นับถอยหลังดีล Verizon ซื้อ Yahoo มีผล 13 มิ.ย. คาดพนักงาน 2 พันคนต้องถูกลอยแพ

หลังจากตกเป็นข่าวมาพักใหญ่ ในที่สุด เวอไรซอน (Verizon) ได้ข้อตกลงในการเข้าซื้อกิจการ “ยาฮู” (Yahoo) เจ้าของอดีตเว็บท่ายักษ์ใหญ่ ปิดดีล 13 มิถุนายนนี้ คาดว่าจะมีพนักงานไม่น้อยกว่า 2 พันคนต้องถูกลอยแพ

ซีเอ็นเอ็น (CNN) ระบุว่า ผู้ถือหุ้น Yahoo มีมติเห็นชอบกับข้อตกลงใหม่ ในการที่ Verizon เสนอซื้อธุรกิจหลักของ Yahoo ด้วยราคา 4.48 พันล้านเหรียญสหรัฐอีกครั้ง ซึ่งเป็นราคาลดจาก 4.8 พันล้านเหรียญ เนื่องจากมีข่าว Yahoo ถูกแฮก โดยล่าสุดดีลนี้คาดว่าจะปิดได้ในวันอังคารที่ 13 มิถุนายน 2017 ซึ่ง Yahoo และเอโอแอล (AOL) จะร่วมกันตั้งบริษัทใหม่ในฐานะบริษัทลูกของ Verizon ชื่อ ”โอธ” (Oath)

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า Verizon จะเลิกจ้างพนักงานมากกว่า 2,100 คน คิดเป็น 15% ของพนักงานทั้งหมด โดยคาดว่า Verizon จะประกาศอย่างเป็นทางในเร็ววันหลังจากปิดดีล

มาริสสา เมเยอร์ (Marissa Mayer) จะโบกมือลา Yahoo บนเงินตอบแทนมูลค่า 186 ล้านเหรียญสหรัฐ

23 ปีแห่งความหลังของ Yahoo

2537: เดวิด ไฟโล และ เจอรี่ หยาง ก่อตั้ง Yahoo โดยย่อจากชื่อเต็ม Yet Another Hierarchically Organized Oracle เพื่อรวบรวมรายชื่อเว็บไซต์น่าสนใจบนอินเทอร์เน็ตยุคนั้น

2539: Yahoo เข้าตลาดอย่างเป็นทางการ ด้วยมูลค่าตลาด 848 ล้านเหรียญสหรัฐ

2543: Yahoo หุ้นพุ่งสูงสุด 1.25 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ผลจากฟองสบู่ดอทคอม

2545: เทอรี่ ซีเมล ซีอีโอ Yahoo ยุคนั้นเสนอเงิน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐซื้อ Google แต่เจ้าพ่อเสิร์ชบอกปฏิเสธ

2547: ฟอร์เรสเตอร์ รีเสิร์ช พบว่าชาวอเมริกันตอนเหนือ ใช้งานเสิร์ชเอนจินของ Yahoo มากกว่า Google

2548: Yahoo ลงทุน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐใน Alibaba ของจีน โดยถือหุ้น 40% ของบริษัทอีคอมเมิร์ซจีน

2549: Yahoo เปิดตัวโฮมเพจ เวอร์ชันภาษาไทย แต่ปิดบริการแล้วในขณะนี้

2551: Yahoo ปฏิเสธข้อเสนอซื้อกิจการมูลค่า 4.46 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐจาก Microsoft ที่ต้องการสร้างคู่แข่งขึ้นมาชนกับ Google

2554: Yahoo หวังเกาะกระแสวิดีโอออนไลน์ โดยเปิดให้บริการ Yahoo Screen เพื่อเป็นศูนย์รวมคอนเทนต์ของสถานีโทรทัศน์ NBC แต่ไปไม่รอด Yahoo Screen ปิดฉากให้บริการในมกราคม 2559

2555: อดีตผู้บริหาร Google “มาริสสา เมเยอร์” เข้ารับตำแหน่งซีอีโอยาฮูเพื่อกู้วิกฤติรายได้หด โดยเฉพาะจากกลุ่มธุรกิจโฆษณารูปแบบแบนเนอร์ที่เสื่อมความนิยม

2556: ซีอีโอเมเยอร์ซื้อเครือข่ายสังคมอนาคตไกล Tumblr ด้วยมูลค่า 1.1 พันล้านเหรียญ ถือเป็นการตัดสินใจซื้อกิจการครั้งใหญ่ครั้งแรกของเธอเพื่อให้ได้ฐานผู้ใช้กลุ่มวัยรุ่น

2557: ซีอีโอเมเยอร์เปิดให้บริการนิตยสารดิจิตอล 11 หมวด ครอบคลุมเรื่องอาหาร เทคโนโลยี กีฬา และไลฟ์สไตล์ กระทั่งกุมภาพันธ์ 2559 เนื้อหาใน 7 หมวดถูกปิดตัว ได้แก่ หมวดสุขภาพ ครอบครัว อาหาร งานช่าง ท่องเที่ยว ยานยนต์ และอสังหาฯ

2557: Yahoo ซื้อบริษัทวิเคราะห์โมบายแอปพลิเคชันชื่อ Flurry และผู้ให้บริการระบบเล่นวิดีโอแบบตัดสินใจอัตโนมัติ (programmatic) ชื่อ BrightRoll นี่เองที่อาจเป็นบันไดสำคัญที่ทำให้เวอไรซอนสนใจซื้อ Yahoo เพราะทั้ง 2 ส่วนนี้จะช่วยให้ AOL สร้างแพลตฟอร์มโฆษณา programmatic แบบอิงข้อมูลผู้ชม

2558: Yahoo และ Google จับมือเป็นพันธมิตรเพื่อลงโฆษณาและคุณสมบัติการเสิร์ชบนเพจของ Yahoo

2558: Yahoo ปิดสาขาในประเทศจีน

2559: Tumblr จับมือกับแอปพลิเคชันวิดีโออย่าง YouNow, Kanvas และ YouTube เพื่อให้บริการชมสดบนเว็บไซต์ Yahoo วิธีนี้แตกต่างจากสิ่งที่ Facebook, Twitter และ Google เลือกทำ เพราะ Tumblr ยกการทำงานของแต่ละแอปวิดีโอมาไว้บนเพจได้ ทำให้ไม่จำเป็นต้องสร้างแพลตฟอร์มใหม่ขึ้นมาพร้อมใส่เทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างที่ค่ายอื่นทำ


ที่มา : http://manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9600000059528