บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) จัดโครงการอิชิตัน ชาคืนต้น ปี 2 นำทีมพนักงานสร้าง “ห้องสมุดชาคืนต้นจากอีโคบอร์ด” พร้อมระบบอินเตอร์เนตความเร็วสูงส่งมอบโอกาสทางการศึกษาอย่างยั่งยืนให้เด็กนักเรียนลูกหลานเกษตรกรผู้ปลูกชาชาวอาข่า
ห้องสมุดชาคืนต้นสร้างขึ้นจากนวัตกรรมการรีไซเคิลกล่องผลิตภัณฑ์อิชิตันแบบ UHT ซึ่งประกอบด้วยวัสดุ 3 ชนิด ได้แก่ กระดาษ พลาสติก และอลูมิเนียมฟอยด์ เรียงซ้อนกัน 6 ชั้น ระหว่างที่กล่อง UHT ทำหน้าที่บรรจุ วัสดุทั้ง 6 ชั้นจะปกป้องเครื่องดื่มให้คงคุณค่าสารอาหารโดยไม่ต้องใส่สารกันเสีย เมื่อดื่มเครื่องดื่มหมดไป แทนที่จะทิ้งกล่องให้เป็นขยะ อิชิตันนำกล่องดังกล่าวเข้ากระบวนการแยกชิ้นส่วนวัสดุแล้วขึ้นรูปใหม่กลายเป็นวัสดุพื้นผิว “อีโคบอร์ด” มีคุณสมบัติแข็งแรงกว่าไม้ ปราศจากสารฟอร์มัลดีไฮด์ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย กันความชื้น และปลวกได้ 100% ทนต่อสภาพภูมิอากาศมีอายุการใช้งานกว่า20 ปี
“แต่ละปี คนไทยบริโภคผลิตภัณฑ์จากกล่อง UHT กว่า 80,000 ตัน มีเพียง 7.5% ที่นำไปรีไซเคิล อิชิตันนำกล่องผลิตภัณฑ์ไปแยกชิ้นส่วนแล้วขึ้นรูปใหม่กลายเป็นวัสดุพื้นผิวที่มีคุณภาพ การสร้างห้องสมุดจากอีโคบอร์ดครั้งนี้เป็นการแสดงความเชื่อมโยงระหว่างอิชิตัน และชุมชนเกษตรกรชาวเขาที่ปลูกชาให้เรา ใบชาเดินทางจากชุมชนแห่งนี้เข้าสู่โรงงานอิชิตัน กลายเป็นเครื่องดื่มบรรจุในกล่องเพื่อส่งถึงมือผู้บริโภค หลังจากใช้งาน เราทำให้กล่องมีชีวิตและมีคุณค่าอีกครั้ง แล้วนำมาสร้างการพัฒนาให้กับชุมชนต้นน้ำของเราที่นี่” ตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าว
“ห้องสมุดชาคืนต้นจากอีโคบอร์ด” เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของพนักงานอิชิตันที่มีความผูกพันเชื่อมโยงกับชุมชนชาวอาข่าเกษตรกรผู้ปลูกชา ทุกขั้นตอนตั้งแต่การออกแบบ การร่วมพัฒนาแผ่นอีโคบอร์ด การก่อสร้าง จัดหาหนังสือที่เหมาะสม รวมไปถึงการติดตั้งระบบอินเตอร์เน็ต เกิดจากสำนึกการเป็นครอบครัวเดียวกัน และมุ่งหวังการพัฒนาด้านการศึกษาและคุณภาพชีวิตให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนพญาไพรไตรมิตร ซึ่งเป็นลูกหลานเกษตรกรผู้ปลูกชา อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย แหล่งปลูกชาใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ต่อเนื่องจากปีแรกที่ได้พัฒนาสุขอนามัยพื้นฐานด้วยการใช้ระบบดาวเทียมค้นหาแหล่งน้ำใต้ดิน จากนั้นจึงเจาะชั้นหินลึกถึง 80 เมตร ดึงน้ำบาดาลขึ้นมาให้โรงเรียนมีน้ำอุปโภคบริโภคตลอดทั้งปี จากเดิมที่มีน้ำใช้เพียงปีละ 2 เดือนเท่านั้น นอกจากเด็กนักเรียนทุกคนจะมีน้ำใช้น้ำดื่มตลอดปี ยังสามารถเผื่อแผ่ให้ความช่วยเหลือชุมชนกว่า 400 ครัวเรือนให้บรรเทาภาวะการขาดแคลนน้ำได้เช่นกัน
“ก่อนนี้เราต้องประเมินสถานการณ์น้ำวันต่อวัน ถ้าแล้งมากก็ต้องปิดโรงเรียน ในฐานะคนจัดการศึกษาที่ไม่สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำได้ก็รู้สึกเสียใจมาก แต่เราได้รับความช่วยเหลือจากอิชิตันในวันที่เราขาดแคลนมากที่สุด สำหรับปีนี้อิชิตันกลับมาสร้างห้องสมุดให้นักเรียนและชุมชน นำความรู้ทันสมัยจากหนังสือมากมาย และที่สำคัญคือระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่จะทำให้เด็กและชุมชนทั้งหมดมีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมมากขึ้น นำมาใช้เพื่อหาข้อมูลสำหรับพัฒนาชีวิตและอาชีพต่อไป ห้องสมุดชาคืนต้นน่าจะเป็นห้องสมุดที่สวยที่สุดในอำเภอเป็นความภูมิใจของชุมชนชาวอาข่าและจะดึงดูดให้เด็กมาอ่านหนังสือกันมากขึ้น ความช่วยเหลือจากอิชิตันทั้งหมดจึงเป็นการช่วยเหลือที่มีคุณค่าประมาณค่าไม่ได้” ดร.สายสวาท วิชัย ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา เชียงราย เขต 3 ให้ข้อมูล
นางมีนู ลาเชกู เกษตรกรชาวอาข่า เล่าว่า “เมื่อก่อนชาวอาข่าที่นี่ปลูกฝิ่นไปแลกข้าว คนในหมู่บ้านก็สูบฝิ่นทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง พอทำไร่เลื่อนลอยหมดฤดูปลูกก็ต้องเผาเพื่อให้ได้หน้าดินใหม่มาปลูกต่อ แต่ดินก็เสีย ต้องย้ายที่อยู่เรื่อยๆ ลำบากมากรายได้ไม่พอกิน แต่ตอนนี้มาปลูกชาชีวิตดีขึ้นมากแม้ราคาไม่เท่าฝิ่น แต่สบายใจไม่ต้องหลบซ่อน สุขภาพดีขึ้น และทำให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะชาปลูกครั้งเดียว พอต้นชาอายุ 3 ปี ก็เริ่มเก็บขายได้ไปนานหลายสิบปีทุก 15 วัน พอยอดชาแตกใบก็เก็บไปขายได้ใหม่ วันนี้เราไม่ต้องกลัวว่าจะขายไม่ได้เพราะอิชิตันรับซื้อไปทั้งหมด ทำให้คนในหมู่บ้านมีงานทำทุกวัน มีเงินเลี้ยงครอบครัว ลูกๆ มีที่เรียนหนังสือและได้อยู่พร้อมหน้ากันไม่ต้องไปทำงานที่อื่น”
โครงการ อิชิตัน ชาคืนต้น คือพันธสัญญาแห่งการเชื่อมโยงความผูกพันระหว่างธุรกิจ ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง อิชิตันกรุ๊ป ยึดถือในการดำเนินนโยบายการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกชาได้เติบโตอย่างมั่นคงไปพร้อมอิชิตัน
Related