อิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 3 การประชุมระดับประเทศ ขยายขีดความสำเร็จ และความร่วมมือของสองประเทศพันธมิตร

ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำจากประเทศไทยและอิตาลี เข้าร่วมการประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 3 ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อร่วมกันส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ

การประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม (Italian-Thai Business Forum) ครั้งที่ 3 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยมีสถาบันเพื่อการศึกษารัฐศาสตร์นานาชาติแห่งอิตาลี (The Italian Institute for International Political Studies – ISPI) และสถาบันวิจัยเชิงนโยบายชั้นนำระดับนานาชาติ (International think tank) เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ณ พาลาซโซ เคลริซี (Palazzo Clerici) หนึ่งในสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของเมืองมิลาน โดยมีผู้แทนจากบริษัทชั้นนำทั้งประเทศอิตาลี และไทย เข้าร่วมกว่า 30 บริษัท ถือเป็นความสำเร็จที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นของการประชุมครั้งนี้ นับตั้งแต่การประชุมครั้งแรกที่เริ่มขึ้นจากดำริของ ฯพณฯ ฟรานเชสโก้ ซาเวริโอ นิซิโอ (Francesco Saverio Nisio) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิตาลีประจำประเทศไทย ร่วมกับ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในปี พ.. 2558 และได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งทั้งจากบริษัทชั้นนำของอิตาลี และจากสมาชิกของหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยบริษัทที่เข้าร่วมในการประชุมครั้งที่ 3 นี้ มีมูลค่าสินทรัพย์รวมกันถึงห้าแสนล้านเหรียญสหรัฐ

การประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ในครั้งนี้ มีบริษัทต่างๆ ทั้งบริษัทหน้าใหม่ และสมาชิกเดิมเข้าร่วมการประชุมกันอย่างคับคั่ง รวมทั้งสิ้น 39 บริษัท โดยมีบริษัทของประเทศอิตาลีเข้าร่วม 18 บริษัท ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทชั้นนำ และบริษัทดาวรุ่งของประเทศอิตาลี อาทิ ENI, Conserve และ Sireg ที่เข้าร่วมการประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งนี้เป็นครั้งแรก นอกเหนือจากบริษัทสมาชิกที่เป็นผู้ริเริ่มการประชุมของฝั่งประเทศอิตาลี ได้แก่ Italmobiliare, Cavagna, CMC Ravenna, CNH Industrial, Danieli, Ducati, Faber Industrie, Ferrero, Generali, Leonardo, Pirelli, Unicredit และ Vittoria ส่วนทางฝั่งประเทศไทย มีบริษัทที่เข้าร่วมการประชุมทั้งหมด 21 บริษัท บริษัทที่เป็นสมาชิกใหม่ในปีนี้ ได้แก่, เจ้าพระยา ดีเวล๊อปเมนต์ (กลุ่มบริษัทอิตัลไทย), บริษัทสิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, ไทยยูเนี่ยน (เจ้าของแบรนด์อิตาลี Mare Blu) และ บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด เพิ่มเติมจากบริษัทไทยที่เป็นสมาชิกเดิมในการริเริ่มการประชุม ได้แก่ กลุ่มเซ็นทรัล, มิตรผล, ธนาคารกรุงเทพ, กลุ่มซีพี, บริษัท โรงงานทอผ้ากรุงเทพ, ดุสิตธานี, พิณสยาม, เครือซีเมนต์ไทย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, การบินไทย, ไทยฮั้วยางพารา และ กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท, บริษัทเมอร์แชนท์ พาร์ทเนอร์ส โดยมี คาร์โล เพเซนติ (Carlo Pesenti) ซีอีโอบริษัท Italmobiliare ของอิตาลี และบุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสื่อสารองค์กร กลุ่มเซ็นทรัล เป็นผู้นำคณะนักธุรกิจของแต่ละฝ่าย

