สมาคมผู้ค้าปลีกไทยเผย ดัชนีอุตสาหกรรมค้าปลีกโดยรวมของไตรมาสแรกปี 2560 เติบโตขึ้นถึง 3.02% ซึ่งเป็นผลจากภาพรวมของเศรษฐกิจและธุรกิจไทยในครึ่งปีแรก มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังต่อไป เนื่องจากบรรยากาศการจับจ่ายยังไม่แจ่มใสเท่าที่ควร คาดการณ์ว่า หากเครื่องยนต์การใช้จ่ายภาครัฐแผ่วลง ดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรก อาจต่ำกว่า 3% หรือในทางกลับกัน หากการใช้จ่ายภาครัฐมีประสิทธิภาพ ดัชนีค้าปลีกครึ่งปีแรกน่าจะมีโอกาสเติบโตถึง 3.2%
นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมได้คาดการณ์สถานการณ์ค้าปลีกครึ่งปีแรกน่าจะเติบโตระหว่าง 3.0-3.2% วิเคราะห์จากการเติบโตของ ภาคบริการ 3 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง, ภาคการเงินการธนาคาร และภาคค้าปลีก
ค้าปลีกโตจากขยายสาขา
โดยในไตรมาสแรกพบว่ากำไรของสถาบันการเงินการธนาคารยังดีอยู่ แม้หนี้เสียจะเพิ่มขึ้น แต่รายได้และกำไรยังคงที่ ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างยังเติบโตต่ำ เมื่อพิจารณาจากผลประกอบการบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 4-5 บริษัทที่ทั้งยอดขายและกำไรต่างก็ลดลง ส่วนภาคค้าปลีก มีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเมื่อพิจารณาจากผลประกอบการบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ 4-5 บริษัท พบว่าการเติบโตส่วนใหญ่มาจากการขยายสาขา ในขณะที่การเติบโตจากสาขาเดิมมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกดีขึ้นเล็กน้อย แต่ยังไม่มากพอที่จะทำให้หมวดสินค้าต่างๆเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้หมวดสินค้าไม่คงทน ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล Retail Landscape by The Nielsen ที่แสดงให้เห็นว่าการเติบโตในหมวด FMCG ยังคงติดลบเล็กน้อยในไตรมาส 1/2560
ส่วนหมวดสินค้าคงทน และสินค้ากึ่งคงทน ยังคงทรงตัว และยังไม่เห็นสัญญาณที่จะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้วิเคราะห์ผลการเติบโตของสินค้าแต่ละหมวดในไตรมาสแรกของปี 2560 โดยละเอียด ดังต่อไปนี้
1.หมวดสินค้าคงทน (Durable Goods) เติบโตในอัตราที่ต่ำเพียง 1.25% ใน ไตรมาส 1/2560 เห็นได้ชัดจากผลประกอบการของอุตสาหกรรมการก่อสร้างและที่อยู่อาศัยในไตรมาส 1/2560 ติดลบ ส่งผลให้ผลประกอบการธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้างเติบโตแบบถดถอย
ส่วนธุรกิจจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (Home Appliance) เติบโตเพียงเล็กน้อย เนื่องมาจากการเข้มงวดของการให้สินเชื่อเพื่อการบริโภคของสถาบันการเงิน ส่วนหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (Mobile & Camera) แม้เติบโตเพิ่มขึ้นราว 3% แต่ปริมาณการซื้อ (volume) ยังน้อยเมื่อเทียบกับทั้งหมวดสินค้า ส่งผลให้โดยรวมหมวดสินค้าคงทน เติบโตเพียง 1.25%
2. หมวดสินค้ากึ่งคงทน (Semi Durable Goods) เติบโตในอัตราที่ถดถอย เพียง 2.3 % ในไตรมาส 1/2560 แม้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 1/2560 จะเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2559 แต่ก็ไม่ส่งผลให้การจับจ่ายในหมวดสินค้ากึ่งคงทนฟื้นตัวขึ้น
