ส่องค่าตัวนักกีฬาวอลเลย์บอลหญิง รายได้งามแค่ไหน

ความนิยมและความสำเร็จของกีฬาวอลเลย์บอลหญิงของไทย ทำให้กีฬานี้เป็นอีกหนึ่งประเภทที่มีผู้ติดตามชมในประเทศสูงอีกประเภทหนึ่ง นอกเหนือจากกีฬาฟุตบอล 

แมตช์แข่งขันใหญ่ๆ ระหว่างทีมชาติไทยกับประเทศต่างๆ มักจะเรียกคนดูได้จำนวนมาก โดยเฉพาะบางแมตช์เกิดเหตุการณ์ “สนามแตก” มาแล้ว

วันนี้จะมีการแข่งขันวอลเลย์บอลเวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2017 (FIVB Volleyball World Grand Prix) ในดิวิชั่น 1 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 21-23 กรกฏาคม โดยทีมไทยอยู่ร่วมกลุ่มกับอิตาลี ตุรกี และโดมินิกัน

วอลเลย์บอลเวิลด์กรังด์ปรีซ์ 2017 เป็นการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงระดับโลก จำนวน 32 ทีม เริ่มทำการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม –  6 สิงหาคม พ.ศ. 2560

จะแบ่งเป็นดิวิชั่น 1, 2 และ 3 โดยมีทีมในดิวิชั่น 1 และ 2  ดิวิชั่นละ 12 ทีม และทีมในดิวิชั่น 3 จำนวน 8 ทีม ทุกทีมจะมีการแข่งขันในแต่ละดิวิชั่นเพื่อรักษาสิทธิ์ ทีมที่อยู่อันดับสุดท้ายของแต่ละดิวิชั่นจะตกชั้น และอันดับหนึ่งของดิวิชั่น 2 และ 3 จะขึ้นมาแข่งขันในดิวิชั่น 1 และ 2 ตามลำดับ

ในดิวิชั่น 1 จะแบ่ง 12 ทีม ออกเป็น 9 กลุ่มๆ ละ 4 ทีม แข่งแบบพบกันหมดในแต่ละกลุ่ม แบ่งเป็นการเก็บคะแนนทั้งหมดสามสัปดาห์ นอกจาก 12 ทีมจะต้องแข่งขันกันเพื่อเก็บคะแนนวัดอันดับแล้ว ยังต้องพยายามชิงสิทธิ์ไปแข่งในรอบสุดท้าย 6 ทีม

สำหรับทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย อยู่ในดิวิชั่น 1 เล่นมาแล้วสองสัปดาห์ มีคะแนนเก็บอยู่ในอันดับ 10 จากทั้งหมด 12 ทีม และกำลังจะลงแข่งในสนามสุดท้ายของรอบแรกของดิวิชั่น 1 ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 21-23 กรกฏาคมนี้

ในสัปดาห์ที่แล้ว ในการแข่งขันที่ประเทศญี่ปุ่น ทีมชาติไทยได้สร้างประวัติศาสตร์ในการ “ล้มยักษ์ใหญ่” บราซิล ด้วยการชนะถึง 3 เซตรวด ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ทีมชาติหญิงไทยเอาชนะบราซิลได้

การแข่งขันในสัปดาห์นี้ จะเป็นการสรุปอันดับทั้ง 12 ทีมในกลุ่ม ต้องคอยลุ้นผลงานของนักกีฬาไทยว่าจะได้อันดับที่เท่าไร

ที่ผ่านมานักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงไทย ได้เคยสร้างปรากฏการณ์ต่างๆมากมาย จากการเป็นทีมนอกสายตา ตัวเล็ก จนเริ่มประสบความสำเร็จ จากการได้แชมป์เอเชียครั้งแรกในปี 2552 และปี 2556 ที่ได้แชมป์เอเชียอีกครั้งในประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในอันดับโลกอันดับที่ 14 และยังเคยได้อันดับสูงสุดอันดับ 4  ในเวิลด์กรังด์ปรีซ์ปี 2555 ทำให้ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยมีชื่อเสียงโด่งดังในระดับโลก

นักกีฬาวอลเลย์บอลหญิงหลายคนกลายเป็น”ไอดอล” ซูเปอร์สตาร์ เป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้ามากมาย หลายคนได้เซ็นสัญญาไปเล่นต่างประเทศ ได้ค่าตัวเป็นหลักล้าน กีฬาวอลเลย์บอลกลายเป็นอาชีพให้นักกีฬาสร้างครอบครัวได้อย่างดีมีสุข