การประชุมในครั้งนี้ยังได้รับเกียรติจากประธานสมาคมผู้ประกอบการท่องเที่ยวแห่งอิตาลี ASTOI และประธานบริษัท SACE บริษัทร่วมทุนสัญชาติอิตาลีที่มี Cassa depositi e prestiti เป็นเจ้าของ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการประกันภัย และ ผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ เช่น เครดิตส่งออก และ การคุ้มครองการลงทุน เข้าร่วมงานอีกด้วย โดยหลังเสร็จสิ้นการประชุมอิตาเลียน-ไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งที่ 3 ได้ข้อสรุป และข้อเสนอแนะที่หลากหลายตามลักษณะของแต่ละกลุ่มธุรกิจ ดังต่อไปนี้

  1. กลุ่มธุรกิจค้าปลีก : บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด

บุษบา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด และดำรงตำแหน่งประธานร่วมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม เผยว่ากลุ่มเซ็นทรัลยังคงเน้นการลงทุนในประเทศอิตาลีอย่างต่อเนื่องตามแผนธุรกิจระยะยาว โดยหนึ่งในการลงทุนที่โดดเด่นของกลุ่มเซ็นทรัลในประเทศอิตาลีก็คือ ห้างสรรพสินค้าลา รีนาเชนเต ซึ่งในปีนี้ถือเป็นปีที่สำคัญและมีความหมายยิ่ง เนื่องจากเป็นปีที่ห้างสรรพสินค้าลา รีนาเชนเต สาขามิลาน ซึ่งเป็นสาขาแฟลกชิปสโตร์มีอายุครบ 100 ปี นับเป็นความภาคภูมิใจของทั้งสอง ประเทศ รวมถึงในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ ห้างสรรพสินค้าลา รีนาเชนเต ก็พร้อมที่จะเปิดสาขาแฟลกชิปสโตร์แห่งใหม่ในกรุงโรม (Rome) ซึ่งจะเป็นสาขาที่ 12 และเป็นแลนด์มาร์กที่สำคัญของกรุงโรมในอนาคต ถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของกลุ่มเซ็นทรัลที่สามารถต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งยังสร้างโอกาสในการโปรโมตแบรนด์สินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักระดับสากล ภายในห้างสรรพสินค้าอิตาลีของกลุ่มเซ็นทรัลอีกด้วย

สำหรับการประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ในครั้งที่ 3 นี้ กลุ่มเซ็นทรัลคาดหวังที่จะเล็งเห็นโอกาสในการเพิ่มพูนการลงทุนในอนาคต การต่อยอดด้านดีไซน์ผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศร่วมกันให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม

  1. กลุ่มผลิตภัณฑ์การเกษตรและอาหาร : บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด

กฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มมิตรผล ได้เสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ล่าสุดต่อที่ประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม นั่นคือ น้ำตาลธรรมชาติ พลังงาน 0 cal โดยมีแผนเปิดตัวในไตรมาสที่ 1 ปีพ.. 2561 (Q1 2018) พร้อมเชิญชวนธุรกิจอาหารของประเทศอิตาลีในการนำผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ ไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาอาหาร เพื่อตอบสนองการใช้ชีวิตของผู้บริโภคในปัจจุบัน เนื่องจากน้ำตาลธรรมชาติ พลังงาน 0 cal เป็นนวัตกรรมอาหารควบคุมพลังงาน เพื่อผู้ที่ต้องการจำกัดปริมาณน้ำตาลในร่างกาย และยังเป็นอีกหนึ่งทางออกของปัญหาภาษีน้ำตาลที่ส่งผลกระทบถึงต้นทุนสินค้าผู้บริโภค ซึ่งกำลังเป็นที่กล่าวถึงทั่วโลกในขณะนี้ด้วย

