งาน “Startup Thailand 2017”เบิกโรงเปิดตัวครั้งแรกอย่างยิ่งใหญ่แล้ว “Eastern Rise @ ชลบุรี”เป็น New Engine of Growth ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

นำร่องพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก เพื่อยกระดับเพิ่มมูลค่า 26 พฤษภาคม 2560 –อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) GISTDA จ.ชลบุรี / งาน “Startup Thailand 2017 ”เบิกโรงเปิดตัวขึ้นครั้งแรกยิ่งใหญ่แล้วที่ชลบุรี ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม ศกนี้เป็นการเปิดตัวจัดงานขึ้นครั้งแรกในระดับภูมิภาค และเป็นการจัดขึ้นในภาคตะวันออก ภายใต้แนวคิดและบริบท“Eastern Rise @ ชลบุรี”เพื่อพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor of innovation หรือ EECiเป็นเขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน รวมถึงยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมให้มีการนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่า ลดต้นทุน ตลอดจนสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมฐานนวัตกรรมใหม่ขับเคลื่อนการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้กล่าวในโอกาสที่เดินทางมาเป็นประธานในการเปิดงาน Startup Thailand 2017 ว่า การจัดงานในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดตัวสำหรับการจัดงาน Startup Thailand 2017 ขึ้นครั้งแรกในระดับภูมิภาค และถือเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในภูมิภาคตะวันออก ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งภูมิภาคที่มีความสำคัญและมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน ซึ่งทางภาครัฐได้มีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor (EEC) ขึ้นมาเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ถือเป็น New Engine of Growth ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต

ดร.อรรชกา กล่าวต่อไปว่าในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยเทคโนโลยี และการพัฒนานวัตกรรมเป็นเครื่องมือสำคัญ จึงได้มีการพิจารณาและกำหนดแผนการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก Eastern Economic Corridor of innovation หรือ EECi ขึ้น ให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนในโครงการฯ โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับพันธมิตรจากหน่วยงานภาคเอกชน สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ

“สำหรับ EECi ถือเป็นอีกหนึ่งในโครงการสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการต่อยอดการวิจัยเพื่อพัฒนาสู่การสร้างนวัตกรรม และเพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์ เพื่อให้เป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเดิมให้มีการนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่า ช่วยลดต้นทุน ตลอดจนสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมฐานนวัตกรรมใหม่ที่สร้างมูลค่าเพิ่มและขับเคลื่อนการเติบโตให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ”

ทั้งนี้งาน STARTUP Thailand ถือเป็นอีกกลไกหนึ่งของภาครัฐ ในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ผ่านการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้นหรือ STARTUP โดยเฉพาะในกลุ่ม TECH Startup ในสาขาต่างๆ นอกจากภาครัฐจะมุ่งหวังให้กลุ่ม Startup เหล่านี้ สามารถเติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืนได้แล้ว ยังมุ่งหวังให้ Startup เหล่านี้ มีศักยภาพ และเป็นกำลังสำคัญที่สามารถสนับสนุนการพัฒนายกระดับกลุ่มผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักของประเทศด้วย ซึ่งจะส่งผลโดยรวมต่อการยกระดับอุตสาหกรรมของไทยทั้งระบบ และส่งเสริมการสร้างรายได้ และการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม การพัฒนา Startup นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือ และการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเติบโตของ Startup หรือ Startup Ecosystem ดังนั้น งาน Startup Thailand ที่จัดขึ้น จึงไม่ได้มุ่งเน้นแต่เพียงการเติบโตของ Startup กลุ่มเดียว แต่เพื่อมุ่งส่งเสริม Startup และพัฒนา Startup Ecosystem ทั้งระบบ ให้สามารถส่งเสริมการพัฒนา และเอื้อประโยชน์ระหว่างกัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่าดังนั้นกลไกของภาครัฐ จึงจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงการพัฒนา startup ทั้ง ecosystem และรวมไปถึงการพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัย การสนับสนุนกลุ่มนักลงทุน การสร้างเครือข่ายการพัฒนาระหว่างประเทศ และการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ startup อีกด้วยดังนั้นจึงถือว่างาน STARTUP Thailand เป็นเวทีกลางที่เกิดจากการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อการสนับสนุนการพัฒนาและเติบโตของ Startup ทั้งระบบ ในมิติต่างๆ ซึ่งแนวคิดการจัดงานในภูมิภาคตะวันออกครั้งนี้ Eastern Rise ได้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจและจุดประสงค์ของการจัดงานในครั้งนี้เป็นอย่างดี ถึงความมุ่งหวังและต้องการยกระดับการเติบโตของทั้งภูมิภาคไปพร้อมๆกัน เพราะทุกคน ทุกธุรกิจ ถือเป็นส่วนสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่มั่นคงอย่างยั่งยืน ที่จะยกระดับและพัฒนาผู้ประกอบการ Startup ของไทย ให้เข้มแข็งและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ด้าน รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ ประธานกรรมการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และประธานกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติได้กล่าวในการเปิดงานครั้งนี้ว่ากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะผู้จัดงาน STARTUP Thailand 2017 ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลในการจัดโครงการ National Campaign Startup Thailand ขึ้น เพื่อสนับสนุนนโยบายการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่มุ่งเน้นการพัฒนา STARTUP เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ทรัพยากรของประเทศในการผลิตสินค้าและบริการมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม การจ้างงานในท้องถิ่น และการกระจายรายได้สู่ภูมิภาค ซึ่งถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนประเทศ

