ทุกๆ โมเมนต์ของชีวิตผู้คนล้วนต้องอยู่กับเทคโนโลยี โครงการ “April Series 2017” การรวมงานประชุมสัมมนาทางด้านเทคโนโลยี ด้านการศึกษา และการแพทย์สาธารณสุขเข้าด้วยกัน จัดโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDE) ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) ภายใต้แนวคิด “How To Reform Education System to Accelerate Thailand 4.0” เวทีเรียนรู้ อัพเดทข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ เป็นประโยชน์ด้านการศึกษา และการแพทย์สาธารณสุข
ตามร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 เน้นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการให้ ดิจิทัล เทคโนโลยี (Digital Technology) ช่วยตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของประเทศตลอดเวลา อย่างไม่สามารถคาดการณ์ได้
โครงการ “April Series 2017” ประกอบด้วย งาน Education ICT Forum 2017,งาน Healthcare Technology Summit 2017 และงาน Innovation Summit 2017 ณ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่าโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือแบบประชารัฐ คือมีทั้งฝ่ายเอกชนและรัฐบาล ที่เล็งเห็นร่วมกันว่า ดิจิทัล มีประโยชน์ในการประยุกต์ใช้ทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข และการค้าขาย เพราะฉะนั้น การจะสร้างความตื่นตัว ต้องทำไปพร้อมกันหลายอย่าง โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งขณะนี้ ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการพัฒนาบุคลากรด้านการศึกษาให้มีความเข้าใจมากขึ้น อย่างระบบ e-Learning ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง และมีเทคโนโลยีใหม่อะไรเกิดขึ้นบ้าง เพราะการจะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้ครูสอนเก่งขึ้น ทำอย่างไรทำให้เด็กไม่เบื่อในการเรียน ซึ่งเทคโนโลยีช่วยได้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขเห็นชัดว่าได้มีการใช้ดิจิทัลทำให้สุขภาพของประชาชนดีขึ้นได้หลายวิธี
“สิ่งที่กระทรวงดิจิทัลฯ ดำเนินการในปีนี้ คือการวางเครือข่ายใยแก้วไฟเบอร์ออพติคในหมู่บ้านของไทย 24,700 หมู่บ้าน สร้างชุมชนดิจิทัล และที่สำคัญเป็นความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงดิจิทัลฯ นำเทคโนโลยีเสริมการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำให้เขาทำงานได้เก่งขึ้น ได้รับคำปรึกษาที่ดีจากการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต การติดต่อสื่อสารจากแพทย์ในโรงพยาบาลอำเภอได้เร็วขึ้น รักษาชีวิตของชาวบ้าน” ดร.พิเชฐ กล่าว
ความร่วมมือในโครงการดังกล่าวเป็นการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัล ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกัน ยกระดับบุคลากรที่อยู่ในตลาดแรงงานสามารถใช้ดิจิทัลได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัยอาจต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรให้ทันสมัยเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะอนาคต รัฐบาลกำลังดำเนินการสร้างให้เกิดสมาร์ตซิตี (smart city) หรือเมืองอัจฉริยะ เกิดเศรษฐกิจพิเศษด้านดิจิทัล อย่างไรก็ตาม การติดตั้งอินเทอร์เน็ตในหมู่บ้านนั้น คาดว่าจะเริ่มเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป โดยจะเริ่มเดือนละประมาณ 3,000 กว่าหมู่บ้าน ปลายปีดำเนินการเสร็จ สร้างชุมชนดิจิทัลทั่วประเทศ
ประเทศกำลังเข้าสู่ Thailand 4.0 มีแนวทางสำหรับการปฏิรูปการศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งเป็นประเด็นด้านสังคมที่สำคัญ นายบุญรักษ์ สรัคคานนท์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า หากจะปฏิรูปประเทศ ถึงเวลาที่จะต้องลงมือร่วมผลักดันแผนปฏิบัติ eHealth ของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนระบบการแพทย์และสาธารณสุข ด้วย Digital Technology ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จะเป็นการร่วมกันตอบคำถามในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติต้องทำอย่างไร อีกทั้ง การพัฒนาเศรษฐกิจโดยชูยุทธศาสตร์ ประเทศไทย 4.0 ภาคการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งระบบอย่างไร ในระดับโรงเรียนต้องเตรียมก้าวเข้าสู่ทักษะศตวรรษที่ 21 ถึงเวลาปรับห้องเรียน เปลี่ยนอนาคต ผ่านวิกฤตการศึกษาไทย
