอร์โฆษณาที่อาจจะตามมา ที่ล้วนแต่เป็นเงินรายได้จำนวนมาก ที่อยู่ในมือของสปอร์ต ฮีโร่

ปัจจุบันนักกีฬาที่ติดทีมชาติ จะมีอัตราเงินเดือนในสโมสรในเรตที่สูงกว่านักกีฬาที่ไม่ติดทีมชาติอยู่แล้ว ตั้งแต่ 3-8 แสนบาทต่อเดือน แตกต่างกันไป

แต่เมื่อเปลี่ยนขั้วผู้คุมบังเหียนสมาคมฯ ผลประโยชน์หรือ “เค้ก” ก้อนเดิมจึงต้องถูก “เปลี่ยนมือ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งมูลค่าของฟุตบอลไทยเวลานี้ ไม่เหมือนกับในอดีตอีกต่อไปแล้ว

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ในปี 2016  ได้ระบุถึงธุรกิจฟุตบอลไทย ได้ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอยู่ที่ประมาณ 12,000 ล้านบาท ซึ่งหมายรวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ โดยส่งผ่านมายังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างการลงทุนในการทำทีมฟุตบอล สื่อโทรทัศน์ อุปกรณ์กีฬา สินค้า เสื้อกีฬา และของที่ระลึก ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจคมนาคมขนส่ง สถาบันสอนกีฬา และยังก่อให้เกิดการจ้างงาน และการเกิดขึ้นของอาชีพใหม่ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ดังนั้น นอกจากการวางแผนยกระดับนักฟุตบอลไทยให้สูงขึ้น โดยการมองหาโค้ชต่างชาติที่จะมาช่วยเรื่องแทคติก รูปแบบเกมใหม่ๆ แล้ว  จึงเป็นที่มาของการเซ็นสัญญากับ “บริษัท เอคโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส” ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 4 เมษายน หลังการลาออกของโค้ชซิโก้ไม่กี่วัน เพื่อวางโครงสร้างพัฒนานักกีฬาฟุตบอลของประเทศไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับเยาวชน เพื่อไปสู่ระดับโลก ในปี 2026 

สมาคมฯ ยังต้องการให้การผลประโยชน์ต่างๆ ของทีมชาติไทยที่เคยอยู่ในมือของ “สปอร์ต ฮีโร่” มาอยู่ในมือของสมาคมฯ โดยมี “แพลน บี” เข้ามาเป็นตัวแทนในการดูแลผลประโยชน์เหล่านี้อย่างเป็นทางการ และถึงแม้สัญญามีผลตั้งแต่ต้นปี 2560 แต่แพลน บีก็ยังขยับเข้ามาทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากการคัดเลือกผู้ได้รับสิทธิผลิตชุดและสินค้าที่ระลึกของทีมชาติไทย

มาดูถึง “แพลน บี มีเดีย” ภายใต้การนำของ ปรินทร์ โลจนะโกสินทร์ นักธุรกิจหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงวัย 30 กว่าๆ ผู้ซึ่งสามารถแจ้งเกิด “สื่อนอกบ้าน” โตแบบก้าวกระโดด จนสามารถเทกโอเวอร์กิจการสื่อนอกบ้านเดิมมาอยู่ในมือ และยังเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และยังคว้าสิทธิดูแลผลประโยชน์ให้สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย และบริษัท พรีเมียร์ ลีก ไทยแลนด์ จำกัด (หรือปัจจุบันคือ ไทยลีก) เป็นเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560 – 2563 แต่เพียงผู้เดียว หลังการันตีรายได้รวมของทั้งสองหน่วยงานเป็นเงิน 3,240 ล้านบาท

เฉือนเอาชนะการประกวดราคาคัดเลือก จากที่เสนอมาทั้งหมด 3 บริษัท บริษัท เดนท์สุ มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) และบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน ) ทั้งยังถือเป็นงานแรกๆ ของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยของ พล.ต.อ.สมยศ ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2559ก่อนหน้าการคัดเลือกนี้เพียง 2 เดือนกว่าเท่านั้นเอง

โดย “แพลน บี” ได้เสนอรายได้อย่างต่ำที่ทางสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะได้รับตลอดระยะเวลา 4 ปี รวมเป็นเงินไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท (ไม่ต่ำกว่า 250 ล้านบาทต่อปี) โดยมีหนังสือค้ำประกันจากธนาคารไทยพาณิชย์ พร้อมกันนี้ทาง “แพลน บี” ยังสนับสนุนด้านการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ทางช่องทางต่างๆ ให้กับสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ตลอดระยะเวลา 4 ปี ไม่น้อยกว่า 800 ล้านบาท (200 ล้านบาทต่อปี) เบ็ดเสร็จทางสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ จะมีรายได้จากแพลน บีรวม 4 ปี ไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท (450 ล้านบาทต่อปี)

เมื่อซิโก้และสปอร์ต ฮีโร่จำใจยอมถอย จากนี้ไป “แพลน บี” และสมาคมฯ เองต้องใส่เกียร์เดินหน้า เข้ามาดูแลบริการจัดการทีมฟุตบอลรวมทั้งผลประโยชน์ต่างๆ ให้ออกดอกออกผล กลายเป็นเค้กก้อนใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม เพราะไม่ใช่แค่ตัวสินค้า เสื้อ ของที่ระลึก แต่ยังครอบคลุมทุกกิจกรรมของสมาคมฯ ตั้งแต่เรื่องการรับงานสปอนเซอร์ โฆษณาที่เกี่ยวกับนักกีฬาทีมชาติ และกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในรูปแบบทางการ ที่เอาเงินเข้ากระเป๋าสมาคมฯ ตามกฎระเบียบที่วางไว้

การทำงานของแพลน บีเองต่อจากนี้ ก็น่าจะราบรื่น เพราะถ้าเทียบฟอร์มกันแล้ว แพลน บีเองมีทั้งประสบการณ์ในธุรกิจสื่อนอกบ้าน จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีเครือข่ายเพื่อนฝูงนักธุรกิจรุ่นราวคราวเดียวกันแล้ว ยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนต่างประเทศ กับ ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ลูกสาวของ “บิ๊กอ๊อด” พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ซึ่งเวลานี้ก็เข้ามาเป็นผู้จัดการ ทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 14 ปี

ในเมื่ออีกฝ่ายต้องเป็นฝ่ายเสียผลประโยชน์ และอีกฝ่ายในฐานะผู้มาใหม่ ที่ต้องถูกจับตามอง ไม่ต้องแปลกใจ “ดราม่า” ระหว่าง ซิโก้ สปอร์ต ฮีโร่ และสมาคมฟุตบอลไทย จะยังคงเป็นกระแสบนหน้าสื่อไปอีกพักใหญ่ เพราะต่างฝ่ายต่างมี “สตอรี่” และ “กองเชียร์” เป็นของตัวเอง   

ดูได้จากหลังจากสมาคมฯ เซ็นสัญญากับ บริษัท เอคโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส” ไม่ทันไร “โค้ชซิโก้” ก็ออกมาวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน ถ้าเปรียบก็คงเป็นหนังเรื่องยาวให้ได้ติดตามกันต่อไปเรื่อยๆ