เอสซีจี ตอกย้ำวิสัยทัศน์การเป็นผู้นำองค์กรนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน เปิดตัว “Open Innovation Center” ศูนย์กลางการเปิดรับความร่วมมือด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม กับภาครัฐ-เอกชน-การศึกษาทั่วโลก หวังเกิดเครือข่ายสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เร็วและดียิ่งกว่า ด้วยความพร้อมด้านทรัพยากรและความทุ่มเทในการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อตอบสนองความต้องการและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้บริโภค พร้อมเพิ่มขีดแข่งขันอุตฯ ไทยสู่อาเซียน
การเปิดตัว “Open Innovation Center” ของเอสซีจี ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญของเหล่านักวิจัย ทั้งผู้ที่เคยมีความร่วมมือกับเอสซีจีอยู่แล้ว หรือผู้ที่มีแนวคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่ออนาคต ตลอดจนผู้ที่ต้องการนวัตกรรมเพื่อใช้ในการพัฒนาหรือแก้ปัญหาของธุรกิจ เพราะเอสซีจีมีทั้งทรัพยากร เครื่องมือปฏิบัติการ ตลอดจนวิธีการทำงานที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และเป็นการทำงานร่วมกันกับผู้เชี่ยวชาญ จึงมีความรวดเร็วกว่าวิธีการทำ R&D ทั่วไปที่พร้อมเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมเป็น Solution Partner ในการพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการผลิต และผลิตภัณฑ์ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมงานแถลงข่าว พร้อมด้วยนายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และ นายชลณัฐ ญาณารณพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และประธานคณะทำงาน SCG Innovation Committee
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิด Open Innovation Center ของเอสซีจี ว่า “การจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน ภายใต้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เป็นที่มาของโมเดลการขับเคลื่อน “ไทยแลนด์ 4.0” เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยมีศักยภาพที่จะสามารถปรับเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูง จากเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพเป็นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และจากยุคของสังคมที่เน้นองค์ความรู้สู่ยุคของสังคมที่เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่ง Open Innovation Center ของเอสซีจีแห่งนี้ สามารถเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนสำคัญจากภาคเอกชน ที่จะช่วยทำให้เป้าหมายดังกล่าวของประเทศเกิดขึ้นได้จริง”
ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “การวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถือเป็นกระบวนการสำคัญในการผลักดันประเทศไทยให้สามารถเข้าสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้จริง จึงถือเป็นความน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับการเปิดตัว Open Innovation Center ของเอสซีจีแห่งนี้ เพราะเป็นการดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ในการร่วมกันต่อยอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม และยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยให้มีความพร้อมเข้าสู่การแข่งขันอย่างทัดเทียมในภูมิภาคอาเซียนต่อไป”
ด้าน นายชลณัฐ ญาณารณพ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และประธานคณะทำงาน SCG Innovation Committee กล่าวว่า ด้วยความรู้ความสามารถของบุคลากรชั้นนำด้านการวิจัยและพัฒนาในเอสซีจีที่มีกว่า 1,800 คน และการให้ความสำคัญกับงาน R&D ดังกล่าวโดยวางแผนทุ่มงบประมาณปีละกว่า 6,000 ล้านบาท ประกอบกับประสบการณ์และความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าจากการดำเนินธุรกิจมาอย่างยาวนาน ทั้งในตลาดประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ทำให้มั่นใจได้ว่า Open Innovation Center ของเอสซีจี มีศักยภาพที่จะสามารถเสริมความแข็งแกร่งของการพัฒนานวัตกรรมให้กับทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจของเอสซีจี รวมไปถึงพาร์ทเนอร์ที่สนใจ เพื่อสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (HVA) ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้นในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น
“R&D ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่เอสซีจี โดยในปี 2559 ที่ผ่านมา เอสซีจีมียอดขายจากกลุ่ม HVA ถึง 1.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 38% ของรายได้จากการขายรวม วันนี้เรายังคงเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง โดยนำความเชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์นวัตกรรมมาพัฒนาเป็น Open Innovation Center ด้วยความมุ่งหวังจะใช้เป็นศูนย์กลางที่เปิดกว้างให้เกิดความร่วมมือด้าน R&D ระหว่างเอสซีจี กับทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ของทั้งไทยและต่างประเทศ เพื่อดึงศักยภาพของแต่ละภาคส่วนมาแลกเปลี่ยนกัน ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับสินค้าและบริการที่สามารถส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้บริโภค” นายชลณัฐ กล่าว
นอกจากนี้ Open Innovation Center ของเอสซีจี ยังเปิดพื้นที่สนับสนุนการทำ R&D อย่างเป็นระบบให้แก่เครือข่ายสตาร์ทอัพจากทั่วโลกที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) ในการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Sci-Tech) เพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรมที่มีศักยภาพสูงกับเอสซีจี ในกลุ่ม Materials, Clean Tech และ Sensor & IoT ก่อนนำไปสู่การต่อยอดธุรกิจร่วมกันในอนาคตอีกด้วย
“เอสซีจี มุ่งหวังให้ Open Innovation Center สร้างประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งการผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมและการสร้างความยั่งยืนให้กับภาคธุรกิจด้วยการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดโอกาสให้ภาคการศึกษาได้มีประสบการณ์ในการทดลองใช้นวัตกรรมต่างๆ กับผู้บริโภคโดยตรง ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจไทยและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่ระดับอาเซียน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐด้วย” นายชลณัฐ กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถเยี่ยมชม Open Innovation Center โดยเอสซีจี ได้ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.30 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือกับเอสซีจีได้ที่อีเมล [email protected] และ โทร. 02-586-6324 หรือ 02-586-1065
เกี่ยวกับ “Open Innovation Center” โดยเอสซีจี
Open Innovation Center ของเอสซีจี ตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 1,600 ตร.ม. ในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ชุมชนที่เป็นศูนย์กลางด้าน R&D ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ซึ่งมีนักวิจัยอยู่รวมกันกว่า 5,000 คน ภายในศูนย์ฯ แบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ได้แก่
- โซนจัดแสดงผลงาน (Exhibition) เพื่อต่อยอดการวิจัยระหว่างนักวิจัยเอสซีจีและพันธมิตร
- โซนห้องสัมมนาและห้องประชุม (Conference) เพื่อใช้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักวิจัย
- ห้องปฏิบัติการ (Laboratory) เพื่อให้ผู้พัฒนาเทคโนโลยีที่อยู่ในความสนใจของเอสซีจีใช้วิจัยและพัฒนา
- โซนออฟฟิศ สำหรับนักวิจัยและทีมประจำศูนย์ของเอสซีจี
ทั้งนี้ Open Innovation Center ของเอสซีจี ได้กำหนดขอบข่าย 60 กลุ่มเทคโนโลยี (Technology Platform) ที่สนใจและพร้อมหาความร่วมมือ ซึ่งสอดคล้องกับ 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ 1.) ธุรกิจซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง 2.) ธุรกิจเคมิคอลส์ และ 3.) ธุรกิจแพคเกจจิ้ง ที่เอสซีจีมีความเชี่ยวชาญ ทั้งองค์ความรู้ ประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อนำพากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการร่วมมือกับเอสซีจี เข้าสู่โปรแกรมการทำ R&D อย่างเป็นระบบร่วมกันและพัฒนาไปเป็นนวัตกรรม ทั้งในรูปแบบของการส่งเสริมประสิทธิภาพกระบวนการผลิต หรือก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ภายใต้จุดมุ่งหมายเพื่อการดำเนินธุรกิจร่วมกันอย่างยั่งยืนต่อไป