“ปีนี้ เป็นปีแรกที่เรานำ 3 งานมารวมเป็นหนึ่งเดียว ซึ่ง Education ICT Forum 2017 เน้นเรื่องการใช้ไอทีในภาคการศึกษา ทั้งระดับอุดมศึกษา กระทรวงต่างๆ ที่ต้องใช้ไอทีในการขับเคลื่อนระบบการศึกษา และมีการบริหารจัดการโรงเรียน ทำอย่างไรให้ไอซีทีช่วยการจัดการเรียนการสอน เพราะหลายโรงเรียนขาดครูเก่งๆ ซึ่งไอซีทีสามารถช่วยได้ สามารถผลิตสื่อการเรียนการสอนและเผยแพร่ไปให้เด็กชนบท ขณะที่ Healthcare Technology Summit 2017 เป็นการใช้ไอซีทีในระบบสาธารณสุข ช่วยชีวิตคนและพัฒนาระบบการแพทย์และงาน Innovation Summit 2017 นำเสนอนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น โครงการดังกล่าว จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมาร่วมกันแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ แลกเปลี่ยนร่วมกับผู้บริหารโรงเรียน ผู้บริหารสาธารณสุข หาทางในการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน”นายบุญรักษ์ กล่าว
ที่ผ่านมาการแลกเปลี่ยน นำเสนอนวัตกรรม วิวัฒนาการไอซีทีใหม่ๆ ระหว่างผู้ประกอบการ และผู้ใช้ไม่ใช่เรื่องง่าย การจัดงานครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ ผู้ซื้อ ผู้ขายได้มาเจอกัน มีเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ ร่วมกัน
สมาคม ATCI มีการดำเนินการ 3-4 เรื่อง อาทิ พัฒนานวัตกรรมซอฟต์แวร์ที่มีประโยชน์ต่อการใช้งานด้านต่างๆ ยกระดับบุคลากรทั้งภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ผู้ใช้และภาครัฐให้มีมาตรฐาน ความชำนาญ และจะส่งเสริมสมาร์ตชุมชนในทุกระดับ อย่างไรก็ตาม โครงการครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ผู้เข้าร่วมงาน 60-70 % เข้าใจนโยบาย Thailand 4.0 รู้ว่ามีภารกิจทำอย่างไรบ้าง
น.ส. วรรณทิพา วงษ์สมุทร CTO บริษัท ฮิวเลตต์ แพคการ์ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เข้าร่วมงาน เพราะมีเป้าหมายในการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยได้มีโอกาสเข้ามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ทั้งภาคการศึกษา และภาคสาธารณสุข นำเสนอเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ การปรับโครงสร้างต่างๆ ให้เหมาะสมในยุคดิจิทัล
“เรามีทั้งความเชี่ยวชาญ มีบุคลากรที่ให้คำปรึกษาทั้งภาคการศึกษาและสาธารณสุข โดย การศึกษาไม่ได้อยู่เฉพาะในห้องเรียน มีการเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือเรียนรู้อยู่ในมือของทุกคน ซึ่งภาคโรงเรียน มหาวิทยาลัย ต้องออกแบบโครงสร้างห้องเรียนให้เด็กเรียนรู้ได้ทั่วถึง ระบบการป้องกันการใช้เทคโนโลยีในระบบการศึกษา แต่ละมหาวิทยาลัยมีช่องว่างแตกต่างกัน ทำเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มและสร้างเครือข่ายให้บริหารโรงเรียนและภาคเอกชน เช่นเดียวกับ ภาคสาธารณสุข สร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้ทุกคนดูแลสุขภาพ มีอายุยืนมากขึ้น” น.ส. วรรณทิพา กล่าว
“April Series 2017” โครงการนี้มีประโยชน์ต่อภาครัฐและเอกชนต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนร่วมกัน และช่วยลดช่องว่างระหว่างการบริหารจัดการ นำเทคโนโลยีไปใช้ระบบต่างๆ รวมถึงได้เข้าใจข้อจำกัด เช่น กฎหมาย เป็นต้น รวมถึงการเรียนรู้นวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับวัฒนธรรม ความต้องการของคนในสังคมไทย ภายในงานปีนี้ มีองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ อาทิ ด้านการศึกษา Tech Start Up, Start Here จาก แอพพลิเคชั่น OOKBEE, FABBRIGADE, Local A Like ด้านสุขภาพ สาธารณสุข Healthcare Tech Start Up จากผู้ก่อตั้ง Health at Home, แอพพลิเคชั่น Thai CV risk calculator