ในจำนวนนักกีฬาที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในประเทศ นาทีนี้ คือ “กัปตันหน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว วัย 34 ปี ซึ่งยังเล่นอยู่ในสโมสรบางกอกกลาสในประเทศ ว่ากันว่า กันตันหน่องเป็นนักกีฬาคนเดียวของสโมสรบางกอกกลาส ต้องมีผู้ดูแลส่วนตัวคอยติดตามเวลาไปออกงานหรือการแข่งขัน เพราะมีแฟนคลับมากที่สุดคนหนึ่งจากในจำนวนหกเซียนวอลเลย์บอล

ในขณะที่ นุสรา ต้อมคำ มือเซต และ อรอุมา สิทธิรักษ์ มือตบหัวเสา เล่นอยู่ในลีกต่างชาติที่ตุรกีและญี่ปุ่น

ตามมาด้วย “กิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ เล่นอยู่ทีมสโมสรสุพรีม ชลบุรี และยังมีนับตบรุ่นน้องๆ ที่มีชื่อเสียงตามมาเช่น ทัดดาว นึกแจ้ง หรือ แนน, อัจฉราพร คงยศ หรือ เพียว หรือ ชัชชุอร โมกศรี หรือ บุ๋มบิ๋ม

ปกติค่าตัวนักกีฬาจะมีสองส่วน

  1. ค่าตัวจากการซื้อขายย้ายทีมสโมสร ที่จะต้องมีการตกลงกันว่าจะแบ่งให้สโมสรเท่าไร และนักกีฬาจะได้เท่าไรจากสัดส่วนค่าตัวที่มีการซื้อขายเท่าไร
  2. เงินเดือนที่ได้จากสโมสร
  3. ค่าเบี้ยเลี้ยง เช่นเบี้ยเลี้ยงการเข้าไปเล่นทีมชาติ ที่ออกให้โดยสมาคมวอลเลย์บอล

ทั้งนี้ในส่วนของค่าตัวและเงินเดือน สโมสรจะเป็นผู้จัดการบริหารและตกลงกับนักกีฬา

แต่อัตราเงินเดือน รายได้ของนักกีฬาวอลเลย์บอลเพิ่งมาบูมใน 4-5 ปีนี้เท่านั้น ในระบบนักกีฬาอาชีพ ที่เริ่มมีระบบการซื้อขาย การให้เงินเดือนชัดเจน ก่อนหน้านี้นักกีฬาแต่ละคนต้องปากกัดตีนถีบกันพอสมควร กว่าจะฝ่าฟันขึ้นมามีรายได้งามก็เคยผ่านความลำบากมามากมาย ทีมชาติบางคนมีรายได้เพียงหลักหมื่นต้นๆ ไม่เพียงพอในการเลี้ยงครอบครัว

น.อ.จักรสุวรรณ โตเจริญ เลขาธิการสมาคมกีฬาวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทย บอกว่า ปกติค่าตัวและเงินเดือนจะไม่มีการเปิดเผย เพราะถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ตกลงกันเองของนักกีฬาและสโมสร ส่วนที่สมาคมไปเกี่ยวข้องคือ กรณีนักกีฬาไปเล่นในลีกต่างประเทศ จะต้องผ่านสมาคม โดยสมาคมจะคิดค่า transfer fee เพียงแค่ 2,000 เหรียญสหรัฐ ต่อครั้ง ในการจัดการติดต่อกับสโมสรและรับรองนักกีฬาอย่างถูกต้อง ส่วนค่าตัวและเงินเดือนนั้น ทางสโมสรตกลงกันเองกับนักกีฬา โดยที่นักกีฬาอาจจะได้รับค่าตัวจากการเซ็นสัญญานอกเหนือจากเงินเดือนด้วย

อย่างไรก็ตาม ค่า transfer fee นี้ สมาคมจะชาร์จเฉพาะนักกีฬาที่ไปเล่นในประเทศใหญ่ๆ เช่นยุโรปหรือญี่ปุ่นเท่านั้น สำหรับนักกีฬาที่ไปเล่นในประเทศกลุ่มอาเซียน ทางสมาคมทำให้ฟรี เพราะต้องการสนับสนุนนักกีฬาให้มีประสบการณ์การเล่นในประเทศเพื่อนบ้านให้มากขึ้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักกีฬาและวงการวอลเลย์บอลในบ้านเราเองด้วย

“เท่าที่บอกได้ นักกีฬาทีมชาติระดับชื่อเสียงโด่งดัง เป็น brand ambassadors จะมีรายได้มากกว่า 60,000 บาทต่อเดือน หากเป็นระดับทีมชาติปกติก็มากกว่า 30,000 บาทต่อเดือน ซึ่งค่าตัวจะเพิ่มขึ้นเมื่อติดทีมชาติ และมีผลงานความสามารถที่ดีด้วย แต่นักกีฬาบางคนก็เป็นเด็กปั้นของสโมสรมาก่อน เงินเดือนอาจจะยังไม่สูงมาก” น.อ.จักรสุวรรณ กล่าว