“ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด” ผู้ดำเนินงานโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ “ไทยแลนด์พริวิเลจ คาร์ด” หรือ ไทยแลนด์ อีลิทคาร์ด แถลงผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2560 ยอดขายเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 16.5% สามารถทำรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่า 47% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พร้อมประกาศอย่างมั่นใจตัวเลขครึ่งปีหลังฉลุย หลังได้ลงนามความร่วมมือกับ“เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์สฯ”เป็นที่เรียบร้อย เพราะจะทำให้มีอีก 28 ออฟฟิศทั่วโลกของ เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์สฯ มาช่วยขาย และเมื่อรวมกับตัวแทนขายเดิม21 ราย เท่ากับ “ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด”จะมีตัวแทนขายกระจายอยู่ทั่วโลกถึง 49 รายพร้อมเดินสายโรดโชว์เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยว-นักลงทุนต่างชาติ กระตุ้นการท่องเที่ยวดึงเม็ดเงินต่างชาติระยะยาว
นายพฤทธิ์ บุปผาคำ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) กล่าวว่า ไทยแลนด์ อีลิทฯ ได้ตั้งเป้ารายได้ของปีงบประมาณ 2560 ไว้ที่ 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นการตั้งเป้าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (ปี 2559) ประมาณ 15% ซึ่งหากพิจารณาครึ่งปีแรกของการดำเนินงาน (ตุลาคม 2559-มีนาคม 2560) หรือครึ่งทางจากเป้า 400 ล้านบาท ก็คือ 200 ล้านบาท แต่ปัจจุบันทางไทยแลนด์ อีลิทฯ (1 ตุลาคม 2559-31 มีนาคม 2560) สามารถทำเป้ายอดขายได้ที่ 233 ล้านบาท เท่ากับว่าสามารถทำรายได้ในภาพรวมเกินเป้ายอดขายที่ตั้งไว้ กว่า 16.5% และถ้าเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2559 สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้นมากว่า 47% ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้อีกทางหนึ่ง เนื่องจากสมาชิกบัตรฯเหล่านี้จะเข้ามาใช้บริการจากภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็น สนามกอล์ฟ โรงพยาบาล สปา ร้านอาหาร โรงแรม และอื่นๆ นอกจากนี้สมาชิกฯยังมีการซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดในประเทศไทยทั้งนั้น ซึ่งเป็นการสร้างผลประโยชน์ให้ทางภาคธุรกิจเอกชนของไทยอีกด้วย
“ยอดขายในครึ่งปีแรกนี้จะมาจากตัวแทนขายที่มีอยู่ 21 ราย และการขายผ่านทางทีพีซีโดยตรง โดยครึ่งปีแรกเรามีสมาชิกใหม่เข้ามาประมาณ 412 คน จากเป้าหมายทั้งปีของปี 2560 ตั้งไว้ที่ 678 คน เท่ากับว่าปัจจุบันเรามีสมาชิกใหม่เข้ามาถึง 61% แล้วจากยอดที่ตั้งไว้ทั้งปี ปัจจุบันมีสมาชิกรวมทั้งหมด 4,348 คน (ยอด ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2560)
สำหรับครึ่งปีหลัง เรามั่นใจว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นจากเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน เพราะเราจะมีอีก 28 ออฟฟิศทั่วโลกของ เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์สฯ ที่เราได้เซ็นสัญญาความร่วมมือกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางเฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์สฯ จะเข้ามาช่วยเราในการจำหน่ายบัตรฯ และหากรวมกับตัวแทนขายเดิมที่มีอยู่ 21 ราย เท่ากับว่าเราจะมีตัวแทนขายถึง 49 รายในการจำหน่ายบัตรไทยแลนด์ อีลิทคาร์ด ออกสู่ทั่วโลก รวมทั้งช่องทางขายที่ผ่านเข้ามาทางทีพีซีโดยตรง (Direct Customer)
นอกจากนี้ นายพฤทธิ์ ยังได้กล่าวถึงแผนความร่วมมือ และแผนการทำตลาดร่วมกับเฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์สฯ ว่า ไทยแลนด์ อีลิทคาร์ด มีแผนโรดโชว์ร่วมกับเฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์สฯ โดยได้เปิดตัวไปแล้วที่ประเทศสิงคโปร์ และกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งถือว่าผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ และยังมีแผนจะไปโรดโชว์ร่วมกับทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ประเทศญี่ปุ่น และเฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์สฯ ที่ประเทศเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และฮ่องกง ภายในปีนี้ จากความร่วมมือดังกล่าว ทางเฮนลีย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์สฯ ได้ตั้งเป้ายอดขายบัตรฯ ปีแรกไว้ที่ 200 ล้านบาท ปีที่ 2 จำนวน 300 ล้านบาท ปีที่ 3 จำนวน 400 ล้านบาท นั่นหมายถึงว่าหากเป็นไปตามเป้านี้ ในอนาคตรายได้ของไทยแลนด์ อีลิทคาร์ด จะอยู่ที่ประมาณปีละ 1,000 ล้านบาท (รวมกับเป้าที่ทางทีพีซีตั้งไว้ตอนนี้ 400 ล้านบาท) และเชื่อว่าในระยะเวลาไม่นานไทยแลนด์อีลิทคาร์ดจะสามารถสร้างรายได้ถึงปีละ 1,000 ล้านบาทอย่างแน่นอน
