เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 กสทช.ได้เชิญทีมผลิตเนื้อหาบนเพจเฟซบุ๊กชื่อดัง กว่า 30 เพจ มารับฟังข้อมูลเกี่ยวกับ OTT อาทิ วู้ดดี้ นายวุฒิธร มิลินทจินดา, จอห์น นายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ SpokeDark.TV, กาละแมร์ นางสาวพัชรศรี เบญจมาศ, นายสมเกียรติ จันทร์ดี ตัวแทนทีมเพจอีจัน และนายภาคภูมิ เดชหัสดิน หมอแล็บแพนด้า โดยใช้เวลาประชุมกว่า 2 ชั่วโมง
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2560 ได้เชิญผู้ผลิตคอนเทนต์ในเฟซบุ๊ก 100 อันดับแรกแฟนเพจ มาร่วมประชุมในครั้งนี้ ประมาณ 30 เพจ ที่มียอดคนติดตามเกินล้านราย และล้วนแต่เป็นคนมีชื่อเสียงและมีอิทธิพลต่อคนหมู่มาก เนื่องจาก กสทช.เห็นว่าแฟนเพจที่มีคนติดตามเกินล้านรายจึงเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ด้วย เพราะคอนเทนต์มีผลกระทบในวงกว้าง
โดย กสทช. ต้องการนำความเห็นต่างๆ ของคนกลุ่มนี้ไปประกอบการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเพื่อสร้างมาตรการต่างๆ แม้ว่าเพจที่เข้าข่ายล่อแหลมนั้น กสทช. ก็เชิญมาเหมือนกัน แต่เมื่อไม่มา ก็ต้องอยู่ภายใต้มาตรการที่มีมาตรฐานเดียวกันกับแฟนเพจรายอื่นๆ ซึ่งคาดว่าภายในเดือนนี้จะมีมาตรการออกมาแน่นอน แต่ยังระบุไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง หรือจะออกร่างประกาศใดๆ หรือไม่ เพราะอยู่ระหว่างกระบวนการทำงาน และภายในเดือน ก.ค. หรือ ส.ค. จะมีผลบังคับใช้
อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลแฟนเพจ Facebook เน้นย้ำเรื่องเนื้อหารายการที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงโฆษณาสินค้าที่ผิดกฎหมายบนแพลตฟอร์มโอทีที โดยผู้ดูแลแฟนเพจเหล่านี้มีความยินดีที่จะเข้าสู่ระบบการกำกับดูแลเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับสำนักงาน กสทช.ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ขณะเดียวกันยังให้ความเห็นว่า การสร้างระบบในการกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างกฎกติกาที่มีความเท่าเทียม และมีมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกแฟนเพจในระบบโอทีที ทั้งยังสนับสนุนให้กระบวนการกำกับดูแลรวดเร็วและสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม ผู้ดูแลแฟนเพจ Facebook มองว่า ในปัจจุบันมีกฎกติกาที่ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้วค่อนข้างมาก จึงกังวลเรื่องความซับซ้อนของกฎกติกาที่จะมาปรับใช้กับบริการโอทีที เพราะเกรงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่แฟนเพจต่างๆ
ทั้งนี้การได้รับความร่วมมือจากแพลตฟอรม์โอทีทีจะเป็นหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเนื้อหาและการโฆษณาที่ไม่เหมาะสมอย่างตรงจุด รวมถึงจะทำให้การบังคับใช้กฎระเบียบเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและแก้ปัญหาได้เท่าทันสถานการณ์ ดังนั้น จึงสนับสนุนให้สำนักงาน กสทช. กำกับดูแลแพลตฟอร์มโอทีทีด้วย
