ความร้อนแรงของ “เพจสายดาร์ค” ที่เกิดขึ้นมากมายในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็น เพจแหม่มโพธิ์ดำ อีจัน อยากดังเดี๋ยวจัดให้ สามารถจุดติดความสนใจในโลกออนไลน์ กลายเป็นซัมบอดี้ สร้างความจดจำ มีคนติดตามอยู่มากมาย ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ ได้สรุปออกมา 10 ข้อ ถึงสาเหตุทำไม เพจดาร์ค จึงน่าสนใจ
สมควรวิเคราะห์ “เพจสายดาร์ค” เอาไว้สักนิด ว่าเหตุผลใดจึงเป็นที่นิยม และไว้วางใจจากประชาชนจำนวนมาก เผลอๆ มากกว่าเพจสื่อมวลชนเสียอีก
ลักษณะของเพจดาร์ค น่าจะมี 3 ข้อ คือ เพจที่แอดมินไม่เปิดเผยอัตลักษณ์, เป็นคนจริงๆ ที่สร้างตัวละครสมมุติ และมักโพสต์เนื้อหาที่รุนแรง ดราม่า เป็นกระแส โดยเฉพาะมีเป้าหมายเพื่อจุดประเด็นทางสังคม
เหตุผลที่เพจดาร์คเป็นที่ไว้วางใจ และนิยมมากขึ้น เป็นเพราะ
1. ประชาชนรู้สึกไว้วางใจ พึ่งพาได้
: เพราะองค์กรสื่อ สื่อมวลชน เป็นสถาบันที่ดำรงอยู่ได้ เพราะผลประโยชน์ และต้องรักษาความสัมพันธืกับองค์กรข่าว แหล่งข่าว (ยอมความกันได้ และ อาจถูกฟ้องร้องจากกฎหมายหมิ่นประมาทได้)
สื่อมีกระบวนการตรวจสอบ การบรรณาธิการ หากประชาชนส่งข้อมูลไปแล้ว สื่อไม่ลง (เพราะเหตุผลหลายอย่าง เช่น องค์กรสื่อ มีธง มีสายสัมพันธ์ทางอำนาจและผลประโยชน์ต้อปกป้องพิทักษ์เอาไว้เพื่อสร้างรายได้และกำไร) ทำให้ประชาชนเริ่มหมดหวังกับการมองสื่อเป็นที่พึ่ง
แต่เพจเหล่านี้ ทำด้วยความสมัครใจ เพราะอยากช่วยและมองเห้นความไม่ถูกต้อง มองเห็นความเดือดร้อน และคนที่ถูกรังแก ความรู้สึก “อยากช่วย” นี้ จึงบริสุทธิ์และทรงพลัง ทำให้ผู้คนศรัทธา (แต่ก่อนสื่อก็ทำ แต่หลังๆ สื่อกลายเป็นองค์กรที่มีแต่ผลประโยชน์ และการเลือกข้างมากเกินไป ไม่ค่อยยืนอยู่ข้างประชาชน และหลังๆ องค์กรสื่อกลายเป็นกระบอกเสียงของชนชั้นนำ พรรคการเมือง ลัทธิ ความเชื่อของนายทุนมากไป)
2. ความเป็นนิรนาม
: เพราะแอดมินไม่เปิดเผยตัวตน นั่นทำให้คนที่มาขอความช่วยเหลือไว้วางใจในแนวคิดของเพจมากกว่า การประเมินความน่าเชื่อถือของคนทำเพจ
และความน่าไว้วางใจ มาจาก “บรรยากาศของเพจ” ที่ลูกเพจ และสมาชิก คนอ่าน นิยมชมชอบ หรือแสดงความคิดเห็นโต้ตอบ วิพากษ์เจ้าของเพจได้อย่างเสรี
เพจเหล่านี้ “สนใจแค่ว่า” คนที่ส่งข้อมูลมา น่าเชื่อถือเพียงพอจากหลักฐาน และจะ “ปกปิดอัตลักษณ์” ของผู้ชี้เบาะแส หรือแจ้งข้อมูลมาเหมือนกัน (ต่างคน ต่างนิรนาม ในตลาดมืดของข้อมูล) ทำให้สามารถมอบความไว้วางใจซึ่งกันและกันได้
3. การใช้ภาษาตรงไปตรงมา หยาบคาย
: เพราะภาษาหยาบคาย ทำให้บรรยากาศการสนทนาสื่อสาร “ดูเป็นกันเอง เท่าเทียมกัน” ไม่มีชนชั้น ไม่มีระดับทางสังคม และดูจริงใจ เท่าเสมอภาคกัน
4. เพจไม่รีรอที่จะโพสต์ช่วยลูกเพจ หรือคนที่ส่งข้อมูลความเดือดร้อนมาให้หลังไมค์
: เพราะคนทำ ไม่ต้องรอพื้นที่ข่าว ไม่ต้องรอปิดหน้าหนึ่งเหมือนหนังสือพิมพ์ หากข้อมูลที่ได้มามีความจริง น่าเชื่อถือ เป็นหลักฐานชัดเจน เพจก็ใส่ข้อมูลเลยทันที เพื่อเจตนาช่วยเหลือโดยไม่รีรอ
