ธนาคารกสิกรไทย นับเป็นแบงก์แรกๆ ที่บุกเบิกนำแอปพลิเคชั่นทำธุรกรรมผ่านมือถือในนาม K-Mobile Banking PLUS มาให้บริการแก่ลูกค้า ตั้งแต่ปี 2556 เพื่อรับกับเทรนด์การใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น
หลังจากเปิดให้บริการมาได้ 4 ปี มีเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 50-100% ครองส่วนแบ่งตลาด Mobile Banking ราว 50% ในแง่ของปริมาณการทำธุรกรรม ในปีที่ผ่านมามียอดธุรกรรมผ่านแอปพลิเคชั่นนี้ 1,700 ล้านรายการ มีมูลค่า 4 ล้านล้านบาท
มาปีนี้ ได้ฤกษ์พลิกโฉม K-Mobile Banking PLUS ใหม่ เปลี่ยนชื่อเป็น K PLUS พร้อมโลโก้ใหม่ ด้วยเหตุผลคือ เพื่อให้จดจำง่าย และเรียกชื่อง่าย เพราะชื่อเดิมยาวเกินไป และต้องการเสริมฮวงจุ้ย
“นอกจากเรียกง่ายขึ้น ยังถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ไปในตัวตามความเชื่อของคนไทยที่เปลี่ยนชื่อแล้วจะดีขึ้น เพราะที่ผ่านมามีกระแสที่ K-Mobile Banking PLUS โดนด่าบนโซเชียลมีเดียบ่อยๆ บางทีไม่ใช่ความผิดของธนาคารโดยตรงด้วยซ้ำ จึงเปลี่ยนชื่อให้ดีขึ้น” พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย บอกถึงเหตุผล
กสิกรไทยได้ใช้เวลาเกือบ 1 ปี ในการทำผลสำรวจกับผู้บริโภค และทำโฟกัสกรุ๊ป จนได้ชื่อ K PLUS เป็นชื่อที่ลงตัวที่ผู้บริโภคจำง่ายมากที่สุด
นอกจากการเปลี่ยนชื่อเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยแล้ว กสิกรยังหวังปั้น K PLUS ให้เป็น “ธนาคารสาขาบนมือถือ” ด้วยการเพิ่ม 3 ฟีเจอร์ใหม่ ได้แก่ การขอบัตรเดบิตผ่านแอปแล้วรอรับที่สาขา, ซื้อประกันเดินทาง และขอรายการเดินบัญชีย้อนหลัง และในอนาคตจะเพิ่มบริการ เปิดบัญชีกองทุน ซื้อขายสับเปลี่ยนกองทุน อายัดบัตรเครดิต และโอนเงินต่างประเทศ สามารถทำได้โดยไม่ต้องไปที่สาขา
“ทิศทางของลูกค้าหันมาใช้บริการโมบายแบงกิ้งมากขึ้น เมื่อดูภาพรวมในตลาดมีจำนวนบัญชีผู้ใช้ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปี 2559 เติบโตขึ้น 50% สอดคล้องกับเทรนด์ไลฟ์สไตล์ ดิจิทัล โมบิลิตี้ ที่ต้องการจัดการทุกอย่างด้วยตัวเองผ่านสมาร์ทโฟน โมบายแบงกิ้งช่วยทำให้การเงินเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น จากที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยากมาตลอด”
ปัจจุบัน K PLUS มีผู้ใช้รวม 5 ล้านราย มีผู้ใช้งานแอคทีฟ 80% โดยมีการทำธุรกรรมในไตรมาสที่ 1 เพิ่มขึ้น 102% เมื่อเทียบกับปีก่อน ในปีนี้ตั้งเป้าผู้ใช้ 7 ล้านราย หรือเติบโตขึ้น 50% ทั้งจำนวนผู้ใช้ และปริมาณการทำธุรกรรม
ส่วนในเรื่องการแข่งขันในตลาดโมบายแบงกิ้ง ธนาคารหันมาทำตลาดนี้กันหมดเพราะพฤติกรรมผู้บริโภคใช้สมาร์ทโฟนในการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยเทรนด์ของดิจิทัลก็เติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้เล่นแต่ละรายมีการลงทุนพัฒนาแอปพลิเคชั่น หรือพัฒนาบริการ ฟีเจอร์ต่างๆ ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น
นอกจากการรีแบรนด์ในส่วนของผู้ใช้ทั่วไปแล้ว ยังเพิ่มแอปใหม่ K PLUS SME เพื่อจับกลุ่มผู้ประกอบการ SME โดยเฉพาะ อาศัยช่องว่างในตลาดที่ยังไม่มีแบรนด์ไหนทำ
จากเดิมใน K PLUS มีผู้ใช้ที่เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือประกอบธุรกิจ SME อยู่ราว 40% แต่มีข้อจำกัดอยู่ที่ว่าผู้ประกอบการ SME ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจะใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่นไม่ได้ ต้องใช้งานผ่านเว็บไซต์เท่านั้น เท่ากับว่าคนที่ใช้ผ่าน K PLUS เป็นบัญชีบุคคลธรรมดา
ปัญหาที่ตามมาก็คือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการตรวจสอบยอดเงินเข้าออกเป็นประจำทั้งโอนเงิน หรือรับจ่ายเช็ค แต่ในแอป K PLUS ไม่สามารถดูได้ จึงพัฒนาเป็น K PLUS SME ที่มีฟีเจอร์เฉพาะกลุ่มในการจัดการดูภาพรวมการเงินของธุรกิจ ตรวจสอบสถานะเช็ค รายงานสินเชื่อ ดูการเคลื่อนไหวบัญชีแบบเรียลไทม์ สามารถใช้งานได้ทั้งแบบนิติบุคคล และบุคคลธรรมดา
หลังจากที่เปิดตัวเมือเดือนก่อน ตอนนี้มีคนดาวน์โหลด K PLUS SME แล้ว 10,000 ราย ตั้งเป้าในสิ้นปีมีผู้ใช้ 40,000-50,000 ราย จากลูกค้า SME ของกสิกรไทยรวม 120,000 ราย