‘ยืนยันว่ากระบวนการเข้าสู่ระบบจะไม่ยุ่งยาก ไม่เกิดภาระค่าใช้จ่าย รวมทั้งไม่มีกฎระเบียบเพิ่มเติมเกินความจำเป็น และทุกคนจะดำเนินการต่อไปได้โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด เมื่อคนที่เข้าสู่ระบบจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายของ กสทช. ผมเชื่อว่าทุกคนที่มาเป็นผู้ที่นำเสนอเนื้อหาที่ดีอยู่แล้ว ส่วนเพจเข้าข่ายล่อแหลมหากมียอดคนติดตามเกินล้านก็เข้าข่ายด้วย หากไม่ถึงมันก็มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเอาผิดได้อยู่แล้ว ไม่ถือว่ามีผลกระทบในวงกว้างจึงไม่ต้องเข้าข่ายต้องมาลงทะเบียน ส่วนประเด็นที่ว่าปกติมีการกำกับดูแลกันเองอยู่แล้วมองว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อมีการละเมิดกฎหมาย มันก็ยากที่จะกำกับกันเอง กสทช. จึงต้องเข้ามาดูแล’ พ.อ.นที กล่าว
ด้าน ‘วู้ดดี้’ นายวุฒิธร มิลินทจินดา กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เป็นการพบกันครั้งแรกของตนเองและ กสทช. ยังคงต้องรอทาง กสทช. สรุปหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนก่อน ส่วนตัวไม่ได้เสนออะไร เพราะมาฟังเฉยๆ เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับโลก ที่ทั่วโลกก็ประสบปัญหา ส่วนคำถามที่ว่าทำไมไม่มีการเชิญเพจสีเทามาประชุมด้วยนั้น ตนขอไม่ออกความเห็น และขอให้ดูการทำงานของ กสทช.ต่อไป
ขณะที่ ‘กาละแมร์’ นางสาวพัชรศรี เบญจมาศ กล่าวสั้นๆ ไปในทิศทางเดียวกันว่า ไม่มีอะไรชัดเจน เป็นเพียงการมารับฟังข้อมูลเท่านั้น
ส่วน ‘จอห์น’ นายวิญญู วงศ์สุรวัฒน์ SpokeDark.TV ให้ความเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่บนโลกออนไลน์ควรเป็นเสรี ปกติก็มีการกำกับดูแลกันเองอยู่แล้ว ชอบหรือไม่ชอบเนื้อหาแบบไหน ก็สามารถเลือกได้ พ่อ แม่ หรือ ครู ก็ต้องมีหน้าที่ในการกำกับลูก หลาน เยาวชนของตนเองด้วย ผู้ชมสามารถกดรีพอร์ตแจ้งเจ้าของพื้นที่ได้ ขณะที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ก็มีเนื้อหาที่ครอบคลุมในการเอาผิดผู้กระทำผิดอยู่แล้ว ดังนั้น การมอบอำนาจให้แค่บางหน่วยงาน จึงไม่เหมาะกับพื้นที่ที่เสรีแบบนี้ สิ่งที่เป็นห่วงคือเพจเล็กที่เข้าข่ายที่ล่อแหลม ผิดกฎหมาย เช่น การพนัน ค้ายา มากกว่าที่มีปัญหา ว่าจะมีวิธีจัดการกับพวกเขาอย่างไร แต่การมารับฟังครั้งนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการทำโอทีทีของ กสทช.
ด้านนายสมเกียรติ จันทร์ดี ตัวแทนทีมเพจ ‘อีจัน’ เปิดเผยว่า ยังไม่เข้าใจว่าการที่ กสทช.เรียกมาประชุมวันนี้ต้องการอะไร จะให้รับผิดชอบอะไร เดินไปทางไหน หรือทำอะไรร่วมกับเฟซบุ๊ก แต่ก็พร้อมจะปฏิบัติตามเงื่อนไข ส่วนเพจอีจัน มีจุดยืนของการทำงานเกี่ยวกับข่าวชาวบ้าน และสร้างปรากฏการณ์ พยายามเป็นตัวแทนของกลุ่มที่ไม่ได้รับความยุติธรรมหรือกลุ่มสูญเสีย มีทีมงาน 3-4 คน รวมทั้งตระหนักถึงสิ่งที่นำเสนอไปว่าจะมีผลกลับมาอย่างไร แต่จะไม่ไปสร้างอิทธิพลที่ล่อแหลม พยายามวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใด ส่วนตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการควบคุม แต่ในฐานะนักสื่อสารมวลชนมีความตระหนักถึงการนำเสนออยู่แล้ว ซึ่งจะเห็นได้ว่าเพจอีจันไม่มีถ้อยคำหยาบคาย เพราะเพจให้เกียรติคนทุกคน
ส่วนกระแสสังคมที่เกิดขึ้นในโลกโซเชียล และมีการวิพากษ์วิจารณ์นั้น ตัวแทนเพจอีจัน ระบุว่า ในฐานะคนทำคอนเทนต์ที่ดีต้องรับผิดชอบกับข่าวที่ออกมา แต่ยอมรับว่าไม่สามารถปิดกั้นคนเหล่านี้ได้ เพราะคนที่ทำเพจมีเป็นล้านคนผ่านอุปกรณ์หลายประเภท และเนื้อหามีทั้งที่กลั่นกรองผ่านการตรวจสอบแล้วและดราม่า เหมือนเทคโนโลยีก้าวนำการศึกษาไปไกลเลยทำให้เกิดช่องว่าง
ที่มา : https://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000058108