5. การระดมตรวจสอบข้อมูล
: เพจเหล่านี้ ใช้แนวคิด “สังคมร่วมกันตรวจสอบ สอดส่อง” ทำให้เพจมี “ศักยภาพจากสมาชิก” ค่อนข้างมาก เพราะ ลูกเพจเหล่านี้เปรียบเสมือน สายตา คอยสอดส่อง เสาะหา ตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร เงื่อนงำต่างๆ มาให้แอดมิน
ตรงกับแนวคิด “ปัญญาชนรวมหมู่” (crowd-sourcing) ซึ่งชาวเน็ตจะระดมสรรพกำลัง เวลา และความเห็นใส่ลงไปในเพจโดยไม่มีใครมายับยั้งได้
6. รู้จุดยืนแน่ชัดแล้วก่อนเข้าร่วม
: เพจเป็นคน มีความคิด และจุดยืนทางการเมือง สังคม แน่ชัด ผู้คนจะชอบ เพราะไม่ต้องมาลังเล หรือสงสัยในตัวเพจ ดังนั้น จึงทำให้ทิศทางการโพสต์ มีแนวทางที่ชัดเจน ไม่เล่นสองข้าง ไม่แทงกั๊ก และไม่ประนีประนอม
ผู้คนส่วนใหญ่ในอินเทอร์เน็ตนั้น “พร้อมที่จะเลือกข้างเสมอๆ” ดังนั้นเพจใดก็ตามที่มีจุดยืนชัดเจน ก็ย่อมที่จะทำให้ลูกเพจเลือกกดสมัครติดตามได้ไม่ยาก
7. จับอารมณ์ชนชั้นกลางได้แม่นยำ
: เท่าที่ดู คนทำเพจเหล่านี้ มีอาชีพ รายได้ ฐานะทางการเงินมั่นคง และเป็นชนชั้นกลาง ที่อยู่กับข้อมูลข่าวสารมาก เก่งการใช้สื่อและโซเชียลมีเดีย
ที่สำคัญ คือ จับอารมณ์ ตรรกะ มุมมอง และค่านิยมทางศีลธรรม จริยธรรมของชนชั้นกลางได้ (คือ เรื่อง ความเท่าเทียม การปฏิบัติตามกฎหมาย ความยุติธรรม และความถูกต้อง)
8. มีการสื่อสารสองทาง
: เพจพวกนี้ มักสื่อสารกับลูกเพจตลอดเวลา (ไม่เหมือนเพจองค์กรสื่อ ที่แอดมินมักไม่ตอบ และเน้นการสื่อข่าวทางเดียว) ทำให้เพจเหล่านี้มีระดับความมีปฏิสัมพันธ์สูงมาก (จากการ engagement & interaction)
9. ประชาชนไม่ไว้ใจหน่วยงานรัฐ (ตำรวจ และเจ้าหน้าที่)
: หลายๆ เรื่อง เป้นที่มาของความดราม่า จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่ล่าช้า ไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม ต่อเจ้าทุกข์ และสื่อมวลชนก็ไม่นำเสนอเรื่องนี้ ทำให้ความไว้วางใจ มีให้เพจเหล่านี้ (เพราะยืนยันด้วย ประวัติการโพสต์ การนำเสนอของเพจ)
ที่สำคัญ เวลา เพจโพสต์ผิดไป เพจจะขอโทษ เพราะไม่มีหน้าตา ชื่อเสียงทางสังคม ต้องแบกรับ ทำให้คนรู้สึกพึ่งพิงได้มากกว่าหน่วยงานของรัฐ
10. จุดประเด็นติดก็พอแล้ว
: เป้าหมายของเพจนี้ คือ การจุดประเด็น กระแส ที่ดูเหมือนจะมอด ดับหายไปในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือจมหายไปกับกระบวนการยุติธรรมของสังคมไทย ที่เอาแน่เอานอนเชื่อถือไม่ได้
ดังนั้นการโพสต์ (ด้วยข้อมูลที่แอดมินของเพจมี) และด้วยกระแสการถล่มยอดไลค์ แสดงความเห็น และกระหน่ำแชร์ จึงทำให้มัน “จุดกระแสติด” บนหน้านิวส์ฟีด ไทม์ไลน์ และนั่นก็มากพอที่จะ “ฝากประเด็นต่อ” ให้กับสื่อมวลชนไปสืบ ขุดคุ้ย หรือที่เคยปิดหมกเม็ด ก็ปกปิดต่อไปไม่ได้แล้ว
นี่คือ 10 เหตุผลว่าทำไม ที่เพจสายดาร์ค “ได้รับความนิยม” และไว้วางใจจากชาวเน็ตมากกว่าเพจอื่นๆ
ที่มา : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10154845954873732&set=a.483861243731.261519.720008731&type=3&theater