เว็บไซต์พันทิปขึ้นชื่อว่าเป็นคอมมูนิตี้ออนไลน์ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อแบรนด์ในยุคนี้ ผู้บริโภคมักเลือกใช้พันทิปเป็นช่องทางในการบอกต่อผู้บริโภคด้วยกัน หรือร้องเรียนการให้บริการของแบรนด์ ยิ่งถ้าเป็นเรื่องราวในด้านลบยิ่งเกิดการแชร์มากขึ้น
เมื่อเป็นคอมมูนิตี้ขนาดใหญ่อาจจะทำให้แบรนด์มองเห็นเป็นช่องทางในการโฆษณา หรือโพสต์ขายของ บางทีอาจจะใช้วิธีการทำผ่านหน้าม้า หรือเป็นการทำการตลาดแบบ Seeding ซึ่งเมื่อถูกจับได้ทำให้ถูกประจานอีกก็เป็นได้
“อภิศิลป์ ตรุงกานนท์” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานด้านเทคโนโลยี เว็บไซต์ Pantip ได้ให้คำแนะนำสำหรับแบรนด์ 4 ข้อ ภายในงาน Thailand Zocial Awards 2017 มีการพูดถึงคำแนะนำว่าแบรนด์จะทำอะไรได้บ้างบนเว็บไซต์พันทิป โดยที่ไม่ต้องขายของ
1. Customer Support คอยสนับสนุนลูกค้า
แบรนด์สามารถมอนิเตอร์สิ่งที่ผู้บริโภคโพสต์ลงพันทิปได้ตลอดทั้งวัน และสามารถตอบคำถามช่วยเหลือผู้บริโภคได้ จะมีทั้งหมด 3 กระบวนการ ได้แก่ Listening รับฟัง, Response โต้ตอบ และ Evaluation ประเมินผล พันทิปได้มีโปรแกรม Social Listening ให้ทางพาร์ตเนอร์ที่เป็นแบรนด์ได้ใช้ ได้รู้ข้อมูลแบบเรียลไทม์ว่ามีคนมาตั้งกระทู้ถึงแบรนด์เมื่อไหร่ แบรนด์สามารถเข้าไปตอบคำถาม หรือไปแก้สถานการณ์ได้ทันเวลา สามารถโต้ตอบโดยระบบได้ หรือเข้าถึงข้อความหลังไมค์ได้
การโต้ตอบ ตอนนี้ทางพันทิปมี Official Account ราว 400 แบรนด์ ให้แบรนด์มีแอคเคานต์ในการโต้ตอบกับผู้บริโภค และการประเมินผลจะมีข้อความหลังไมค์ไปหาผู้บริโภคเพื่อถามถึงความพึงพอใจ
2. Activities จัดกิจกรรมกับผู้บริโภค
จะมีพื้นที่พิเศษที่จัดให้ทำกิจกรรมได้ จะมีแคมเปญร่วมตอบคำถามร่วมกับแบรนด์ หรือรีวิวสินค้าของแบรนด์ได้ แต่ต้องเป็นแคมเปญที่สมาชิกในพันทิปอยากทำจริงๆ เช่น มีแคมเปญร่วมกับ ททท.พาเที่ยวในกรุงเทพฯ หรือจัดแคมเปญทำอาหาร เป็นสิ่งที่สมาชิกสนใจ
3. Review รีวิวร้านอาหาร
ถ้ามีธุรกิจร้านอาหาร สามารถติดต่อให้ทางพันทิปไปรีวิวได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เสียแค่ค่าอาหารที่ให้รีวิวเท่านั้น เป็นรูปแบบรีวิวร้านอาหาร SR หรือ Sponsor Review จากนั้นก็จะพาสมาชิกที่สนใจไปทานอาหาร แล้วทางพันทิปจะสัมภาษณ์สมาชิกว่าอาหารเป็นอย่างไร บรรยากาศความรู้สึกทางทีมงานก็จะมาเขียนลงกระทู้โดยที่ร้านอาหารจะไม่สามารถดูก่อนได้ ทางร้านสามารถทำกิจกรรมร่วมได้อีกอย่าง แจกบัตรรับประทานอาหารให้แก่คนอ่านกระทู้
และมีรูปแบบ Advertorial ที่เขียนโฆษณารูปแบบหนึ่ง แบรนด์สามารถเลือกได้ว่าจะเปิดให้คอมเมนต์ได้หรือไม่ ข้อดีของการลงรีวิวในพันทิปคือ จะอยู่ในระบบตลอด คนเสิร์ชหาชื่อแบรนด์ยังเจอในระบบและบูทโพสต์เพิ่มในเฟซบุ๊กได้
4. Expertise Sharing แชร์ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของแบรนด์
กำลังจะเปิด Expert Account เพื่อบอกความเชี่ยวชาญของสมาชิกแต่ละคน เวลาตอบบกระทู้ก็จะได้รู้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านไหน ก่อนหน้านี้ได้ทำร่วมกับ K Expert ของธนาคารกสิกรไทย ให้ความรู้เรื่องการเงินทั่วไปโดยที่กระทู้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับแบรนด์ จะคนละแอคเคานต์กับฝ่ายดูแลลูกค้าของธนาคาร
แบรนด์เข้าไปตอบกระทู้อื่นๆ เข้าไปแชร์ความรู้ความเชี่ยวชาญของแบรนด์ได้ ทำให้สมาชิกมองเห็นว่าแบรนด์เสียสละในการมาตอบคำถาม เสริมบารมีให้แบรนด์ได้