“โดยหน้าที่หลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ก็คือ การสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาวิสาหกิจเริ่มต้นที่เน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ รวมถึงการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ เพราะเทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญที่สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ”

รศ.ดร.สมเจตน์ กล่าวต่อไปว่าการจัดงาน STARTUP Thailand ถือเป็นอีกกลไกหนึ่ง ที่ช่วยสนับสนุนการเติบโตของ STARTUP และการส่งเสริมความสมบูรณ์ของ STARTUP Ecosystem ในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งจากความสำเร็จของการจัดงาน STARTUP Thailand ในปีที่ผ่านมามา ได้เกิดกระแสตอบรับและการพัฒนากลไกสนับสนุน STARTUP ในวงกว้าง กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จึงได้กำหนดจัดงาน STARTUP Thailand 2017 ขึ้นอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนการต่อยอดทางธุรกิจ และการต่อยอดในการพัฒนาขับเคลื่อน STARTUP ของประเทศไทย โดยการจัดงานในครั้งนี้ กำหนดเดินสายทั่วทุกภูมิภาค ได้แก่ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ ภาคเหนือและภาคกลาง โดยแนวคิด และบริบทของแต่ละภาคจะแตกต่างกันออกไป

สำหรับการจัดงาน STARTUP Thailand 2017 ในปีนี้ เพื่อแสดงจุดยืนและความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ด้วยการส่งเสริม สนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจแก่สตาร์ทอัพที่มีศักยภาพในการขยายธุรกิจและสร้างตลาดใหม่ ให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วยโครงการ และบริการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับกิจกรรมสำคัญที่น่าสนใจและจะเกิดขึ้นภายในงาน ตลอด 2 วันในหัวข้อต่างๆนั้นได้แก่International Conference & Seminar : พบกูรูและผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ STARTUP จากทั่วโลก มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ แลกเปลี่ยนความรู้ Startup Showcase : การรวมตัวของเหล่าสตาร์ทอัพจากทั้งในและต่างประเทศ มานำเสนอผลงานนวัตกรรม แนวคิด และการบริการที่สร้างสรรค์ Startup Ecosystem Showcase นิทรรศการที่รวบรวมกลุ่มผู้สนับสนุนทางธุรกิจภาคเอกชน นักลงทุน มหาวิทยาลัย และหน่วยสนับสนุน STARTUP จากทั้งในและต่างประเทศ Government Services : รวมบริการจากภาครัฐ เพื่อการสนับสนุนและการต่อยอดทางธุรกิจของ STARTUP และ Pitching Challenge : ค้นหาสุดยอด STARTUP จากเวที Startup Thailand

“โดย STARTUP Thailand Pitching Challenge ในรอบคัดเลือกจะคัดผู้ชนะเลิศในแต่ละภาคมา 5 ภาค และมาแข่งขันตัดสินเพื่อหาผู้ชนะเลิศ STARTUP Thailand Grand Pitching Challenge ที่กรุงเทพฯ ส่วน STARTUP Thailand League สำหรับระดับมหาวิทยาลัยก็จะมีการแข่งขันในรอบคัดเลือกจาก 4 ภาค และมาตัดสินชนะเลิศที่กรุงเทพฯ เช่นเดียวกัน” ดร.สมเจตน์กล่าวในที่สุด ด้วยความเพียบพร้อมทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข คมนาคม อุตสาหกรรมและความได้เปรียบด้านพื้นที่ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ทำให้ภาคตะวันออกมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นหนึ่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ ทั้งนี้ ความรู้ความเข้าใจด้านสตาร์ทอัพ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จะช่วยให้เกิดแรงกระตุ้นในการยกระดับเศรษฐกิจของภาคตะวันออกสู่สังคมแห่งการเป็นผู้ประกอบการ โดยในปัจจุบันคาดว่ามีสตาร์ทอัพประมาณ 30 รายในจังหวัดชลบุรี ซึงส่วนใหญ่อยู่ในศรีราชา บางแสนและพัทยา และอีก 50-80 รายในภาคตะวันออกทั้งหมด