นายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สคช.ร่วมกับคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพกลุ่มสมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล” และ “กลุ่มสมาคมผู้ประกอบ วิชาชีพการถ่ายภาพยนตร์” เปิดตัว “โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและ คุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพศิลปะการแสดงและการบันเทิง สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์” โดยมี อาจารย์เศรษฐา วีระธรรมานนท์ เป็นผู้จัดการโครงการ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มสาขาอาชีพดังกล่าวจัดทำมาตรฐานอาชีพให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ มีความเป็นสากลให้เป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและระดับสากล
ภายในงานจัดให้มีการเสวนาหัวข้อ “ความสำคัญของการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพศิลปะการแสดงและการบันเทิง สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0” ได้รับเกียรติจากจากคุณภควัต สุพรรณขันธ์ นายกกลุ่มสมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล, คุณพิชา ศรีศันสนีย์ นายกกลุ่มสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพการถ่ายภาพยนตร์ ผู้เข้าร่วมเสวนาจากกลุ่มสมาคมวิชาชีพภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล, กลุ่มสมาคมวิชาชีพผู้ประกอบการการถ่ายทำภาพยนตร์, ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการ บุคลากรในกลุ่มอาชีพ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
อาจารย์เศรษฐา วีระธรรมานนท์ ผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า สำหรับ “โครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพศิลปะการแสดงและการบันเทิง สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์” เป็นการกำหนดสมรรถนะของบุคคลตามระดับคุณวุฒิวิชาชีพนี้ใช้ในการรับรองการประกอบอาชีพ ตามความสามารถที่ผ่านการทดสอบ เพื่อให้ผู้ว่าจ้างเกิดความมั่นใจในการจ้างงานตามระดับความสามารถที่กำหนด โดยผู้ประกอบการ และองค์กรวิชาชีพ ในส่วนของสถานประกอบการที่จะรับบุคลากรเข้าทำงานก็จะได้รับความเป็นธรรมในการคัดเลือกบุคคลเข้า ทำงาน เพราะผู้ประกอบอาชีพที่ผ่านการรับรองจากองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการจ้างงาน โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาในการฝึกสอนใหม่ ซึ่งมักเป็นปัญหาของสถานประกอบการที่ได้ฝึกสอนบุคลากรจนมีความสามารถดีแล้ว ก็มักจะออกไปทำงานที่ใหม่ที่ให้อัตราจ้างสูงกว่าทั้งนี้ โดยได้เริ่มดำเนินโครงการฯมาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560 รวมระยะเวลาในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น 18 เดือน โดยการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาวิชาชีพศิลปะการแสดงและการบันเทิง สาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์จะจัดทำทั้งหมด 10 อาชีพ ซึ่งจะแบ่งครอบคลุม 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ กล้อง ไฟ กริ๊ป ริก เสียง
การจัดทำมาตรฐานอาชีพในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มสมาคมวิชาชีพการถ่ายภาพยนตร์ กลุ่มสมาคมผู้ประกอบวิชาชีพภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ผู้ประกอบการ บุคลากรในกลุ่มอาชีพ และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อสร้างความสามารถและยกระดับการแข่งขันให้แก่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรสาขาวิชาภาพยนตร์ ในการผลิตบุคลากรด้านภาพยนตร์ที่มีคุณภาพ ทักษะ และความคิดสร้างสรรค์ เพื่อป้อนสู่ตลาดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์
“นอกจากจะทำให้ผู้ที่ผ่านการประเมิน เป็นที่ยอมรับทั้งภายในประเทศและระดับสากลแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการพัฒนาศักยภาพกําลังคนที่ทำงานอยู่ในสาขาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อีกทั้งช่วยส่งเสริมศักยภาพในการพัฒนาความสามารถ การทํางานด้านต่าง ๆ ในหน้าที่ของตน ตามมาตรฐานอาชีพและวิชาชีพที่กําหนดไว้ และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ระบบคุณวุฒิวิชาชีพของประเทศไทยเป็นที่รับรู้ และยอมรับในระดับนานาชาติต่อไป”นายวีระชัยกล่าว