นอกจากนี้ประเทศไทย และรัฐบาลไทย ยังมีนโยบายเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร โดยการปรับเปลี่ยนการเกษตรเป็นเกษตรกรรมแปลงใหญ่ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องเพิ่มพูนความรู้ และเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือเครื่องใช้ เพื่อให้ประสิทธิผลต่อไร่สูงขึ้น เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับประเทศอิตาลีในการจัดจำหน่ายเครื่องมือเครื่องจักรที่ทันสมัย (Hi-technology) รวมถึงส่งเจ้าหน้าที่มาเปิดศูนย์อบรมการใช้งาน และการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือให้กับแรงงานไทย โดยอาจจับมือกับภาคเอกชนที่เข้าร่วมกับโรงเรียนอาชีวะศึกษา ในการทำ Duo System ดังเช่นสถาบันเทคนิคไทยเยอรมัน เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และผลิตบุคคลากรให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี

สุดท้ายคือ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Technology) เนื่องจากประเทศไทยมีผลผลิตทางการเกษตรมาก รวมทั้งรัฐบาลกำลังให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ทางกลุ่มมิตรผล จึงสนใจต่อยอดธุรกิจแขนงนี้กับบริษัทในประเทศอิตาลี ทั้งในด้านความความรู้ นวัตกรรม และงานวิจัยต่างๆ ซึ่งทวีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในปัจจุบัน ตลอดจนในอนาคตอันใกล้ ถือเป็นโอกาสอันดีสำหรับประเทศอิตาลีที่จะตัดสินใจมาลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ ในประเทศไทย

กลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง : บริษัท อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (IRC)

พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล กรรมการผู้จัดการบริษัท อโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) เผยว่าการประชุม อิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม เป็นการเปิดโอกาส และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างธุรกิจผลิตชิ้นส่วนของไทย (บริษัท IRC) กับผู้ผลิตเครื่องจักรทางการเกษตรของประเทศอิตาลี (บริษัท CNH Industrial) ในการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกัน เพื่อตอบโจทย์ตลาดในเขตอาเซียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอนาคต

กลุ่มพลังงาน : บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (กลุ่มปตท.)

คุณสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันการบริโภคพลังงานในประเทศไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันทรัพยากร และเทคโนโลยีของประเทศอิตาลีก็มีความทันสมัยมากขึ้นเช่นกัน การประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่มในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ Demand และ Supply ได้มาพบกัน ส่งผลให้สามารถต่อยอดธุรกิจพลังงานของทั้งสองประเทศได้ในแง่มุมต่างๆ อาทิ

  • การสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงานในภูมิภาคอาเซียน บริษัทพลังงานแห่งชาติของอิตาลี (ENI) ที่ดำเนินงานด้านก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นผู้นำด้านพลังงานในฝั่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก และ แอฟริกาเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยเป็นชัยภูมิที่ดีของกลุ่มประเทศอาเซียน จึงเล็งเห็นโอกาสในการร่วมมือกันเพื่อต่อยอดธุรกิจ และสร้างความเข้มแข็งด้านพลังงานในภูมิภาคนี้ ดังเช่น โครงการสำรวจแหล่งพลังงานในประเทศเมียนม่า เป็นต้น

  • ธุรกิจท่อส่งก๊าซ กลุ่มปตท. และบริษัท SNAM บริษัทพลังงานของประเทศอิตาลี สามารถร่วมมือกัน และขยายธุรกิจท่อส่งก๊าซ ในภูมิภาคเอเชียใต้

  • ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ในอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนถัง LPG จากเหล็กเป็นคาร์บอน ไฟเบอร์ (Carbon fiber) จึงเป็นโอกาสของภาคเอกชนทั้งสองประเทศที่จะพัฒนาสินค้า เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในอนาคต

  • เครื่องอัด (Compressor) ประเทศอิตาลีเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเครื่องอัดก๊าซ (Gas Compressor) และเครื่องอัดอากาศ (Air Compressor) ซึ่งถือเป็นพื้นฐานด้านพลังงานที่สำคัญ สอดคล้องกับปัจจุบันที่มีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีจากก๊าซแรงดันสูง (High pressure Gas) เป็นก๊าซแรงดันต่ำ (Low pressure Gas) ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่ด้านพลังงาน และเป็นโอกาสในการทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต

  • พลังงานชีวภาพ (Bio Energy) เป็นโอกาสของนวัตกรรมแห่งอนาคต เช่น การนำน้ำตาลชีวภาพ (Bio sugar) มาทำพลาสติก (Green plastic) ซึ่งจะสอดรับกับนโยบายของประเทศ และยังเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลกำลังให้การสนับสนุนอีกด้วย

  • โดรน (Drone) กลุ่มปตท. เป็นลูกค้าของบริษัทลีโอนาโด เฮลิคอปเตอร์ (Leonardo Helicopters) ของประเทศอิตาลี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการบิน จึงเป็นโอกาสอันดีในการร่วมมือกันพัฒนา
    โดรนเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ในอนาคต

ในระหว่างการเยือนประเทศอิตาลีในครั้งนี้ สมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยังได้เข้าร่วมการเฉลิมฉลองในโอกาสพิเศษที่ห้างสรรพสินค้าลา รีนาเซนเต มิลาน หนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างประเทศไทย และอิตาลี มีอายุครบ 100 ปี โดยห้างสรรพสินค้าลา รีนาเซนเต ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มห้างสรรพสินค้าระดับลักชัวรีของกลุ่มเซ็นทรัล บริษัทชั้นนำด้านธุรกิจค้าปลีกและการบริการในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2554 ซี่งเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องของห้างสรรพสินค้าลา รีนาเซนเต นอกจากนี้คณะสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยยังได้เข้าชมการประกอบเฮลิคอปเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในโลก และสายการผลิตขั้นสุดท้ายของบริษัท Helicopters Division of Leonardo บริษัทไฮเทคชั้นนำของอิตาลี หนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมอวกาศ ยุทโธปกรณ์ และ อุปกรณ์รักษาความปลอดภัยระดับโลก ซึ่งการประกอบเฮลิคอปเตอร์ทุกลำของบริษัทนี้ จะจัดทำขึ้นตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานจริง เช่น เฮลิคอปเตอร์ทหาร, เฮลิคอปเตอร์พยาบาล, เฮลิคอปเตอร์เพื่อการช่วยเหลือ และเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว เป็นต้น รวมไปถึงคณะนักธุรกิจไทยยังได้เยี่ยมชมงานวิจัยสมรรถภาพ เฮลิคอปเตอร์รุ่นต่างๆ ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน จนถึงอนาคตที่จะพัฒนาเป็นนวัตกรรมขับขี่อัตโนมัติอีกด้วย ท้ายที่สุดคณะสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเดินทางไปเยือนทะเลสาบออร์ต้า (Orta) อันงดงาม พร้อมได้รับการต้อนรับจากบริษัท Pirelli เพื่อพูดคุย และประสานความร่วมมือด้านธุรกิจระบบขนส่งและการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ รวมถึงกิจการด้านอื่นๆ เช่น สาธารณูปโภคพื้นฐาน พลังงาน ยานยนต์ และ สินค้าอุปโภคบริโภค อีกด้วย

การประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม เป็นการประชุมผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสองประเทศ อันจะเป็นการกระตุ้นการค้า และการลงทุนของทั้งประเทศไทยและอิตาลี การประชุม
อิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม จัดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 3 ครั้ง ประกอบด้วย การประชุมในช่วงงานเอ็กซ์โป เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ปี พ.. 2558 และ การประชุมที่เกาะเสม็ด ประเทศไทย ปี พ.. 2559 ซึ่งการประชุมทั้ง 2 ครั้งนี้ถูกจัดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้การประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่มครั้งที่ 3 ถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก พร้อมมีการบันทึกความเข้าใจ (MoU) ร่วมกัน ทั้งนี้การประชุมอิตาเลียนไทย บิสซิเนส ฟอรั่ม ครั้งต่อไป (ครั้งที่ 4) มีกำหนดจัดขึ้นที่ประเทศไทยในปี พ.. 2561