“ต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีกอบกาญจน์ ที่ได้เข้ามาช่วยในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับทีพีซี เหมือนเป็นการรับประกันให้กับนักลงทุน และนักท่องเที่ยวว่าเราเป็นสินค้าของรัฐบาล ทั้งนี้ทางรัฐบาลยังต้องการเห็นสมาชิกบัตรของเราซึ่งเป็น Investment Immigration หรือ นักลงทุน (Investor) เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมากขึ้นด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศมากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามเราได้เปิดการขายให้กับกลุ่มลูกค้าต่างชาติทั่วไป ไม่ได้จำกัดชนชั้น และไม่ได้ผูกขาดกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่ง โดยปัจจุบันสมาชิกกว่า 4,348 คน จาก 6 กลุ่มประเทศอันดับแรก ได้แก่ อังกฤษ จีน สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และบังคลาเทศ” นายพฤทธิ์กล่าว และเสริมว่า
ปัจจุบัน บัตรไทยแลนด์ อีลิทคาร์ด มีทั้งสิ้น 7 ประเภท มีความหลากหลายทั้งด้านราคา และสิทธิประโยชน์ โดยมีราคาตั้งแต่ 5 แสน-2 ล้านบาท ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายโดยกลุ่มเป้าหมายมีทั้งชาวต่างชาติที่มีฐานะปานกลางจนถึงฐานะร่ำรวย รวมถึงกลุ่มที่เข้ามาเป็นครอบครัว โดยเป็นกลุ่มชาวต่างชาติที่รักเมืองไทย ต้องการอยู่อาศัย และลงทุนในประเทศไทย จากการซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโด การเช่าบ้าน และคอนโด และการใช้จ่ายในประเทศไทย นับเป็นการลงทุนในประเทศไทยอย่างหนึ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวทั่วไปใช้ระยะเวลาแค่ไม่กี่วันในประเทศไทย ในขณะที่กลุ่มสมาชิกพำนักหลายปี รวมถึงมีการลงทุนในรูปแบบต่างๆ (Investment Immigration) ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศไทย ทั้งนี้บัตรไทยแลนด์ อีลิทคาร์ด 7 ประเภท ได้แก่
1.) บัตร “อีลิท อูทิเมท พริวิเลจ (Elite Ultimate privilege)” หรือแพคเกจหลักราคา 2 ล้านบาท อายุบัตร 20 ปี มาพร้อมสิทธิประโยชน์แบบเต็มรูปแบบ สำหรับผู้อยู่อาศัยในระยะยาว ทั้งบริการรถลิมูซีนระยะสั้นอย่างไม่จำกัด กอล์ฟ สปา จำนวน 24 ครั้งต่อปี บริการตรวจเช็คร่างกาย 1 ครั้งต่อปี
2.) บัตร “อีลิท แฟมิลี่ พรีเมี่ยม (Elite Family Premium)” จะเป็นแพคเกจที่พ่วงกับ “อีลิท อูทิเมท พริวิเลจ” สำหรับบุคคลในครอบครัว ในราคา 1 ล้านบาท โดยอายุบัตรขึ้นอยู่กับบัตรหลัก พร้อมให้บริการรถลิมูซีนระยะสั้นอย่างไม่จำกัด กอล์ฟ สปา จำนวน 10 ครั้งต่อปี
3.) บัตร “อีลิทอีซี่ แอสเซส (Elite Easy Access)” ราคา 5 แสนบาท อายุบัตร 5 ปี สำหรับการเข้าออกในประเทศไทยระยะสั้น สำหรับท่านที่เดินทางคนเดียว และสามารถอัพเกรดเป็นแพคเกจหลักได้ มาพร้อมบริการรถลิมูซีนระยะสั้น จำนวน 24 ครั้งต่อปี
4.) บัตร “อีลิทแฟมิลี เอ็กซ์เคอร์ชั่น (Elite Family Excursion)” ราคา 8 แสนบาท อายุบัตร 5 ปี เพื่อการเข้าออกในประเทศไทยระยะสั้น เหมาะกับกลุ่มครอบครัวโดยเฉพาะ ด้วยราคาพิเศษสำหรับ 2 ท่านเป็นต้นไป เจาะกลุ่มนักธุรกิจ ครอบครัวที่ลูกศึกษาในไทย หรือผู้ที่เข้ามาพักผ่อนระยะสั้นๆ เป็นครอบครัว
5.) บัตร “อีลิทแฟมิลี่ อัลเทอร์เนทีฟ (Elite Family Alternative)” ราคา 8 แสนบาท อายุ 10 ปี เป็นบัตรที่เหมาะทั้งมาเดี่ยวและมาเป็นครอบครัว ในการพำนักระยะยาว เหมาะกับผู้อยู่อาศัยระยะยาว ไม่ว่าจะทำงาน หรือพักผ่อน
6.) บัตร “อีลิทพริวิเลจแอคเซส (Elite Privilege Access)” ราคา 1 ล้านบาท อายุบัตร 10 ปี อีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการอาศัยในประเทศไทยในระยะยาว ไม่ว่าจะมาเดี่ยวหรือมาเป็นครอบครัว และมีการเดินทางเข้าออกบ่อยครั้ง
7.) บัตร “อีลิทซูพีเรียริตี้เอ็กซ์เทนชั่น (Elite Superiority Extension)” ราคา 1 ล้านบาท อายุบัตร 20 ปี สำหรับผู้ต้องการอาศัยในประเทศไทยระยะยาวโดยไม่ต้องกังวลใจ เหมาะกับกลุ่มเกษียณอายุ หรือผู้ที่ต้องการพำนักในประเทศไทยในระยะยาว