บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบครบวงจร มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวงการอสังหาฯไทย ชี้แนะความปลอดภัยด้านวิศวกรรมโครงสร้างอาคารสูงต้องมั่นคงและแข็งแรงเป็นไปตามมาตรฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตึกสูงในพื้นที่ดินอ่อนของกรุงเทพที่ผลกระทบจากแผ่นดินไหวขยายความรุนแรงมากถึง 3-4เท่า ผนึกสถาบันการศึกษาชั้นนำภาครัฐ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานเอกชนบริษัทผู้ร่วมออกแบบชั้นนำ 8 แห่ง ร่วมจัดทำ “แนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูง” ปูแนวทางผลักดันการสร้างอาคารสูงในประเทศไทยแข็งแรงปลอดภัยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น สอดรับเทรนด์อยู่อาศัยในคอนโดฯตลอดจนอาคารสำนักงานในตึกสูงที่มีแนวโน้มเพิ่มและรูปทรงแปลกมากขึ้น ณ งานเสวนาวิชาการ “แนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูงเพื่อความปลอดภัย ในประเทศไทย 2017”
นายปิติ จารุกำจร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายบริหารโครงการแนวสูง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า“ในฐานะผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แสนสิริ ตระหนักถึงความปลอดภัยของอาคารสูงและสำนักงานในอาคารสูงที่มีเพิ่มขึ้น รวมถึงความปลอดภัยของผู้พักอาศัยในคอนโดมิเนียมที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นโดยเฉพาะในเมือง เนื่องจากไลฟ์สไตล์ใช้ชีวิตที่เร่งรีบและต้องการที่พักอาศัยใกล้รถไฟฟ้าและขนส่งมวลชน จึงได้ร่วมกับนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโครงสร้างอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานเอกชน บริษัทผู้ร่วมออกแบบโครงสร้างชั้นนำของไทยกว่า 8 แห่ง จัดทำแนวทางปฏิบัติฯนี้ขึ้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแนวทางความปลอดภัยที่ได้มาตรฐานสำหรับการสร้างอาคารสูงในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคต ตลอดจนคำนึง การใช้วัสดุที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์“FILL YOUR LIFE WITH GOOD ใช้ชีวิตแต่กับสิ่งดีๆ ที่รวมถึงความปลอดภัยในการอยู่อาศัยที่เราตอกย้ำจุดยืนนี้อยู่เสมอ”
“ในช่วงระยะแรก ได้ผลิตเอกสารจำนวน 200 เล่ม แจกจ่ายให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและสถาบันการศึกษาได้ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป อาทิ มหาวิทยาลัย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรม-ราชูปถัมภ์ (วสท.) บริษัทเอกชนผู้ออกแบบงานโครงสร้าง และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้าง โดยผู้สนใจหรือวิชาชีพที่เกี่ยวข้องสามารถศึกษาและนำเล่มนี้ไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้”
กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีจำนวนตึกสูง (ความสูงมากกว่า 23เมตรหรือจำนวนชั้นมากกว่า 8 ชั้นขึ้นไป) ติดอันดับ 1 ในอาเซียน (ASEAN) อันดับ 4 ในเอเชีย และอันดับ 11 ของโลก (ข้อมูลจาก www.skyscrapper.com) โดยตึกสูงเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในย่าน CBD และกระจายอยู่ตามจุดชุมนุมชน รวมถึงย่านธุรกิจสำคัญต่างๆ โดยแบ่งเป็นที่อยู่อาศัยประมาณ55% และอาคารสำนักงาน 45% ข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร ตามมาตรา 32 ทวิในเขตกรุงเทพมหานคร เผยถึงจำนวนอาคารสูงในปัจจุบัน มีทั้งสิ้นจำนวน 2,810 อาคาร อาคารขนาดใหญ่พิเศษ 539 อาคาร และอาคารชุมนุมชน 294 อาคาร ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เป็นบริเวณที่พื้นที่ดินอ่อนตัว ดังนั้น การทดสอบความแข็งแรงโครงสร้างรากฐานตึกสูงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันอุบัติภัยที่ไม่คาดคิด อาทิ ภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว พายุแรงลมรุนแรง เป็นต้น ทั้งนี้ แผ่นดินไหวจากจังหวัดกาญจนบุรีหรือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมาร์ ที่มีการเกิดแผ่นดินไหวถี่ขึ้นในปัจจุบันมีผลอย่างยิ่งต่อโครงสร้างตึกสูงในกรุงเทพฯ เพราะแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวสามารถเดินทางได้ในระยะไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร ผู้อยู่ตึกสูงในกรุงเทพฯ จึงสามารถรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวในภาคตะวันตกของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีดินอ่อน แรงสั่นสะเทือนนี้จะขยายผลรุนแรงกว่าพื้นที่อื่นถึง 3-4 เท่า
ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เผยว่า “ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต เช่น อาคารถล่มต่างๆ เกิดจากการออกแบบโครงสร้างที่ไม่แข็งแรงและปลอดภัยรัดกุม รวมถึงไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากลในบางข้อ บางส่วนเกิดจากการตีความคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดในการนำหลักการมาใช้ในการปฏิบัติงาน จึงเป็นการเพื่อขยายความเข้าใจในบทหลักการที่จะช่วยให้ส่งเสริมให้การปฎิบัติงานด้านวิศกรรมโครงสร้างอาคารสูงชัดเจนขึ้น ตลอดจนการนำมาใช้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ อาคารที่ถล่มส่วนใหญ่ในปัจจุบัน คือ อาคารที่มีความสูงไม่เกิน 23 ชั้น เพราะไม่ได้มีมาตรฐานในการก่อสร้างที่ชัดเจนจากผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพหรือมีการต่อเติมแก้ไขอาคาร แต่ก็เป็นสิ่งที่ดีที่แสนสิริตระหนักถึงความสำคัญของโครงสร้างอาคารสูงและทาง วสท.เองก็พร้อมที่จะร่วมผลักดันและสนับสนุนให้คู่มือแนวทางการปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูงเป็นมาตรฐานหนึ่งในการออกแบบอาคารสูงของประเทศไทยต่อไปในอนาคต”
รศ.ดร. วิโรจน์ บุญญภิญโญ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักวิจัยแรงลม ระดับแถวหน้าของประเทศไทย เผยภาพรวมของอาคารและตึกสูงในไทยว่า “อาคารสูงในประเทศไทยมีแนวโน้มของจำนวนชั้นสูงขึ้น มีการพัฒนารูปทรงแปลกตาและทันสมัย* (อ้างอิงข้อมูลอาคารสูงจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี หัวข้ออาคารสูงในประเทศไทย) มีผลกระทบของกลุ่มอาคารโดยรอบมากขึ้น ส่งผลให้อาคารต้องมีความระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น วิธีที่สามารถตรวจเช็คความปลอดภัยของโครงสร้างอาคารก่อนสร้างได้ คือ การทดสอบอุโมงค์ลม ซึ่งจะทำให้ได้การคำนวณแรงลมและการตอบสนองของอาคารสูงมีความถูกต้องมากที่สุด ดังนั้น จะได้โครงสร้างอาคารที่แข็งแรง ปลอดภัย แนวปฏิบัติฯเล่มนี้จะช่วยให้การทำงานของวิศวกรผู้ออกแบบทำงานได้เข้าใจขึ้น ลดปัญหาข้อผิดพลาดในการทำงาน ซึ่งสามารถช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายการก่อสร้างบางส่วนได้อีกทางหนึ่ง”
ขณะที่ ผศ. ดร. ฉัตรพันธ์ จินตนาภักดี หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหวและการสั่นสะเทือน ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหวน้อย แต่แผ่นดินไหวสามารถเกิดในประเทศไทยได้จริงดังที่ปรากฏเมื่อปี 2557 โครงสร้างอาคารสูงเป็นเรื่องที่ไม่ควรนิ่งนอนใจโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ดินอ่อน นอกจากนี้อาคารที่สวยงามปัจจุบัน มักจะมีรูปทรงพิเศษซึ่งจำเป็นต้องคำนวณออกแบบอย่างถูกต้อง อาคารที่จะสามารถต้านทานแผ่นดินไหวได้ดีต้องได้รับการออกแบบอย่างถูกวิธี เช่น กำแพงคอนกรีตเสริมเหล็กในอาคารสูง เสาที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ มีการเสริมเหล็กปลอกที่ทำให้คอนกรีต มีความเหนียวไม่ระเบิดออกโดยง่าย หลีกเลี่ยงรูปทรงอาคารที่ไม่ปกติมากๆ เช่น ชั้นหนึ่งชั้นใดอ่อนแอมากกว่าชั้นอื่น หรือไม่สมมาตรจนทำให้อาคารบิดตัวมาก”
รศ.ดร.สุทธิพล วิวัฒนทีปะ ประธานกรรมการ บริษัท อินฟรา กรุ๊ป จำกัด ในฐานะตัวแทนผู้ร่วมออกแบบโครงสร้างกล่าวเสริมในมุมมองของการปฏิบัติงานว่า “ปัจจุบัน ความท้าทายในการพัฒนาอาคารและสำนักงานมีโจทย์ด้านความสวยงามมากขึ้น เช่น รูปทรงอาคารที่มีความแปลกใหม่สะดุดตา วิศวกรผู้ออกแบบต้องมีความเข้าใจและคำนวณหลักความปลอดภัยอย่างรอบด้าน โดยประยุกต์ใช้หลักการกับการทำงานจริงที่สอดคล้องกับยุคสมัย ส่วนใหญ่แล้วยังมีความเข้าใจที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียว เล่มนี้จึงมีความสำคัญในการช่วยให้การทำงานระหว่างผู้พัฒนาโครงการและวิศวกรโครงสร้างมีแนวปฏฺบัติไปในทิศทางที่ยอมรับร่วมกัน
นอกจากนี้ การนำโปรแกรมการออกแบบที่ทันสมัยมาคำนวณใช้ในการออกแบบ เป็นสิ่งที่จำเป็นช่วยให้การประเมินการก่อสร้างอาคารมีความแข็งแกร่ง ปลอดภัยและคงทนได้ยาวนาน”
“หากผู้ประกอบการรายอื่น สถาบันการศึกษา หน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องสนใจ สามารถติดต่อมายังที่ แสนสิริ ทางเรายินดีจัดส่งเล่มนี้ให้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้พัฒนาวงการอสังหาฯ เพิ่มความเชื่อมั่นในด้านโครงสร้างและการยอมรับด้านความปลอดภัยของอาคารสูงไทยในระดับสากลต่อไปในอนาคต”นายปิติ กล่าวสรุป