ปัจจัยหลักที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญคือ อัตราภาษีสินค้านำเข้าแบรนด์หรูยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้หมวดสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอาง เครื่องหนัง ยังคงเติบโตต่ำกว่าเมื่อปีที่ผ่านมา ประกอบกับประชาชนชาวไทยยังอยู่ในช่วงไว้อาลัย บรรยากาศการจับจ่ายสินค้าแฟชั่นแบรนด์ดังจึงยังค่อนข้างซบเซา อย่างไรก็ดี ด้วยความที่หมวดเครื่องกีฬาและสุขภาพยังเติบโตค่อนข้างมากตามเทรนด์ จึงทำให้การเติบโตในหมวดสินค้ากึ่งคงทนทั้งหมดยังคงทรงตัว
3. หมวดสินค้าไม่คงทน (Non Durable Goods) เป็นหมวดสินค้าที่มีการเติบโตอย่างชัดเจนถึง 3.4% ในไตรมาส 1/2560 แม้จะเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวช้า แต่ยังคงการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยบวกจากราคาพืชผลทางเกษตรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรซึ่งเป็นรากฐานใหญ่ของกลุ่มผู้บริโภคหมวดสินค้าไม่คงทน มีรายได้เพิ่มขึ้น และทำให้อัตราการบริโภคสินค้าหมวดนี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับการผลักดันการใช้งบประมาณภาครัฐลงสู่ภูมิภาคและกลุ่มจังหวัดมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เม็ดเงินงบประมาณเริ่มไหลลงสู่ประชาชนฐานรากของประเทศอย่างชัดเจน ทำให้ธุรกิจในหมวดสินค้าไม่คงทนเติบโตฟื้นตัวขึ้นอย่างมีนัย สินค้าหมวดดังกล่าวมีสัดส่วนถึง 68% ของดัชนีค้าปลีก
ปัจจัยบวกเศรษฐกิจไตรมาสแรก ปี 2560
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.6%
- อัตราการส่งออกขยายตัว 4.9%
- จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 5%
- ราคาพืชผลการเกษตรเพิ่มขึ้น
- ดัชนีการบริโภคของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น
- ตลาดรถยนต์ขยายตัว 15.4%
- ตลาดรถจักรยานยนตร์ขยายตัว 5%
ปัจจัยลบเศรษฐกิจช่วงครึ่งปีหลังปี 2560
- ขณะนี้กำลังเข้าสู่รอบไตรมาสที่สามของปีงบประมาณ การใช้จ่ายอาจแผ่วลง
- โครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ยังไม่เกิดการปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
- การลงทุนภาคอกชนยังไม่ฟื้นตัว และพึ่งพาแต่การลงทุนภาครัฐ
- บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เติบโตลดลงทั้งยอดขายและกำไร
- หนี้ครัวเรือนที่ยังส่งสัญญาณที่จะทรงตังในระดับ 80.2% มีผลต่ออำนาจการซื้อของครัวเรือนต่ำ ทำให้การบริโภคสินค้าหมวดคงทนและหมวดสินค้ากึ่งคงทนอาจต้องชะลอออกไป
ค้าปลีกจ้างงาน 4.5 แสนคน/ปี เฉลี่ย 10%
สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยังให้ความเห็นถึงจำนวนแรงงานภาคค้าปลีกและบริการทั่วประเทศมีจำนวนทั้งหมด 14 ล้านคน เฉพาะภาคค้าปลีกมีจำนวน 6.2 ล้านคนทั่วประเทศ โดยในปีที่ผ่านมาสมาชิกของสมาคมภาคธุรกิจค้าปลีกได้มีการจ้างงานรวมกว่า 450,000 คน เฉลี่ยปีละประมาณ 10% หรือกว่า 45,000 คนต่อปี ซึ่งอัตราการจ้างงานก็ไม่สามารถบรรจุได้ครบ เนื่องจากประชากรวัยทำงานเริ่มลดลง แรงงานในภาคการค้ายังขาดแคลนอีกมาก
ปัจจุบันสังคมผู้สูงอายุมีมากขึ้น ภาครัฐควรส่งเสริมผู้สูงอายุที่มีศักยภาพได้มีโอกาส มีอาชีพ มีรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคค้าปลีก ซึ่งปัจจุบันมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีการขยายการจ้างงานในวงกว้าง ดังนั้นการที่เรามีจำนวนผู้สูงอายุมาก ถือเป็นโอกาสที่ดีในการจ้างแรงงานกลุ่มนี้ รวมถึงกฎหมายควรเปิดช่องทางในการจ้างแรงงานผู้สูงอายุเป็นรายชั่วโมง