ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาในการประชุม นัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 กำหนดให้ การให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over The Top) เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ในการนี้ เมื่อกำหนดให้บริการ OTT เป็นการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ จึงต้องพิจารณาต่อไปว่า บริการ OTT มีลักษณะและประเภทของการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างไร
ตามประกาศ กสทช. เรื่องกำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้กำหนดลักษณะของการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ออกเป็น 4 ลักษณะคือ (1) การให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Service) (2) การให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Network) (3) การให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Facility) และ (4) การให้บริการแบบประยุกต์ (Application)
การประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ มีห่วงโซ่การประกอบกิจการ (Value Chain) ซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ (1) บริการ ซึ่งหมายถึง ผู้ผลิตหรือผู้รวบรวมเนื้อหารายการ เพื่อนำส่งไปยัง (2) ระบบเชื่อมโยงสัญญาณ ซึ่งหมายถึง ผู้ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงสัญญาณเพื่อนำส่ง “เนื้อหา” ไปยัง (3) ผู้ชม หรือผู้รับบริการ นั่นหมายความว่า ในกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่จะเริ่มต้นด้วยการรวบรวมเนื้อหารายการ แล้วส่งต่อไปยังแพลตฟอร์ม (เช่น PSI, TrueVisions หรือ TOT) ซึ่งจะใช้โครงข่ายสนับสนุน ได้แก่ โครงข่ายดาวเทียม หรือ โครงข่ายอินเทอร์เน็ต นำส่งบริการของตนไปยังผู้รับชมหรือผู้รับบริการ
ในส่วนของบริการ OTT ก็มีรูปแบบและลักษณะของห่วงโซ่การประกอบกิจการเหมือนกับกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ กล่าวคือ เนื้อหารายการ (ที่มาจากผู้ผลิต สตูดิโอ ช่องรายการ หรือผู้ใช้) จะถูกรวบรวม แล้วนำส่งไปยังแพลตฟอร์ม (เช่น Netflix, Hulu, Line TV, YouTube, Facebook เป็นต้น) แล้วใช้โครงข่ายสนับสนุน (ISP และ Open Internet) ส่งบริการไปยังผู้รับชมทั่วโลก
กรณีของบริการ OTT ที่ผู้ใช้สามารถผลิตเนื้อหาเอง (User Generated Content (UGC) เช่น YouTube, Facebook, Instragram และ Twitter) ก็มีรูปแบบและลักษณะของห่วงโซ่การประกอบกิจการเหมือนกับบริการ OTT อื่นๆ เพียงแต่มีความแตกต่างในส่วนของเนื้อหารายการที่มิใช่มาจากช่องรายการหรือผู้ให้บริการเนื้อหาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากผู้ใช้ที่สามารถผลิตเนื้อหาได้เอง แล้วค่อยนำส่งไปยังแพลตฟอร์ม รวบรวมส่งเนื้อหาผ่านโครงข่ายสนับสนุนไปยังผู้ชมหรือผู้รับบริการ
ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบลักษณะห่วงโซ่ของการประกอบกิจการของ “โทรทัศน์ที่ไม่ใช่คลื่นความถี่” กับ “บริการ OTT” จึงพบว่า มีโครงสร้างที่เหมือนกัน แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก คือ “บริการ” “ระบบเชื่อมโยง” และ “ผู้ชม” ในขณะที่ลักษณะของแพลตฟอร์มก็มีรูปแบบเดียวกัน กล่าวคือ ทั้งแพลตฟอร์มบริการ OTT และกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ต่างก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกันในการรวบรวมเนื้อหาภาพและเสียง ก่อนส่งผ่านไปยังโครงข่ายสนับสนุนเพื่อให้บริการแก่ประชาชนผู้รับบริการ อย่างไรก็ดี ในส่วนของบริการนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อย เนื่องจากเนื้อหารายการบนแพลตฟอร์ม OTT นั้นสามารถมาได้จากทั้งช่องรายการและผู้ให้บริการเนื้อหาที่เป็นเจ้าของเนื้อหารายการ (Content Provider) หรือผู้ใช้ซึ่งเป็นผู้สร้างเนื้อหาเอง (UGC) ในขณะที่บริการหรือเนื้อหาในกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่มาจากผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการเนื้อหารายการแต่เพียงอย่างเดียว